Diet ลดน้ำหนัก กินยังไงให้ดีต่อการลดโอกาสที่จะเป็นเบาหวานได้

มีภาวะเสี่ยงจะเป็นเบาหวาน ค่าต่างๆบอกว่าเราเป็นกลุ่มก่อนเป็นเบาหวาน Prediabetes ต้องทานยังไงถึงจะหายเป็นปกติได้ ?


Diet ลดน้ำหนัก กินยังไงให้ดีต่อการลดโอกาสที่จะเป็นเบาหวานได้

งานนี้เป็นการศึกษาของ Sevilla-Gonzalez และคณะ (2022) [1] โดยใช้วิธี Metabolomics เข้ามาศึกษาในระหว่างที่เราทำ Diet ด้วยการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิต (Lifesytle interventions, LSI) ก็คือคุมอาหารออกกำลังกายนั่นแหละว่าง่ายๆ โดยเป็นการคุมเพื่อให้เกิดพลังงานติดลบ 500 แคลต่อวัน (Hypocaloric diet)

ศึกษาในกลุ่มคนที่มีภาวะก่อนเป็นเบาหวาน (prediabetes) จำนวน 82 คน เป็น Single arm intervention นะครับ ไม่ได้มีการเปรียบเทียบอะไร แค่ดูผลของการศึกษาในคนกลุ่มนี้เท่านั้น เขาก็ให้เข้าโปรแกรม LSI เป็นระยะเวลา 24 สัปดาห์ ดูว่าจะส่งผลยังไงกับการจะเป็นเบาหวานบ้าง

Sevilla-Gonzalez และคณะ (2022)

สัดส่วนสารอาหารก็เป็น คาร์บ 45% ไขมัน 30% และโปรตีน 15% เป็นสัดส่วนสมดุลย์โดยทั่วไปนะครับ ส่วนการออกกำลังกายเขาก็แนะนำให้ทำที่ Physical Activity ระดับกลางให้ได้อย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ตามคำแนะนำสุขภาพทั่วไปเช่นกัน โดยที่มีเป้าหมายของการลดน้ำหนักอยู่ที่ลดให้ได้อย่างน้อย 3% ในช่วงระยะเวลา 24 สัปดาห์ที่ติดตามผล

จริงๆ อย่างที่เราทราบกันอยู่ว่า ถ้าลดน้ำหนักได้ ภาวะเบาหวานก็ดีขึ้นจนถึงหายได้ อันนี้เขาไม่ได้ศึกษาเพื่อดูว่ากินยังไง ออกกำลังกายยังไงแล้วลดน้ำหนักได้ เขาให้ทำตามวิธีที่เรารู้กันอยู่แล้วนั่นแหละว่ามันทำให้ลดได้ และทำให้ภาวะเบาหวานมันดีขึ้นได้ แล้วศึกษาเพื่อดูในด้าน Metabolomics ว่ามันมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

ผลที่ได้คือ ?

ซึ่งหลังจากผ่านไปครบ 24 สัปดาห์ ค่าเฉลี่ยน้ำหนักที่ลดได้อยู่ที่ 2.46 กิโล +/- 3.48 กลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 47% ลดน้ำหนักได้มากกว่า 3% ผลของ LSI สามารถลดน้ำหนัก ลดรอบเอว ลดไขมัน ลดระดับน้ำตาล fasting น้ำตาลสะสม (HbA1c) และเพิ่มความไวอินซูลินได้ อันนี้ภาพรวม

ผลทั่วไป

ทีนี้เขามาแยกกลุ่มออกไปอีกว่าในคนทั้งหมด มีกี่คนที่ถอยไปสู่ระดับน้ำตาลปกติ (Normoglycemia) ได้ ซึ่งก็มี 27 คนนะครับ คิดเป็นสัดส่วน 30.6% จากทั้งหมด ส่วนคนที่ภาวะที่จะเป็นเบาหวานยังคงเดิมไม่ได้ดีขึ้น มี 55 คนคิดเป็นสัดส่วน 62.5% และมี 6 คน (6.8%) อันนี้มุ่งหน้าสู่เส้นทางเบาหวานครับ ปฎิบัติการ LSI ไม่ได้ผลอะไรกับเขา

พอแยกกลุ่มแล้วก็มาดูว่า เอ๊ะคนที่มีความคืบหน้าทานยังไงบ้าง ก็พบว่าทานพลังงานลดลงเยอะกว่ากลุ่มที่ไม่มีความเปลี่ยนแปลงนะครับ แล้วก็ทานโปรตีนสูงกว่า ไขมันและคาร์บต่ำกว่า ส่วนกลุ่มที่ไม่มีความเปลี่ยนแปลง ทานโปรตีนเยอะขึ้นจริง แต่เยอะขึ้นไม่มาก ทานคาร์บเพิ่มเล็กน้อย ไขมันลดลงนิดหน่อย ภาพรวมพลังงานอาหารลดลงไม่มาก ไม่ค่อยได้ผลอะไร

ภาพรวมผลทั่วไป ของกลุ่มที่ถอยจากการจะเป็นเบาหวานได้ (สีเขียว) และกลุ่มที่ยังถอยไม่ได้ (สีเทา)

โปรตีนที่ทานเพิ่มในกลุ่มที่ถอยจากที่จะเป็นเบาหวานได้ จากที่เคยทานราว 18% ตอนท้ายทานที่ 24% จากพลังงานทั้งหมด ส่วนกลุ่มที่ทรงๆ ไม่ได้ดีหรือแย่ลง ช่วงกลางการศึกษา ทานโปรตีนเพิ่มจาก 18% มาเป็น 20% แต่ว่าตอนท้ายทานโปรตีนอยู่ราว 19% แต่ก็มาจาก 24hr diet recall อาจจะไม่ตรงมากนะครับ

ซึ่งถ้าดูตามนี้ก็ไม่ได้ถือว่าขยับเยอะมากมายอะไรนะครับ ถ้าคิดจากที่ทานเฉลี่ยกลมๆ 2000 แคลต่อวัน จากเดิมทานสัดส่วนโปรตีน 18% ก็คือ 360 แคล หรือโปรตีน 90 กรัมต่อวัน ตกมื้อละ 30 กรัมถ้าทาน 3 มื้อ ก็เป็น 24% ก็คือ 480 แคล หรือโปรตีน 120 กรัมต่อวัน ตกมื้อละ 40 กรัมถ้าทาน 3 มื้อ

ผลในด้าน Metabolomics

ส่วนถ้าดูในด้าน Metabolomics หลังจากปรับค่า HbA1c และน้ำหนักที่ลดไปในขั้นตอนวิเคราะห์ข้อมูล พบว่ามี Metabolites อยู่ 3 ชนิด ที่มีผลทำให้คนกลุ่ม Prediabetes ถอยระดับน้ำตาลไปอยู่ใกล้ระดับ Normoglycemia ได้ นั่นก็คือ N-acetyl-D-galactosamine, putrescine, และ 7-methylguanine

Metabolite ที่สัมพันธ์กับการถอยจากการจะเป็นเบาหวานได้

แต่ไม่ใช่ว่าไปเพิ่มเจ้า 3 อย่างนั้นจะส่งผลดีนะครับ เขาพบว่าระดับ N-acetyl-D-galactosamine ที่ต่ำเนี่ยมีความสัมพันธ์กับโอกาสที่จะถอยไปสู่ Normoglycemia ตรงนี้อาจจะสัมพันธ์กับเรื่องของเส้นทางการอักเสบ (inflammatory pathway)

ส่วน 7-methylguanine ชื่ออาจจะไม่ค่อยคุ้นกัน เจ้านี่เป็น hypoxanthine เป็นสารที่อยู่ในกลุ่มพิวรีนเบส เป็นเมตาบอไลต์ของ DNA methylation อันนี้มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับการถอยไปสู่ Normoglycemia ส่วน putrescine ในระดับต่ำนั้นจะสัมพันธ์กับโอกาสที่จะถอยไปสู่ Normoglycemia ได้สูงขึ้น

ในการศึกษานี้เขาก็พยายามที่จะดูว่ามันมี Metabolite อะไรที่เกี่ยวข้อง มีการเปลี่ยนแปลงบ้างหลังจากที่เราผ่าน LSI ไป ซึ่งก็พบว่ามีเส้นทางของ taurine และ hypotaurine ที่ดูจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง อันนี้สอดคล้องกับ ในงานที่มีการศึกษาในสัตว์ทดลองอยู่นะครับ

แหล่งอาหารในธรรมชาติที่เราจะได้รับ taurine ก็จะเป็นพวกอาหารที่มาจากสัตว์ โดยเฉพาะพวกอาหารทะเล ส่วนพวกที่ไม่ธรรมชาติ ก็มีในกระทิงแดง เครื่องดื่มชูกำลัง ๕๕๕ หยอกๆ (แต่มีจริงๆนะ ๕๕) taurine และ hypotaurine มีผลในการลดระดับน้ำตาลในเลือด ทำให้ภาวะ hyperglycemia ในหนูทดลองดีขึ้น [2]

Raw Salmon and ingredients for meal preparation
Photo by David B Townsend / Unsplash

Metabolic profile ที่พบหลังจาก LSI ที่แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงการทานอาหารจำพวกโปรตีนก็มี C14 carnitine, inosine, myristoleic acid พวกนี้ดูจะเป็นผลจากการทานเนื้อแดงและไขมันสัตว์ลดลง ส่วน cystine, sphinganine, taurine, serotonin พวกนี้มาจากการทานอาหารทะเลและผักมากขึ้น

พวกข้อมูล Metabolite ต่างๆ ก็น่าจะนำไปใช้อ้างอิงในการศึกษาต่างๆต่อไปในอนาคต รวมถึงใช้ยืนยันสิ่งที่เคยพบในอดีตได้ ทั้งนี้ในงานนี้กลุ่มตัวอย่างยังน้อยอยู่นะครับ แล้วก็ยังไม่มีการทดลองทำซ้ำในกลุ่มตัวอย่างอื่น การรายงานผลอาหารที่ทาน ใช้ 24hr recall ซึ่งอาจมีความคลาดเคลื่อนได้อยู่ ทั้งหมดก็อาจจะยังไม่ได้มีผลอะไรชัดเจนมาก แต่ก็เป็นการเริ่มศึกษาที่น่าสนใจ

สรุป

โดยสรุปเขาบอกว่าในกลุ่มนี้ การทานโปรตีนเพิ่มขึ้น ในขณะที่ลดพลังงานอาหารโดยรวมลงดูจะเป็นผลดีต่อการทำให้ภาวะที่กำลังจะพัฒนาไปเป็นเบาหวานดีขึ้น จนกลับเป็นภาวะปกติได้ ถ้าในแง่เราๆ นำไปใช้อะไรได้ ก็คือมันสำคัญที่ทาน Cal deficit แล้วในตอนที่ทำ Cal deficit โปรตีนสำคัญ ลดพลังงานจากคาร์บ และไขมันลง

อ้างอิง

  1. Sevilla-Gonzalez, M., Manning, A. K., Westerman, K. E., Aguilar-Salinas, C. A., Deik, A., & Clish, C. B. (2022). Metabolomic markers of glucose regulation after a lifestyle intervention in prediabetes. BMJ open diabetes research & care, 10(5), e003010. https://doi.org/10.1136/bmjdrc-2022-003010
  2. Haber, C. A., Lam, T. K., Yu, Z., Gupta, N., Goh, T., Bogdanovic, E., Giacca, A., & Fantus, I. G. (2003). N-acetylcysteine and taurine prevent hyperglycemia-induced insulin resistance in vivo: possible role of oxidative stress. American journal of physiology. Endocrinology and metabolism, 285(4), E744–E753. https://doi.org/10.1152/ajpendo.00355.2002

GO TOP

🎉 You've successfully subscribed to Fat Fighting!
OK