การใช้ยา Statin ถูกตั้งคำถามมาเป็นระยะๆ ว่าส่งผลให้เป็นเบาหวานได้รึเปล่านะครับ การศึกษาก่อนหน้านี้ก็มีกันมาหลายงาน ในงานนี้ก็เป็นงานนึงที่ศึกษาความสัมพันธ์ของการใช้ Statin กับความเสี่ยงที่จะเป็นเบาหวาน
งานนี้เป็นการศึกษาของ Rifai และคณะ (2022) [1] ในกลุ่มผู้ป่วยหลอดเลือดแข็งตัว จากข้อมูลของ MESA (Multi-Ethnic Sutdy of Atherosclerosis) โดยในงานนี้เขานำเรื่องของการตรวจหาคราบหินปูนที่หลอดเลือดแดงของหัวใจ (Coronary Artery Calcium, CAC) รวมถึงมีการนำเอาตัวแปรที่เป็นความเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวาน พฤติกรรม ไลฟ์สไตล์ ต่างๆ มาวิเคราะห์ผลด้วย

ทั้งนี้ต้องย้อนไปก่อนว่ามันมีการศึกษาก่อนหน้านี้ ที่พบว่าในกลุ่มผู้ป่วยที่ใช้ Statin นั้นเกิดเป็นเบาหวานมากกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ใช้ Statin ในงานนี้เขาจึงนำข้อมูลมาศึกษา และเพิ่มการ adjust ข้อมูลเอา CAC และเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องมาวิเคราะห์ด้วย โดยเขาตั้งสมมติฐานไว้ว่า เมื่อมีการ adjust ตัวแปรต่างๆเหล่านี้ แล้วความเสี่ยงมันน่าจะลดลง และ CAC สัมพันธ์กับความเสี่ยงที่มากขึ้น
ศึกษายังไง ?
รูปแบบการศึกษาก็เป็น Prospective cohort study ข้อมูลกลุ่มตัวอย่าง 6,814 คน อายุระหว่าง 45-84 ปี ข้อมูลการใช้ Statin ก็จะมีเรื่องของความถี่และ Dose ที่ใช้ หลังจากเริ่มใช้ Statin ก็จะเป็นการติดตามผลดูว่าเกิดเป็นเบาหวานจำนวนกี่คน ส่วนเกณฑ์การเกิดโรคของเบาหวานก็เป็นเกณฑ์ทั่วไปนะครับ ดูจาก Fasting glucose มีการตรวจ CAC ความดัน ค่าเลือดต่างๆ
สิ่งที่เขาจะนำมา adjust ออกจากข้อมูลความเสี่ยง ก็จะมีพวก อายุ เพศ เชื้อชาติ รายได้ ระดับการศึกษา ประกันสุขภาพ รอบเอว พฤติกรรมการกิน กิจกรรมทางกาย ค่า LDL-C การเป็นโรคความดันสูง ค่าความดัน การสูบบุหรี่ ดื่มเหล่า ค่า C-reactive protein (CRP) การใช้แอพไพริน การใช้ Statin จากตอนแรก 6,814 คน ตัดคนที่เป็นเบาหวานมาก่อนแล้วออกไป 871 คน
ผลที่ได้คือ ?
ผลที่ได้ ก็เหลือกลุ่มตัวอย่าง 5,943 คน อายุเฉลี่ย 62 ปี เป็นผู้หญิง 54% เทียบระหว่างกลุ่มใช้ Statin กับไม่ใช้ กลุ่มที่ใช้ จะอายุ , BMI และรอบเอวมากกว่า มีคนที่เป็นความดันโลหิตสูงเยอะกว่า และก็มี CAC > 0 มากกว่า มีค่า LCL-C และ CRP น้อยกว่า มีกิจกรรมทางกายมากกว่า ทั้งหมดนี้มีนัยสำคัญทางสถิติ
สิ่งที่น่าสนใจเริ่มต้นที่ ถ้าเราดูความสัมพันธ์ต่อความเสี่ยงที่เกิดเบาหวานในขั้นแรก กลุ่มที่ใช้ Statin เกิดเบาหวานในอัตรา 9.3 ต่อพันคน ในขณะที่กลุ่มไม่ได้ใช้ Statin อัตรา 6.1 ต่อพันคน ข้อมูลแบบนี้ บางคนดูเฉพาะตรงนี้แล้วสรุปว่า Statin ทำให้เกิดเบาหวาน

แต่เมื่อนำข้อมูลมา Adjust เอาสิ่งที่เป็นปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่นค่า CAC มาปรับดูความเสี่ยง ก็พบว่าค่าความเสี่ยงในกลุ่มที่ใช้ Statin ที่ตัดเอาปัจจัยอื่นๆออก ลดลงหลายค่า บางค่าลดลงมาก รวมถึงบางค่ามีนัยสำคัญทางสถิติที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเขาก็สรุปว่าการรักษาด้วย Statin นั้นไม่ได้มีนัยสำคัญทางสถิติที่สัมพันธ์กับการเกิดเบาหวาน หลังจากนำปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ มาปรับข้อมูล

อย่างไรก็ตามต้องบอกก่อนว่า ข้อมูลนี้เป็นข้อมูลที่จำกัดเฉพาะในกลุ่มตัวอย่างกลุ่มนี้เท่านั้น และขนาดของกลุ่มตัวอย่างก็มีจำนวนน้อย โดยเฉพาะเมื่อนำมาวิเคราะห์เป็นกลุ่มย่อยๆ แยกตามปัจจัยเสี่ยงก็น้อยลงไปอีก และที่สำคัญเป็นการศึกษาแบบ Observational study ดังนั้น สิ่งที่ได้ไม่ได้เป็นกลไกว่าทำให้เป็นหรือไม่เป็นนะครับ แต่บอกได้แค่ว่ามีความเสี่ยงที่จะพบการเกิดโรค มากน้อยแค่ไหน
สรุป
ทั้งนี้การใช้หรือไม่ใช้ยายังไง ก็ให้ปรึกษาแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่ดูแลการรักษาอยู่นะครับ ในบางอาการ บางข้อบ่งชี้จำเป็นต้องใช้ยาก็ควรใช้ และไม่ว่าจะใช้หรือไม่ใช้ การดูแลโภชนาการให้เหมาะสม ออกกำลังกายให้เพียงพอ พักผ่อนให้เพียงพอ สามเสาหลักนี้ยังไงก็ต้องไม่ลืมนะครับ
อ้างอิง
- Al Rifai M, Szklo M, Patel J, Blaha MJ, Ballantyne CM, Bittner V, Morris P, McEvoy JW, Shapiro MD, Al-Mallah MH, Greenland P, Virani SS. Statin Use and Risk of Diabetes by Subclinical Atherosclerosis Burden (from a Multi-Ethnic Study of Atherosclerosis Report). Am J Cardiol. 2022 Dec 1;184:7-13. doi: 10.1016/j.amjcard.2022.08.040. Epub 2022 Oct 1. PMID: 36192199.