การจำกัดเวลาทาน (Time Restriction Eating, TRE) ก็เป็นวิธีนึงที่ถูกนำมาใช้ในด้านสุขภาพ ควบคุมน้ำหนัก ลดน้ำหนัก อันนี้ก็คงทราบกันดีอยู่แล้ว แต่ว่ามันมีผลยังไงต่อเรื่องของความดันโลหิต (Blood pressure) บ้าง นี่คือคำถามของงานชิ้นนี้ครับ
เป็นงานของ Want และคณะ (2022) [1] เขาศึกษาผลของการทานแบบจำกัดเวลา TRE ว่า มีผลยังไงต่อความดันโลหิตอย่างที่บอก ศึกษาเป็น Systematic Review และ Meta-analysis (Meta-regression analysis ด้วย) โดยค้นข้อมูลจากฐานข้อมูลงานวิจัยหลายๆที่ยอดนิยม ทั้ง PubMed, Embase, Cochrane และ Web of Science

ศึกษาในคนกลุ่มไหน ? ศึกษายังไง ?
เกณฑ์ที่ดูก็คือเป็นงานที่ทำในผู้ใหญ่ที่มีภาวะ Metabolic diseases ทั้งหลาย จำกัดเวลาทานตั้งแต่ 4-12 ชั่วโมง และมีกลุ่มที่ไม่ได้จำกัดเวลาทาน หรือทานปกติเป็นกลุ่มเปรียบเทียบ ผลของงานมีเรื่องของความดันโลหิต รายงานไว้ หลักๆจะเลือกงาน RCT แต่ถ้ามีพวกงาน Observational เขาก็อาจจะนำมาพิจารณาด้วย
ผลที่ได้คือ ?
ก็ได้ข้อมูลมา 10 งานที่เข้าเกณฑ์ ก็ค่อนข้างน้อยกว่าที่คิดแฮะ รวมข้อมูลมาได้จากผู้ป่วย 694 คน ผลเนี่ยก็พบว่า TRE ส่งผลให้ความดันตัวบน (Systolic blood pressure) ลดลงได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่ความดันตัวล่าง (Diastolic blood pressure) นั้นก็ลดลงบ้างนะครับ แต่ไม่ได้มีนัยสำคัญทางสถิติ ส่วนชีพจรไม่มีผลอะไร

TRE ในงานที่เขานำมาศึกษา มีผลต่อการลดน้ำหนัก ลดระดับน้ำตาลในเลือด อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่ผลต่อครอเลสเตอรอล HDL-C, LDL-C หรือไตรกลีเซอไรด์ พวกนี้ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อดูในรายละเอียดพบว่าการเปลี่ยนแปลงของความดันตัวบน สัมพันธ์กับน้ำหนักที่ลดลงไปได้

สรุป
ก็สรุปว่า การทานแบบจำกัดเวลา (TRE) หรือทำ IF ระยะเวลาต่างๆนั้น ลดความดันตัวบนได้ แต่ไม่ค่อยมีผลอะไรกับความดันตัวล่าง โดยสาเหตุที่น่าจะเป็นผลให้ความดันลดลงได้ ก็น่าจะเป็นเรื่องของน้ำหนักตัวที่ลดลงได้นั้นเอง ก็อาจจะแปลได้ว่าถ้าทำ IF แล้วน้ำหนักไม่ลด ก็ไม่น่าจะได้ผลดีต่อความดันนะครับ ส่วนผลต่อชีพจร หรือระดับไขมันต่างๆ ไม่มีความชัดเจน
อ้างอิง
- Wang, W., Wei, R., Pan, Q. et al. Beneficial effect of time-restricted eating on blood pressure: a systematic meta-analysis and meta-regression analysis. Nutr Metab (Lond) 19, 77 (2022). https://doi.org/10.1186/s12986-022-00711-2