ทำ IF เสี่ยงต่อการเกิดพฤติกรรมการกินผิดปกติ (Eating disorder)

การทำ IF ค่อนข้างได้รับความนิยมในกลุ่มคนลดน้ำหนัก จากข้อมูลในงานนี้พบว่าการทำ IF มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่จะเกิดพฤติกรรมการกินผิดปกติ หรือ Eating disorder ในวัยรุ่นได้


ทำ IF เสี่ยงต่อการเกิดพฤติกรรมการกินผิดปกติ (Eating disorder)

การอดอาหารเป็นระยะๆ (Intermittent fasting) เป็นแนวทางที่ได้รับความนิยมค่อนข้างมาก ในกลุ่มที่สนใจเกี่ยวกับการลดความอ้วน การคุมน้ำหนัก ส่วนนึงอาจจะเพราะว่าเป็นวิธีการที่ทำได้ไม่ยาก แต่ก็มีหลายข้อมูลที่พบว่า มีความสัมพันธ์กันระหว่างการทำ IF กับ Eating disorder งานนี้เป็นอีกงานที่ศึกษาเรื่องดังกล่าว งานนี้เป็นการศึกษาของ Ganson และคณะ (2022) [1]

Ganson และคณะ (2022)

นอกจากเรื่องของพฤติกรรมการกินผิดปกติ (Eating disorder behavior) แล้ว เขาก็ศึกษาผลในเรื่องของจิตพยาธิวิทยา (Psychopathology) ซึ่งเป็นการศึกษาว่าด้วยเรื่องของพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางจิตใจ ว่าสัมพันธ์กับการทำ IF ยังไงด้วยนะครับ เป็นการศึกษาที่ทำในแคนาดานะครับ ในไทยไม่รู้ว่ามีมั้ย แต่เอาของเมืองนอกมาแชร์ดีกว่า จะได้ไม่ทัวร์ลงมากนัก เดี๋ยวนี้รูปแบบการกิน และวิธีลดน้ำหนัก มันกลายเป็นลัทธิ เป็นศาสนาไปแล้ว แตะต้องแทบไม่ได้ 55

ศึกษาในคนกลุ่มไหน ?

เขาศึกษาจากข้อมูลพฤติกรรมสุขภาพวัยรุ่นแคนาดา ซึ่งมีข้อมูลของวัยรุ่นจำนวน 2,762 คน ที่รับสมัครมาจากการลงโฆษณาในสื่อสังคมออนไลน์ยอดนิยมสองอย่างคือ InstagrAm และ Snapchat โดยจำกัดเฉพาะชาวแคนาดา รับทั้งชายและหญิง รวมถึงกลุ่มข้ามเพศ และไม่ระบุเพศ (Transgender/gender non-conforming, TGNC) ด้วย อายุระหว่าง 16-30 ปี คนที่มาตอบแบบสอบถามเพื่อร่วมงานวิจัย จะมีโอกาสลุ้นรับบัตร gift card starbuck มูลค่า 25 เหรียญ หรือ iPad เป็นการตอบแทน และเพื่อป้องกัน bot หรือการตอบมั่วๆ เขาก็มีการกำหนดเกณฑ์ไว้กันเรื่องพวกนี้ไว้ด้วยวิธีต่างๆ ด้วยเหมือนกัน

ศึกษายังไง ?

ในคำถามที่เกี่ยวกับการทำ IF ก็จะมีถามว่าในช่วง 1 เดือน หรือ 1 ปีที่ผ่านมา มีการรูปแบบการทำ IF รูปแบบใดบ้าง เช่น 5:2 ADF 16/8 ทำต่อเนื่องนานมากน้อยแค่ไหน ส่วนคำถามที่เกี่ยวกับพฤติกรรมการกินผิดปกติและจิตพยาธิวิทยา ก็จะมีคำถามตามรูปแบบ Eating Disorder Examination Questionnaire (EDE-Q) ซึ่งเป็นแบบประเมินมาตรฐาน มีคำถามเกี่ยวกับการยับยั้งชั่งใจในการกิน ความกังวลในการทาน ความกังวลในด้านน้ำหนัก รูปร่าง และพฤติกรรมการกินผิดปกติต่างๆ

นอกจากนั้นก็จะเป็นคำถามเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ตอบทั่วๆไป อายุ เพศ ระดับการศึกษา เชื้อชาติ สัญชาติ น้ำหนักที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วงที่ผ่านมา มุมมองต่อตัวเอง อะไรพวกนี้นะครับ เมื่อได้ข้อมูลทั้งหมด เขาก็นำมาวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติ

ผลที่ได้คือ ?

ผลที่ได้ก็คือจากทั้งหมด 2,762 คน เป็นผู้หญิง 53.5% อายุเฉลี่ย 23 ปี ผู้ชาย 38.4% อายุเฉลี่ย 22.8 ปี ที่เหลือ TGNC 8.1% อายุเฉลี่ย 21.8 ปี ส่วนใหญ่ประมาณ 48% คิดว่าน้ำหนักตัวตอนนี้โอเคแล้ว ที่เหลืออันดับถัดมาคิดว่าน้ำหนักเยอะเกินไปนิดหน่อย ที่น่าสนใจคือในกลุ่มที่มองว่าตัวเองน้ำหนักตัวโอเคแล้ว ยังมีผู้หญิง 57.2% กลุ่ม TGNC 47.5% ที่คิดว่าน้ำหนักตัวโอเคแล้ว แต่ก็ยังหาทางที่จะลดน้ำหนักอยู่ ส่วนในกลุ่มชายที่คิดว่าตัวเองน้ำหนักตัวโอเคแล้ว ก็มี 44.3% ที่หาทางเพิ่มน้ำหนักตัวอยู่

ผู้หญิง 57.2% ที่คิดว่าน้ำหนักตัวโอเคแล้ว แต่ก็ยังหาทางที่จะลดน้ำหนักอยู่

สำหรับความถี่การทำ IF นั้นในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ผู้หญิง 47.7% ชาย 38.4% และ TGNC 52% ทำ IF ในช่วงปีที่ผ่านมา แต่ถ้าดูในช่วงเดือนที่ผ่านมาตัวเลขลดลงพอสมควร เหลือหญิง 24.6% ชาย 17.8% และ TGNC 24.1% แปลว่าในช่วงที่สำรวจคนที่พึ่งทำ IF หมาดๆ มีน้อยกว่ากลุ่มที่เคยทำในช่วงปีที่ผ่านมา แต่ว่าจะลดลงจากอะไร ได้น้ำหนักที่พอใจแล้ว หรือทำแล้วไม่สำเร็จ เลิกทำแม่งเลย อะไรแบบนี้มันตอบไม่ได้นะครับ และรูปแบบการทำ IF ที่ทำมากที่สุดคือทำแบบจำกัดเวลา (ทานน้อยกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน)

Eating disorder

เรื่อง Eating disorder กันบ้าง ถ้าดูในเรื่อง Overeating นี่ชายและ TGNC มีพฤติกรรม Overeating ในขณะที่หญิงมี 63% แต่ถ้าเป็นการควบคุมพฤติกรรมการกินไม่ได้ และ binge eating ผู้หญิงและ TGNC มีมากกว่าผู้ชาย ส่วนการอาเจียนหรือทานยาถ่ายนั้นกลุ่ม TGNC มีสูงสุด และพฤติกรรมการบังคับให้ตัวเองออกกำลังกาย อันนี้มีใน ชาย หญิง และ TGNC ใกล้เคียงกัน เป็นสัดส่วนครึ่งนึงของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด

ความสัมพันธ์ต่อความเสี่ยงการมีพฤติกรรมการกินผิดปกติ ค่ามากกว่า 1 ยิ่งเพิ่มความเสี่ยง

ส่วนความสัมพันธ์ระหว่าง การทำ IF และพฤติกรรมการทานผิดปกตินั้น พบว่าในเพศหญิง การทำ IF ในช่วงเดือนและปีที่ผ่านมา มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงต่อพฤติกรรมการทานผิดปกติทุกรูปแบบ ส่วนในเพศชายคนที่เคยทำ IF ในช่วงปีที่ผ่านมา มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงต่อพฤติกรรมการบังคับตัวเองให้ออกกำลังกาย การอดอาหาร และการทำ IF ในช่วงเดือนที่ผ่านมาสัมพันธ์กับความเสี่ยงพฤติกรรมอาเจียน อันนี้ในผู้ชาย ส่วนกลุ่ม TGNC นั้น IF สัมพันธ์กับความเสี่ยงต่อพฤติกรรมการอดอาหาร อย่างเดียว อันนี้เฉพาะส่วนที่มีนัยสำคัญทางสถิติเท่านั้นนะครับ

ความสัมพันธ์ต่อความเสี่ยงการมีพฤติกรรมการกินผิดปกติ ค่ามากกว่า 1 ยิ่งเพิ่มความเสี่ยง

ทั้งนี้ก็ต้องบอกไว้ก่อนว่าการศึกษาแบบนี้เป็นการศึกษาเพื่อดูความสัมพันธ์ต่อความเสี่ยงเท่านั้นนะครับ ธรรมชาติของ Cross-sectional study ไม่ได้บอกว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสาเหตุ และเป็นผลต่อกัน แต่ว่าพบว่ามีความสัมพันธ์ต่อกัน ว่าง่ายๆ ในผู้หญิงคนที่ทำ IF มีพฤติกรรมการทานผิดปกติเกิดขึ้นเยอะกว่า แต่ไม่ใช่ว่าทำแล้วเป็นทุกคน แค่เป็นเยอะกว่าพวกที่ไม่ได้ทำ IF เช่นกัน พวกที่ไม่ได้ทำแต่เป็น ก็น่าจะมีอยู่บ้างเช่นกัน

รวมถึงการเก็บข้อมูล เป็นการใช้วิธีตอบแบบสอบถาม ให้ผู้ตอบตอบเอง ดังนั้นก็อาจจะมีความคลาดเคลื่อน หรือเกิดอคติในการให้ข้อมูลเกิดขึ้นได้มากกว่า การใช้การวัดผลโดยตรงด้วยวิธีอื่น เช่นนำคนมากำหนดให้ทำหรือไม่ทำ แล้วควบคุมปัจจัย ดูตัวแปรต้นตัวแปรตามตรงๆ แต่ก็พอให้เห็นภาพบางอย่างที่น่าสนใจได้อยู่นะครับ

สรุป

จากข้อมูลนี้ จะพบว่าในกลุ่มวัยรุ่นนั้น การทำ IF มีความสัมพันธ์ต่อความเสี่ยงการมีพฤติกรรมการทานอาหารผิดปกติอยู่นะครับ แต่ไม่ได้หมายถึงว่าทำ IF แล้วจะทำให้เป็นนะครับ บางคนก็อาจจะเป็นอยู่แล้ว จากเหตุต่างๆ และมองว่าการทำ IF เป็นเครื่องมือในการคุมอาหารหรือคุมน้ำหนัก แล้วลองทำดูก็ได้ ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ การทำ IF อาจจะไม่ได้เหมาะกับเราก็ได้

ทั้งนี้เราอาจจะลองดูตัวเอง บุตรหลาน ว่ามีพฤติกรรมการทานที่ผิดปกติมั้ย ถ้ามีก็ค่อยๆหาคนปรึกษา หาทางปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เปลี่ยนมุมมอง เปลี่ยนความคิด ดูนะครับ รายละเอียดว่าต้องทำยังไงนี่มันเยอะ และต้องดูกันเป็นรายคน ปัญหาของแต่ละคนมีที่มาที่แตกต่างกัน ขอเป็นกำลังใจให้นะครับ

อ้างอิง

  1. Ganson, K. T., Cuccolo, K., Hallward, L., & Nagata, J. M. (2022). Intermittent fasting: Describing engagement and associations with eating disorder behaviors and psychopathology among Canadian adolescents and young adults. Eating behaviors, 47, 101681. https://doi.org/10.1016/j.eatbeh.2022.101681

GO TOP

🎉 You've successfully subscribed to Fat Fighting!
OK