การออกกำลังกาย ส่งผลยังไงต่อความดันโลหิตในสตรีมีครรภ์

การออกกำลังกาย ส่งผลยังไงต่อความดันโลหิต ในคนท้องบ้าง บ้างก็ว่าการออกกำลังกายดีมีประโยชน์ บ้างก็ว่าต้องระวัง ?


การออกกำลังกาย ส่งผลยังไงต่อความดันโลหิตในสตรีมีครรภ์

การออกกำลังกายปกติเนี่ยก็จะทราบกันดีอยู่นะครับ ว่าส่งผลดีต่อความดันโลหิต แต่ว่าในกลุ่มสตรีมีครรภ์เนี่ย ในงานนี้เขาบอกว่ามันมีประเด็นที่ยังไม่ชัดเจน มีความขัดแย้งกันในข้อมูลว่าออกแล้วดี หรือควรระวังไม่ควรออก

ในงานนี้เป็นการศึกษาของ Zhu และคณะ (2022) [1] เขาเลยพยายามที่จะหาคำตอบ โดยทำการศึกษาแบบ Meta-analysis จากงานวิจัยต่างๆ ที่เคยทำกันมาก่อนหน้านี้แบบ RCT ที่ดูผลของการออกกำลังกาย ในกลุ่มสตรีมีครรภ์ ต่อผลในเรื่องของความดันโลหิต

Zhu และคณะ (2022)

ศึกษาในคนกลุ่มไหน ?

ซึ่งก็ได้ข้อมูลจากงานที่เข้าเกณฑ์ที่ตั้งไว้มา 18 งาน มี 7 งานทำในกลุ่มคนท้องที่สุขภาพดี และ 10 งานทำในกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงต่อภาวะความดันโลหิตสูงในสตรีตั้งครรภ์ (Pregnancy Induced Hypertension) ซึ่งก็มีกลุ่มที่น้ำหนักเกิน มีภาวะอ้วน หรือมีความดันโลหิตสูงเรื้อรัง หรือมีประวัติครอบครัวเสี่ยง และ 1 งานที่ทำในทั้งสองกลุ่ม

ผลที่ได้คือ ?

เมื่อได้งานที่เข้าเกณฑ์มาแล้ว เขาก็ทำการวิเคราะห์ข้อมูลตามแบบการศึกษา Meta-analysis นะครับ ผลก็คือ การออกกำลังกายนั้น ส่งผลให้ความดันตัวบน (Systolic pressure) ลดลง 3.19mmHg และความดันตัวล่าง (Diastolic blood pressure) ลดลง 2.14mmHg เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม

ผลต่อความดันตัวบน

ซึ่งการออกกำลังกายที่เขาให้ทำกันในงานที่นำมาศึกษา ก็ไม่ได้โลดโผลอะไรมากนะครับ หลักๆแบ่งได้ออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกคือ เดินระดับกลางๆ ไม่ได้เร็วมาก ไม่ได้ช้ามาก หรือถ้าวิ่งก็เป็นจ๊อกกิ้ง กลุ่มที่สอง ก็คือปั่นจักรยาน และกลุ่มที่สาม ออกกำลังกายตามคำแนะนำของ สมาคมสูตินรีแพทย์ของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งส่วนใหญ่จะทำตามข้อสามนี้

โดยการออกกำลังกายตามคำแนะนำดังกล่าว ก็จะประกอบไปด้วย 4 ส่วน คืออบอุ่นร่างกายแป๊บนึง ไม่กี่นาที จากนั้นก็ทำกิจกรรมแอโรบิค แล้วก็ฝึกกล้ามเนื้อ ด้วยการออกกำลังกายแบบใช้แรงต้าน ทั้งร่างกายช่วงบน และล่าง ข้อต่อต่างๆ และกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน (pelvic floor muscle) แล้วก็จบด้วยการยืดเหยียด และผ่อนคลาย

ผลต่อความดันตัวล่าง

มีงานนึงที่ออกกำลังกายในน้ำด้วย ซึ่งวัตถุประสงค์ของการออกกำลังกายในน้ำ ก็เพื่อลดแรงกระแทก ข้อจำกัดในงานนี้ ก็มีอยู่บ้างตามปกตินะครับ หลักๆก็คือเขาไม่ได้ศึกษาเรื่องของโภชนาการ ซึ่งโภชนาการก็มีผลอย่างมากต่อเรื่องของความดันโลหิต สองก็คืองานเกินครึ่งทำในกลุ่มคนที่ อ้วน น้ำหนักเกิน หรือมีความเสี่ยงเป็นเบาหวาน ก็อาจจะไม่ครอบคลุมกลุ่มอื่น

สรุป

โดยรวมในข้อมูลที่เขาศึกษา ก็พบว่าการออกกำลังกายนั้นส่งผลดีต่อความดันโลหิต ทั้งตัวบนและตัวล่าง ในกลุ่มสตรีมีครรภ์นะครับ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูงในขณะตั้งครรภ์

ทั้งนี้ก็อยากจะแนะนำว่า การออกกำลังกายนั้นมีผลดี แต่ยังไงถ้าสะดวก ก็อยากให้อยู่ภายใต้การดูแลของผู้ฝึกสอน ที่ผ่านการศึกษา หรืออบรมเกี่ยวกับการฝึกสอนออกกำลังกายในกลุ่มสตรีมีครรภ์ มีความรู้ความเข้าใจข้อจำกัด สิ่งที่ทำได้ ที่ควรเลี่ยง เพื่อความปลอดภัยนะครับ

อ้างอิง

  1. Zhu, Z., Xie, H., Liu, S. et al. Effects of physical exercise on blood pressure during pregnancy. BMC Public Health 22, 1733 (2022). https://doi.org/10.1186/s12889-022-14074-z

GO TOP

🎉 You've successfully subscribed to Fat Fighting!
OK