ผลของการออกกำลังกายต่อภาวะซึมเศร้า

การออกกำลังกายส่งผลดีต่อภาวะซึมเศร้านะครับ ถ้าเป็นไปได้ก็ลองออกกำลังกายกันดู เผื่อจะดีขึ้นตามข้อมูลที่เขาวิจัยพบมา


ผลของการออกกำลังกายต่อภาวะซึมเศร้า

การศึกษาแบบ Systematic Review และ Network meta-analysis จากงานวิจัยแบบ RCT จำนวน 218 ชิ้น มีกลุ่มตัวอย่าง 14,170 โดยเปรียบเทียบผลของการออกกำลังกายรูปแบบต่างๆ กับวิธีรักษาภาวะซึมเศร้าแบบอื่นๆนะครับ [1]

การออกกำลังกายที่เขานำมาศึกษาก็มีหลายชนิด เช่น การเดินหรือวิ่ง โยคะ การฝึกความแข็งแรง และวิธีแบบอื่นๆก็มีหลายอย่าง เช่น จิตบำบัดพฤติกรรมทางปัญญา (cognitive behavioural therapy) ยาต้านเศร้า (SSRI)

ผลคือ

ผลการศึกษาเขาก็พบว่า การออกกำลังกายรูปแบบต่างๆ นั้นมีประสิทธิภาพในการรักษาภาวะซึมเศร้า โดยเฉพาะการเดินหรือวิ่ง โยคะ และการฝึกความแข็งแรง โดยการออกกำลังกายที่มีความเข้มข้นสูง มีประสิทธิภาพมากกว่า จริงๆนอกจากการออกกำลังกาย ในงานนี้และอีกหลายงานพูดถึงการเต้น ก็พบว่าการเต้นส่งผลดีต่อภาวะซึมเศร้า[2] ด้วยเหมือนกันนะครับ

ทั้งนี้ผลลัพธ์ของการศึกษาเนี่ย ก็อาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น ประเภทของภาวะซึมเศร้า ความรุนแรงของอาการ สุขภาพโดยรวม และรูปแบบการใช้ชีวิต และถึงแม้ข้อมูลจะบอกว่ามันทำให้ดีขึ้นได้ แต่อาจจะไม่ใช่ว่ามันรักษาให้หายได้ เพราะบางงานเขาก็จะดูไปที่พวกข้อบ่งชี้จากการประเมินด้วยวิธีต่างๆ

ภาวะซึมเศร้า หรือโรคซึมเศร้านั้นสาเหตุมาจากหลายปัจจัยที่ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน เดิมทีมีแนวคิดว่ามันเกิดจากความไม่สมดุลย์ของสารเคมีในสมอง โดยเฉพาะเซโรโทนิน แต่ในการศึกษาภายหลังก็เกิดการตั้งคำถามขึ้นมา ว่าซึมเศร้าเกิดจากเซโรโทนินจริงๆรึเปล่า เพราะว่าหลักฐานยืนยันเรื่องเซโรโทนินมันไม่ได้มีหลักฐานเชิงประจักษ์ [3]

สรุป

การออกกำลังกายส่งผลดีต่อภาวะซึมเศร้าได้ แต่สุดท้ายแม้ข้อมูลจากการศึกษาจะบอกว่าการออกกำลังกายนั้นส่งผลดีต่อภาวะซึมเศร้า แต่สิ่งที่สำคัญมากๆ ก็คือมันจะส่งผลดีได้ต้องเกิดการปฎิบัติ เราจะพาตัวเรา หรือคนที่เราเป็นห่วง ไปออกกำลังกายได้รึเปล่า จะชวนเขา หรือแม้แต่จะเข็นตัวเราออกไปเริ่มออกกำลังกายยังไงดี ก็เป็นอีกเรื่องที่มีความสำคัญ

อ้างอิง

  1. Noetel, M., Sanders, T., Gallardo-Gómez, D., Taylor, P., del Pozo Cruz, B., van den Hoek, D., Smith, J. J., Mahoney, J., Spathis, J., Moresi, M., Pagano, R., Pagano, L., Vasconcellos, R., Arnott, H., Varley, B., Parker, P., Biddle, S., & Lonsdale, C. (2024, February 14). Effect of exercise for depression: systematic review and network meta-analysis of randomised controlled trials. BMJ, e075847. https://doi.org/10.1136/bmj-2023-075847
  2. พงศ์พันธ์ บัวเพ็ชร. (2022, June 14). ไม่ชอบเล่นกีฬา ไม่ชอบออกกำลังกาย เต้นเพื่อสุขภาพกันดีกว่า. Fat Fighting. https://www.fatfighting.net/article-2022-06-14-the-physiological-and-psychological-benefits-of-dance-and-its-effects-on-children-and-adolescents/
  3. พงศ์พันธ์ บัวเพ็ชร. (2022, July 24). เซโรโทนิน ไม่ได้เป็นสาเหตุของโรคซึมเศร้า ? Fat Fighting. https://www.fatfighting.net/article-2022-07-24-the-serotonin-theory-of-depression-review-of-the-evidence/

GO TOP

🎉 You've successfully subscribed to Fat Fighting!
OK