การออกกำลังกายในผู้ป่วยภูมิแพ้ตัวเอง

การออกกำลังกายนั้นส่งผลอย่างไรบ้าง ต่อผู้ป่วยภูมิแพ้ตัวเอง ควรหรือไม่ควรไปออกกำลังกาย ?


การออกกำลังกายในผู้ป่วยภูมิแพ้ตัวเอง

การออกกำลังกายเป็นสิ่งหนึ่งนะครับ ที่มีผลต่อต้านการอักเสบ (Anti-inflammatory) ซึ่งก็มีแนวคิดว่าการออกกำลังกายนั้นอาจช่วยบรรเทาอาการของโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง หรือโรคภูมิแพ้ตัวเองได้ (Autoimmune diseases) วันนี้ขอนำข้อมูลจากงานวิจัยของ Luo และคณะ (2024) [1] มาแชร์กัน โดยเขาศึกษาจากงานวิจัยหลายๆงานที่เกี่ยวข้องในช่วงที่ผ่านมา

โรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเองเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายโจมตีเซลล์และเนื้อเยื่อปกติ โดยที่การอักเสบเรื้อรัง (Inflammatory) เป็นกลไกสำคัญในโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเองหลายชนิด อย่างที่บอกข้างต้นไปแล้วว่า การออกกำลังกายนั้นมีฤทธิ์ต้านการอักเสบที่เกิดขึ้นภายในร่างกายได้ และเขาพบว่าการศึกษาบางชิ้นชี้ให้เห็นว่าการออกกำลังกายสามารถลดการอักเสบและบรรเทาอาการของโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเองได้ด้วย

การศึกษาของเขาทำเป็น Systematic Review ศึกษาจากงานต่างๆย้อนหลังไป 20 ปี จะเห็นว่างานนี้ไม่มีคำว่า Meta-Analysis ซึ่งก็ไม่แปลกเพราะว่าจริงๆแล้ว ผู้วิจัยจะเลือกทำอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้งสองอย่างก็ได้ แม้เราจะพบว่า Systematic Review มักจะมี Meta-Analysis แต่ก็ไม่ได้จำเป็นว่าจะต้องทำด้วยเสมอไปนะครับ

หลังจากเขาไปค้นฐานข้อมูลงานวิจัยมา เขาก็ได้ข้อมูลจาก 14,565 งานวิจัยเมื่อคัดตามเกณฑ์แล้วก็เหลือ 87 งาน จัดทำกระจายกันไป 25 ประเทศทั่วโลก มีจำนวนกลุ่มตัวอย่าง 2,779 คน โดยที่ทั้งหมดเป็นผู้ป่วยโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเองทั้งหมด ทั้งในกลุ่มออกกำลังกายและกลุ่มควบคุม ผลที่พบเนี่ย ในตัวชี้วัดการอักเสบอย่าง C-reactive protein (CRP), interleukin 6 (IL-6) และ tumor necrosis factor α (TNF-α) ลดลงในกลุ่มที่ออกกำลังกายสม่ำเสมอ แล้วก็พบว่าการออกกำลังกายถ้าทำแบบผสมผสานนั้นได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า

ในตัวผู้ป่วยเองนั้น ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ตัวเอง ส่วนใหญ่สามารถออกกำลังกายระดับเบาถึงปานกลางได้อย่างปลอดภัย อาจมรการเปลี่ยนแปลงของตัวชี้วัดการอักเสบ (Inflammation biomarkers) ได้... แต่ก็เปลี่ยนน้อยมาก และการออกกำลังกายอาจช่วยบรรเทาอาการแทรกซ้อนของโรคภูมิแพ้ตัวเองได้

ทั้งนี้จากการศึกษาการออกกำลังกายทั้งแบบเฉียบพลัน (Acute exercise) และออกเป็นประจำ (Regular exercise) พบว่าส่งผลต่อตัวชี้วัดการอักเสบในผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ตัวเองแตกต่างกันไปในแต่ละคนแต่ละสถานการณ์ ผลของการออกกำลังกายต่อการอักเสบนั้นขึ้นอยู่กับชนิดและความรุนแรงของโรคภูมิแพ้ตัวเองที่แตกต่างกัน

ในแง่ของการต้านการอักเสบ แนะนำให้ออกกำลังกายหลายรูปแบบผสมผสานกันไป ทำให้เป็นประจำ โดยเฉพาะการออกกำลังกายแบบแอโรบิก (Aerobic exercise) และเวทเทรนนิ่ง (Resistance training) แล้วก็ปรับตารางการฝึก รูปแบบ ความหนัก ระยะเวลา ให้เหมาะกับผู้ป่วยแต่ละคน

การออกกำลังกายแค่ระยะสั้นๆเพื่อดูผลฉับพลัน(Acute effects)ไม่ค่อยได้ผลอะไรนัก หรืออาจส่งเสริมการอักเสบเป็นระยะเวลาสั้นๆ นอกจากนี้ เมื่อดูผลฉับพลันหลังการออกกำลังกายแบบหนักถึงหนักมากพบว่ามีการเพิ่มขึ้นของค่าตัวชี้วัดการอักเสบอีกด้วย

สรุป

หลักฐานที่มีอยู่ในงานวิจัยที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นว่าการออกกำลังกายอาจเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการลดการอักเสบและบรรเทาอาการของโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง จำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อยืนยันผลลัพธ์เหล่านี้และเพื่อพัฒนากลไกการออกกำลังกายที่มีประสิทธิภาพสำหรับผู้ป่วยโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง

อ้างอิง

  1. Weibei Luo, Dao Xiang, Xiaorong Ji, Xuan Chen, Rui Li, Shuxin Zhang, Yujun Meng, David C. Nieman, Peijie Chen, The anti-inflammatory effects of exercise on autoimmune diseases: A twenty-year systematic review,
    Journal of Sport and Health Science, 2024, ISSN 2095-2546, https://doi.org/10.1016/j.jshs.2024.02.002.

GO TOP

🎉 You've successfully subscribed to Fat Fighting!
OK