การป้องกันพฤติกรรมการกินผิดปกติ

ภาวะการกินผิดปกติ หรือ Eating disorders นั้นเป็นสิ่งที่พบเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบัน สาเหตุส่วนนึงมาจากการเสพสื่อ ที่ให้ความรู้ด้านโภชนาการ และการออกกำลังกายที่ไม่ถูกต้อง


การป้องกันพฤติกรรมการกินผิดปกติ

วันนี้ขอเอาเรื่องของการป้องกันพฤติกรรมการกินผิดปกติ (Eating Disorders, ED) ในกลุ่มนักกีฬาเยาวชน (Adolescent Athletes) มาแชร์กันนะครับ เห็นว่างานนี้น่าสนใจดี เป็นการศึกษานำร่อง (Pilot study) หลังจากนี้ก็คงมีการศึกษากันต่อไปอีก [1]

อาจเป็นรูปภาพของ ข้อความ

ที่มาที่ไปเนี่ยเขากล่าวถึงการศึกษาในช่วงกว่า 30 ปีที่ผ่านมา การศึกษาในนักกีฬาระดับ Elite อายุ 16 ปีขึ้นไป พบว่ามีพฤติกรรมการกินผิดปกติมากกว่าที่พบในคนทั่วไป 2-3 เท่าเลย ส่วนในกลุ่มนักกีฬาเยาวชนอายุต่ำกว่า 16 ปีเนี่ย มีการศึกษาจำนวนจำกัด แต่ก็พบว่ามีจำนวนไม่น้อยที่กังวลเกี่ยวกับน้ำหนักตัวและรูปร่างค่อนข้างมาก

อะไรคือสาเหตุ ?

การที่เด็กต้องเริ่มฝึกและแข่งขันกีฬาเพื่อความเป็นเลิศตั้งแต่อายุยังน้อย ก็มีส่วนกระตุ้นให้เกิดอาการ ED เมื่อพวกเขาโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ ปัจจัยที่ส่งผลต่อการที่เด็กๆเหล่านี้ ไม่รู้สึกพอใจกับร่างกายของตัวเอง อาจเกิดจากแรงกดดันภายนอก จากการที่เห็นนักกีฬารุ่นพี่ (เช่นอาจกดดันว่าต้องมีรูปร่างให้ได้แบบนั้น) หรือความกังวลที่ต้องสวมใส่เครื่องแต่งกายที่เผยให้เห็นเรือนร่าง หรืออาจจะเป็นความกังวลที่เกิดจากเรื่องนอกเหนือจากการแข่งขัน เช่นการใช้ Social Media

ซึ่งเด็กในวัยนี้ปกติก็มักจะมีการนำตัวเองเปรียบเทียบกับผู้อื่น และเริ่มซึมซับความงามตามอุดมคติของสังคมเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว พอต้องเจอกับรูปร่างในอุดมคติที่หลากหลายทั้งรูปร่างที่จะทำให้ได้ Performance ในการกีฬา ทั้งรูปร่างที่คนรอบข้างในวัยเดียวกันมองว่าดูดี อะไรพวกเหล่านี้ก็กลายเป็นเรื่องที่ท้าทายมากขึ้น เช่น เด็กผู้หญิงที่ดูมีความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ก็อาจจะรู้สึกว่าตัวเองแตกต่างจากเด็กผู้หญิงในวัยเดียวกัน ที่มีรูปร่างแตกต่างกัน

บางท่านอาจจะรู้สึกว่า เฮ้ย ไม่หรอก ชั้นไม่เห็นเป็น ชั้นสตรอง แต่แกรรร แกไม่ใช่คนเดียวในโลก มึงไม่แคร์ไม่ใช่คนอื่นไม่แคร์ด้วยแกร ที่พิมพ์มาข้างต้นก็มีการศึกษากันมาด้วยวิธีต่างๆ มันมีคนที่เขามีปัญหาแบบนั้นจริงๆแกร แกรสตรอง แกปิดไปเลยไม่ต้องอ่านต่อ แล้วถ้าอยากรู้ว่าเขาศึกษากันยังไง ตามไปอ่านในอ้างอิงแต่ละงานในต้นฉบับเด้อสู้

ยิ่งในยุค Social Media นี่วัยรุ่นใช้งานกันเยอะ แม้ว่าอาจจะไม่ใช่ Platform ที่ผู้ใหญ่นิยมกัน แต่ยังไงพวกเขาก็มี Platform ที่คนในวัยเขานิยมกันอยู่ดี แล้วไหนจะเรื่องภาพลักษณ์เรื่องมาตรฐานความสวยความหล่อ ที่เกิดขึ้นจากสื่อต่างๆ "มาตรฐานความงาม" เหล่านั้นก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อนักกีฬาเยาวชนเช่นกัน (จริงๆตัดคำว่านักกีฬาไปยังได้ ส่งผลต่อเยาวชนกลุ่มอื่นๆด้วย) หรือแม้แต่การพยายามที่จะลดน้ำหนักด้วยวิธีต่างๆ เช่น การทำ IF ส่งผลต่อการมีพฤติกรรมการกินผิดปกติ ก็มีความเป็นไปได้ที่จะมีส่วนเกี่ยวข้องที่จะทำให้เกิด Eating disorder [2]

แล้วจะป้องกันยังไง ?

สิ่งที่อาจจะช่วยได้ก็คือการให้ความรู้เรื่องการรู้ทันสื่อ และการยอมรับรูปร่างของตัวเอง ซึ่งมันมีโครงการ Body Project ซึ่งเป็นงานของ Stice , Shaw และคณะในปี 2018 [3] เป็นการใช้แนวทางทฤษฎีการขัดแย้งทางความคิด (Cognitive dissonance theory) มาจัดโปรแกรม จัดทำเป็น workshop เพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรม มีความสามารถในการป้องกันความคิดเรื่องรูปร่างในอุดมคติ ป้องกันการเกิดความรู้สึกไม่พึงพอใจในรูปร่างของตนเอง ซึ่งตอนแรกนั้นเขาทำโปรแกรมนี้เพื่อใช้กับนักกีฬาหญิง

ผลในงานนั้นเขาก็บอกว่ามันประสบความสำเร็จนะ แต่... มันยังมีการทดลองซ้ำ(ในทางวิทยาศาสตร์ ถ้าจะบอกว่ามันได้ผลจริงๆ มันต้องทำซ้ำๆ แล้วยังได้ผลเหมือนเดิมอยู่) รวมถึงยังไม่ได้ศึกษาในคนกลุ่มอื่นๆ นั่นแหละครับ ก็เป็นที่มาของการศึกษาในครั้งนี้ ซึ่งทำในกลุ่มนักกีฬาเยาวชน ทั้งชายและหญิง

วิธีการป้องกันปัญหา(ในงานนี้)

เอาละทีนี้มาที่ประเด็นที่น่าสนใจว่าแล้วเขาทำอะไรยังไงบ้าง เพื่อป้องกัน ED ในกลุ่มตัวอย่าง วิธีที่เขาทำก็คือให้ความรู้ทั้งการอบรม และอบรมเชิงปฏิบัติการนะครับ โดยการอบรมครั้งแรก จะเป็นการอบรมให้ความรู้เรื่อง Sport Nutrition ความต้องการพลังงานในกีฬาต่างๆ , พัฒนาการของร่างกาย และประสิทธิภาพทางกาย , ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น เมื่อได้รับพลังงานไม่เพียงพอ (RED-S) และมีกิจกรรมให้ทำโพล

เส้นเวลาของการศึกษาโครงการนี้

ครั้งที่สองอบรมให้ความรู้ เรื่องการรู้เท่าทันสื่อ (Media literacy) , กลไกของ Social media , การแต่งรูป (retouching) , การวิเคราะห์ ประเมิน ตรวจสอบข้อมูล (Source criticism) และกิจกรรม Body talk (ซึ่งตัวนี้ผมคิดว่าการบำบัดรูปแบบนึง ใช้แนวคิดการเชื่อมโยงร่างกาย จิตใจ และอารมณ์เข้าด้วยกัน โดยการสัมผัสและพูดคุยเพื่อปลดปล่อยความเครียด ผ่อนคลายอารมณ์ และส่งเสริมการรักตัวเอง) แล้วก็มีกิจกรรมให้ทำ

จากนั้นครั้งที่สาม เป็นการทำ Workshop ในหัวข้อรูปร่างในอุดมคติ ในมุมทั่วๆไป และในมุมของกีฬาแต่ละประเภท ว่ามันเป็นยังไง มีที่มาจากไหน แล้วมันมีประโยชน์อะไรในการยึดติดกับรูปร่างอย่างที่ว่า และมีผลเสียยังไงกับการยึดติดรูปร่างแบบที่ว่า แล้วก็มีงานให้ทำ

ครั้งที่ 4 เป็น Workshop หัวข้อ เราจะทำให้ไอ้แนวคิดรูปร่างเชิงอุดมคติที่ว่า ทั้งอุดมคติโดยทั่วไป หรือในทางกีฬาต่างๆ ว่าต้องรูปร่างแบบนี้ถึงจะสมบูรณ์แบบ เพอร์เฟ็ก มันลดลงได้ยังไง เราจะเลิกหมกมุ่นกับมันได้ยังไง เช่นเคย เขาก็จะมีกิจกรรม มีงานให้ทำ

ครั้งที่ 5 เป็น Workshop อีกครั้ง คราวนี้เขาก็ต่อจาก Workshop ครั้งที่แล้ว แต่งานที่ให้ทำก็จะมีเปลี่ยนไป และครั้งที่ 6 เป็น Workshop ครั้งที่ 4 เป็นการเข้าอบรมครั้งสุดท้ายแล้ว หัวข้อก็จะเป็นเรื่อง ให้เปรียบเทียบ ระหว่างเรื่องชีวิตทั่วๆไป กับเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการกีฬา อันนี้ผมไม่แน่ใจว่าเปรียบเทียบในเรื่องอะไรบ้างนะครับ เขาไม่ได้กล่าวถึงละเอียด

อาจเป็นรูปภาพของ ข้อความ
รูปแบบและกิจกรรมต่างๆ

ผลจากการศึกษาครั้งนี้

การอบรมและทำ Workshop แต่ละครั้งใช้เวลา 60 นาทีการประเมินผลเขาก็ใช้วิธีประเมินด้วยแบบสอบถามก่อนและหลังเข้าร่วมการอบรมครบทุกครั้งแล้ว แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนที่เข้าร่วมเข้าอบรมครบทุกครั้งอ่ะนะครับ ส่วนการประเมินโปรแกรม ผลตอบรับว่าโอเค ดีจุงเบยมีราว 40% หน่อยๆ แล้วโปรแกรมนี้ทำให้เด็กๆเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับตัวเองได้ราว 40% แต่ถ้าดูแยกเพศ เด็กผู้หญิงจะตอบรับมากกว่าผู้ชาย

ที่เหลือเขาก็จะเป็นการอภิปรายประเมินการอบรมของโปรแกรมที่เขาทำขึ้นนะครับ ซึ่งคร่าวๆดูมีผลดี แต่ยังไม่ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงถาวรหลังจากติดตามผลหลังจากนั้นอีก 6 เดือน ที่น่าสนใจก็คือเด็กผู้หญิงตอบรับดีกว่าเด็กผู้ชาย เนื้อหาการอบรมที่มันอบรมและทำกิจกรรมซ้ำๆ หรือคล้ายๆกัน เด็กผู้ชายมองว่าน่าเบื่อ เด็กผู้หญิงมองว่ามันมีประโยชน์

ก็เป็นการศึกษาที่มีเกี่ยวข้องกับทั้งในแง่ของ จิตวิทยา การกีฬา ปัญหาทางความรู้ความเข้าใจด้านโภชนาการ จริงๆในบ้านเรา เท่าที่ผมเองได้ดูในกลุ่มสังคมออนไลน์ ของผู้รักการออกกำลังกาย และพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง ก็พบว่ามีผู้ที่มีปัญหาพฤติกรรมการกินผิดปกติ บางท่านมีปัญหาที่ลงลึกไปยิ่งกว่านั้น ทั้งการตัดสินอาหาร แบ่งแยกอาหารดีอาหารเลว มีพฤติกรรมทำโทษตัวเอง ฯลฯ

ก็นำมาแชร์คร่าวๆไว้เท่านี้นะครับ ใครสนใจในรายละเอียดทั้งของงานนี้ และงานของ Stice และ Shaw ก็ไปดูในรายละเอียดของแต่ละงานได้ หวังว่าจะมีประโยชน์นะครับ

อ้างอิง

  1. Sundgot‐Borgen, C., Wisting, L., Sundgot‐Borgen, J., Steenbuch, K., Skrede, J. V., Nilsen, K., Stice, E., & Mathisen, T. F. (2024, January 18). The “Young Athlete Body Project”—A pilot study evaluating the acceptability of and results from an eating disorder prevention program for adolescent athletes. International Journal of Eating Disorders. https://doi.org/10.1002/eat.24140
  2. บัวเพ็ชร, พงศ์พันธ์. (2022, December 23). ทำ IF เสี่ยงต่อการเกิดพฤติกรรมการกินผิดปกติ (Eating disorder). Fat Fighting. https://www.fatfighting.net/article-2022-11-28-intermittent-fasting-describing-engagement-and-associations-with-eating-disorder-behaviors-and-psychopathology/
  3. Stice E, Shaw H, Becker CB, Rohde P. Dissonance-based Interventions for the prevention of eating disorders: using persuasion principles to promote health. Prev Sci. 2008 Jun;9(2):114-28. doi: 10.1007/s11121-008-0093-x. Epub 2008 May 28. PMID: 18506621; PMCID: http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/pmc2577371/

GO TOP

🎉 You've successfully subscribed to Fat Fighting!
OK