การออกกำลังกาย, มะเร็ง กับระบบหัวใจและหลอดเลือด

ผลของการออกกำลังกาย และผลจากมะเร็งต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด การศึกษาชิ้นนี้นำกลไกต่างๆที่อาจเกิดขึ้นในร่างกายเรา มาอธิบายให้เห็นว่าการออกกำลังกายอาจส่งผลดีต่อการรักษามะเร็งได้ยังไง


การออกกำลังกาย, มะเร็ง กับระบบหัวใจและหลอดเลือด

ก่อนอื่นออกตัวก่อนนะครับ ว่านี่ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์ พอดีวันนี้อ่านบทความของ Wernhart และ Rassaf (2024) ในเรื่องการออกกำลังกาย กับมะเร็งมาก็อยากนำมาแชร์ เผื่อมีท่านไหนสนใจไปอ่านเพิ่มเติมกันนะครับ [1] ก่อนหน้านี้ก็เคยนำเสนอบทความนึงไปแล้วว่า การออกกำลังกายส่งผลดีต่อการป้องกันมะเร็งได้ยังไงนะครับ [2]

Wernhart และ Rassaf (2024)

โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับต้นๆ โรคนึงอ่ะนะครับ มีการศึกษาผลของการออกกำลังกายรูปแบบต่างๆ ต่อการรักษามะเร็ง คือไม่ใช่ว่าออกกำลังกายเพื่อรักษาอ่ะนะครับ แต่เพื่อลดผลข้างเคียงจากการรักษาด้วยวิธีต่างๆ แต่ก็ยังไม่มีแนวทางจำเพาะว่ามะเร็งชนิดนี้ๆ ควรออกยังไง (อ้างอิงเท่าที่เขาเขียนบอกไว้นะ)

ทำไมเขาถึงคิดว่าการออกกำลังกายน่าจะส่งผลสนับสนุนการรักษามะเร็งได้ เพราะว่าในผู้ป่วยโรคมะเร็งนั้นจะมีการส่งออกซิเจนที่ลดลง ซึ่งนำไปสู่อาการต่างๆ และอย่างที่ทราบกันอยู่แล้วว่า การออกกำลังกายส่งผลต่อการส่งออกซิเจน ดังนั้นการออกกำลังกายอาจช่วยปรับปรุงการส่งออกซิเจนและบรรเทาอาการได้

ผลที่เกิดขึ้นจากมะเร็ง

เขาอธิบายไว้ว่าเซลล์ต้นกำเนิดมะเร็ง (Cencer stem cell) และเซลล์มะเร็งทั่วไป จะมีความต่างกันอยู่บ้าง ตามที่เห็นในตารางนี้ ซึ่งก็จะมีเรื่องของจำนวนไมโตคอนเดรีย, การเผาผลาญ, PGC1a, Mitophagy, อนุมูลอิสระ (ROS) พวกนี้อาจส่งผลต่อพฤติกรรมของเซลล์ เช่น การเจริญเติบโต การแพร่กระจาย และการดื้อยา

ผลของเซลล์มะเร็ง

กลไกของการออกกำลังกายต่อร่างกายเรา

ซึ่งการออกกำลังกายเองนั้นก็มีกลไกที่เกิดขึ้นกับเซลล์กล้ามเนื้อ สามารถกระตุ้นโมเลกุลในเซลล์กล้ามเนื้อได้ การออกกำลังกายกระตุ้นการสังเคราะห์โปรตีน ช่วยให้กล้ามเนื้อเติบโต ซ่อมแซมกล้ามเนื้อ เพิ่มการเผาผลาญ เพิ่มการสังเคราะห์ไมโตคอนเดรีย เพิ่มการกำจัดโปรตีนที่เสียหาย (Autophagy) อะไรเหล่านี้น่าจะมีที่ส่งผลดีต่อร่างกายในกระบวนการรักษาผู้ป่วยมะเร็งได้อยู่บ้าง

กลไกเหล่านี้ช่วยให้กล้ามเนื้อเติบโต ซ่อมแซมตัวเอง และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น กลไกเหล่านี้ยังช่วยปกป้องเซลล์กล้ามเนื้อโครงร่างจากความเสียหาย เป็นประโยชน์ที่จะได้รับจากการออกกำลังกายในระดับเซลล์ ระดับโมเลกุลเลย

และนอกจากเรื่องของหัวใจแล้ว การออกกำลังกายยังส่งผลต่อสมรรถภาพทางกาย (Physical fitness) ในหลายๆด้าน ทั้ง ระบบไหลเวียนโลหิตและระบบหายใจ ความแข็งแรง ความเร็ว ความยืดหยุ่น ความสมดุลย์ การประสานงาน (Coordination) ความคล่องแคล่ว กำลัง องค์ประกอบร่างกาย (Body composition) และทักษะการเคลื่อนไหว (Motor skill)

ผลของการออกกำลังกายต่อเซลล์ต่างๆ

ซึ่งอย่างที่กล่าวไปแล้วข้างบน ผู้ป่วยโรคมะเร็งมักเผชิญกับภาวะแทรกซ้อนหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือ ภาวะหัวใจทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพ สาเหตุหลักมาจากการลดลงของสมรรถภาพการทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือด (Cardiorespiratory fitness) และการใช้พลังงานสูงสุด (VO2peak)

โดยกลไกหลักๆ ที่ส่งผลต่อหัวใจก็มีดังนี้

  • Cardiac output ลดลง: หัวใจสูบฉีดเลือดได้น้อยลง
  • LV compliance ลดลง: หัวใจห้องล่างซ้ายมีความยืดหยุ่นน้อยลง
  • Systemic vascular resistance เพิ่มขึ้น: หลอดเลือดทั่วร่างกายมีแรงต้านมากขึ้น มันก็ทำให้เลือดไหวเวียนได้แย่ลง
  • Oxygen extraction ลดลง: เซลล์ต่างๆ ได้รับออกซิเจนน้อยลง

และเพื่อชดเชยสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้น หัวใจก็จะเต้นเร็วขึ้น ชีพจรสูงขึ้น ผลลัพธ์ของกลไกเหล่านี้คือ ผู้ป่วยโรคมะเร็งจะมีข้อจำกัดในการออกกำลังกาย รู้สึกเหนื่อยง่าย และอาจเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้

สรุป

ดังนั้นแม้ว่าการออกกำลังกายจะมีผลดี แต่การจะให้ผู้ป่วยออกกำลังกายก็ไม่ใช่ว่าสั่งไปส่งๆได้ ในการศึกษาของเขา เขาก็มีตัวอย่างตารางการออกกำลังกายจากข้อมูลงานวิจัยต่างๆที่ผ่านมาประกอบ แล้วจัดวางเป็นตัวอย่างอยู่นะครับ อย่างไรก็ตามตัวอย่างก็คือตัวอย่างนั่นแหละ ไม่ใช่ให้นำไปใช้ได้เลย ถ้าสนใจก็ควรศึกษาในรายละเอียดดูอีกที คร่าวๆจะเห็นว่าเป็นการออกกำลังกายไม่ได้หนักมาก

ปัจจุบันข้อมูลในการวางโปรแกรมออกกำลังกายสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งที่กำลังรักษาอยู่ ที่เป็นรูปแบบที่เหมาะสมที่สุด มันยังไม่มี(เท่าที่เขาศึกษา) ในอนาคตก็ต้องศึกษาว่ารูปแบบ ความหนัก ความเข้มข้น รอบ เวลา ที่เหมาะสมต่อไป ใครสนใจไปอ่านงานเต็มดูนะครับ

อ้างอิง

  1. Wernhart, S., & Rassaf, T. (2024, February 14). Exercise, cancer, and the cardiovascular system: clinical effects and mechanistic insights. Basic Research in Cardiology. https://doi.org/10.1007/s00395-024-01034-4
  2. บัวเพ็ชร. (2022, November 19). การออกกำลังกายช่วยสร้างเกราะป้องกันมะเร็งให้ร่างกาย. Fat Fighting. https://www.fatfighting.net/article-2022-11-10-an-exercise-induced-metabolic-shield-in-distant-organs-blocks-cancer-progression/

GO TOP

🎉 You've successfully subscribed to Fat Fighting!
OK