เซโรโทนิน ไม่ได้เป็นสาเหตุของโรคซึมเศร้า ?

เซโรโทนิน มีผลต่อโรคซึมเศร้ามั้ย ? งานวิจัยชิ้นนี้กล่าวว่าทฤษฎีเซโรโทนิน และ เรื่องเคมีในสมองไม่สมดุลย์ ไม่มีหลักฐานที่เพียงพอ


เซโรโทนิน ไม่ได้เป็นสาเหตุของโรคซึมเศร้า ?

บอกก่อนตัวโตๆ ว่าอันนี้ผมนำเสนอจากงานวิจัยชิ้นนี้นะเว้ย ไม่ได้คิดเองเออเอง และแน่นอน ไม่ได้ศึกษาเองอย่างละเอียดเหมือนเขา แต่เห็นว่ามันมีประเด็นที่เขาเขียนแล้วค่อนข้างน่าสนใจ (มาก) เลยนำมาแชร์กัน

Moncrieff และคณะ (2022)

เซโรโทนินเป็นสาเหตุของโรคซึมเศร้า ?

งานนี้เป็น Systematic umbrella review ศึกษาโดย Moncrieff และคณะ (2022) นะครับ [1] โดยเขาพูดถึงสมมุติฐานหรือทฤษฎีที่ว่าโรคซึมเศร้าเนี่ยเกิดจาก เซโรโทนิน (Serotonin) ซึ่งก็ว่ากันแบบนี้มาเป็นทศวรรษๆแล้ว ตั้งแต่ปี 1960 นู๊นน แล้วก็มีตีพิมพ์ในหนังสือ ตำราต่างๆ ทำให้นักวิจัยเชื่อถือ จากนั้นก็มีการศึกษาตามแนวทางนั้นตามกันเรื่อยมา มีการสำรวจพบว่า 80% ของคนทั่ไปเชื่อว่า ซึมเศร้าเกิดจาก "สารเคมีไม่สมดุลย์" (เอาจริงๆผมก็เชื่อมาก่อนนะ OMG)

แล้วจริงๆเป็นแบบนั้นรึเปล่า ?

แต่มันก็มีการตั้งคำถามต่อแนวคิดนี้แหละ เขาก็เลยเริ่มศึกษาแบบ Umbrella จากงานต่างๆ ที่มีออกมาแล้ว เพื่อดูว่ามันมีหลักฐาน ว่าเซโรโทนินเป็นสาเหตุของซึมเศร้า โดยเฉพาะที่ว่าซึมเศร้าเนี่ยมันสัมพันธ์กับการที่เซโรโทนินมีระดับต่ำจริงรึเปล่า วิธีการวิจัยในงานชิ้นนี้ก็เริ่มจากการค้นข้อมูลนะครับ ตรงนี้ ไปดูรายละเอียดที่เขาค้นในงานกันเอาเลย

แต่เกณฑ์คร่าวๆที่เขาเลือกคือเป็นงานแบบ Systematic, meta-analysis, Umbrella review ต่างๆ ที่ศึกษาในคน ไม่เอาการศึกษาในสัตว์ การศึกษามีกลุ่มควบคุม ผลลัพธ์ที่ต้องการต้องมีความชัดเจนกับที่เขาหาคำตอบอยู่ ถ้ามีงานที่เข้าเกณฑ์มากกว่า 5 เขาจะคัดแค่ 5 งานล่าสุด

Photo by Kenny Eliason / Unsplash

ผลที่ได้คือ ?

เขาก็รวบรวมงานมาศึกษาอยู่ 17 งาน แล้วก็ศึกษาด้านต่างๆ ทีนี้ตรงส่วนอภิปรายผล เขาก็ว่าไว้ว่าจากงานส่วนใหญ่ ไม่พบว่ามีหลักฐานว่า ในคนที่เป็นซึมเศร้า มีระดับเซโรโทนิน ต่ำกว่าคนที่ไม่ได้เป็น แล้วก็การใช้ tryptophan เพื่อลดระดับเซโรโทนิน ก็ไม่ได้มีผลคงที่ว่ามีผลต่ออารมณ์ที่ลดลงในกลุ่มอาสาสมัคร (ก็แปลว่าลดบ้างไม่ลดบ้าง)

เมื่อดูจากงานที่ศึกษาเกี่ยวกับพันธุกรรม ที่เกี่ยวกับเซโรโทนิน และงานที่เกี่ยวกับตัวรับ (receptor) และตัวพา (SERT) มันก็ไม่ค่อยมี evidence ที่สนับสนุน เขากล่าวว่าทฤษฎีเกี่ยวกับ เคมีเสียสมดุลย์เนี่ย มันทำให้บางคนต้องกินยาไปตลอด ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถออกจากการรักษาได้

จากทฤษฎีเรื่องสารเคมีในสมองไม่สมดุลย์ ซึ่งถูกผู้เชี่ยวชาญในสาขาส่งต่อๆกันมาเรื่อยๆ รวมถึงทฤษฎีเซโรโทนิน ทำให้คนทั่วไปเชื่อว่ามันเป็นผลของทั้งองอย่าง แต่จากสิ่งนั้นทำให้บางคนต้องกินยาไม่ตลอด ไม่สามารถออกจากการรักษา และไม่สามารถที่จะ "หาย" ได้

ซึ่งเขาก็ได้พูดถึงการศึกษาไว้หลายงานว่า บางอย่างเป็นผลระยะสั้นแล้ว พอเป็นระยะยาว มันก็มีสิ่งที่ร่างกายชดเชย (compensatory) ต่อการเปลี่ยนแปลงระดับสารเคมีนี้ขึ้นมา ไล่ไปจนถึงสรุปเขาก็บอกว่า หลักฐานต่างๆ ที่เคยศึกษากันสมมุติฐานว่าเซโรโทนินเป็นสาเหตุอ่ะ มันไม่เพียงพอ เขาว่ามันได้เวลาแล้ว ที่ต้องยอมรับกันว่าทฤษฎีเซโรโทนิน มันไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์เพียงพอ

ในงานวิจัยชิ้นนี้ เขาพบว่ามันไม่มีหลักฐานที่สนับสนุน ทฤษฎีที่ว่า เซโรโทนิน ทำให้เป็นซึมเศ้า และควรรับรู้กันได้แล้ว ว่ามันไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์

สรุป

สำหรับเราๆในระดับคนทั่วไปเนี่ย การศึกษานี้ก็เป็นหนึ่งอันที่อาจจะดูไว้เหมือนว่าเป็นข่าวๆนึงอ่ะนะ ที่เหลือที่เป็นเรื่องของการรักษา วิจัย ต่างๆ ก็คงต้องรอให้คนที่เขาเชี่ยวชาญ เขาศึกษาเฉพาะด้าน เขารักษาด้านพวกนี้อยู่ เขาศึกษาและอัพเดตกันอีกที หลังจากนี้อาจจะมีการทบทวน กระบวนการศึกษา การรักษาต่างๆกันมั้ยรึเปล่าก็ไม่รู้เหมือนกันนะครับ

บอกตรงๆว่า นี่ก็ต่างจากไอ้ที่เคยอ่านเคยศึกษามาเหมือนกัน ใครอ่านแล้วคิดเห็นแตกต่างจากที่งานนี้เขาบอกไว้อะไร ก็ไปแย้งเขาเอาเองนะเว้ย ไม่ต้องมาทัวร์ลงตรงผมน่อ

อ้างอิง

  1. Moncrieff, J., Cooper, R.E., Stockmann, T. et al. The serotonin theory of depression: a systematic umbrella review of the evidence. Mol Psychiatry (2022). https://doi.org/10.1038/s41380-022-01661-0

GO TOP

🎉 You've successfully subscribed to Fat Fighting!
OK