คนเกิดฤดู... อาจจะมีโอกาสเป็นซึมเศร้าได้มากกว่าฤดูอื่น

เกิดเดือนไหน หรือฤดูไหน มีความสัมพันธ์ยังไงกับการเป็นซึมเศร้ารึเปล่า ? ข้อมูลจากงานวิจัย พบสิ่งที่น่าสนใจบางอย่าง


คนเกิดฤดู... อาจจะมีโอกาสเป็นซึมเศร้าได้มากกว่าฤดูอื่น

เคยมีคำกล่าวว่าคนเกิดหน้าหนาว เป็นฤดูแห่งความเหงา เป็นคนโรแมนติก คนเกิดหน้าร้อนเป็นฤดูแห่งความสดใส เป็นคนรักอิสระ คนเกิดหน้าฝนเป็นคนมีโรคส่วนตัวสูง ตรงนั้นจะจริงหรือไม่จริงยังไม่รู้นะครับ (จริงๆไม่น่าจะจำแนกหลายพันล้านคนบนโลกใบนี้ได้ด้วยหมวดหมู่ง่ายๆแค่ 4 หมู่อยู่แล้วแหละ ๕๕) แต่ความสัมพันธ์ของฤดูที่เกิด กับสิ่งที่เกิดขึ้นกับร่างกายเรานั้น มีการศึกษาแล้วพบว่ามีความสัมพันธ์ ที่น่าสนใจอยู่

ศึกษาในคนกลุ่มไหนบ้าง ?

งานนี้เป็นการศึกษาของ Schaub และคณะ (2022) [1] เพื่อหาความสัมพันธ์ของฤดูเกิด ในผู้ที่เป็นซึมเศร้า (Depression, DP) หรือมีความผิดปกติของบุคลิกภาพ (Schizophrenia , SZ) และกลุ่มคนที่สุขภาพดีทั่วไป (Health controls, HC) ตรงนี้แตกต่างจากเรื่องของซึมเศร้าตามฤดูกาลนะครับ แต่เป็นฤดูกาลที่เกิด

Schaub และคณะ (2022)

โดยดูความสัมพันธ์เปรียบเทียบกับกับฤดูที่เกิด (Season born) โดยเขาแบ่งกลุ่มเป็นกลุ่มที่เกิดช่วงฤดูร้อน มิย-ตค (Summer born, SB) และกลุ่มคนที่เกิดช่วงฤดูหนาว พย-พค (Winter born, WB) จะเห็นว่าเป็นฤดูฝรั่งอ่ะนะครับ เพราะงานนี้ศึกษาในสวิตเซอร์แลนด์ ถ้างานไทยก็ต้องไปศึกษากันอีกที

ข้างบนคือสองตัวแปรหลักที่เขาศึกษาในงานนี้นะครับ ก่อนอื่นก็ต้องบอกก่อนว่าเรื่องนี้ก็เหมือนเรื่องอื่นๆ คือมันมีการศึกษากันมายาวนานแล้ว แล้วก็พบข้อมูลหลายอย่างจากงานต่างๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องข้างต้น โดยหลายงานก็พบว่าในสมองของคนที่มีภาวะต่างๆ มันมีความแตกต่างกัน แล้วก็พบว่าสมองของคนที่เกิดในฤดูต่างๆ ก็มีความแตกต่างกัน

แต่(ผู้ศึกษา)ก็ยังไม่มีความชัดเจน ว่าขนาดหรือความแตกต่างในนั้นมีความสัมพันธ์อะไรที่ชัดเจนพอที่จะอธิบายในสิ่งที่เขาตั้งข้อสงสัยได้ ในงานนี้เขาตั้งเป้าที่จะดูซิว่าขนาดของเนื้อสมองสีเทา (Gray matter) ของคนในภาวะต่างๆ เป็นยังไง โดยเขาตั้งสมมุติฐานว่าความเกี่ยวข้องกันของสมองตรงนี้กับฤดูที่เกิด ในคนที่เป็น DP และ SZ มันจะมีความสัมพันธ์กัน และจะแตกต่างจากของกลุ่ม HC

IRM 3T clinique NeuroSpin

ทำการศึกษายังไง ?

เขาก็ได้ผู้ร่วมทดลองมา 192 คน เป็น SZ 87 คน แยกเป็น WB 53 คน SB 34 คน เป็น DP 39 คน แยกเป็น WB 20 คน SB 20 คน และกลุ่ม HC 66 คน แยกเป็น WB 42 คน SB 24 คน (ใครงงตัวย่อย้อนไปดูด้านบนอีกทีได้ครับ ๕๕) ซึ่งเอาจริงถ้าดูจากตรงนี้ จะเห็นว่าในทุกฤดูเกิดนั้นก็มีคนเป็นภาวะต่างๆ หรือไม่เป็นได้เหมือนกันนะครับ

จากนั้นเขาก็ให้ทุกคนเข้าไปในเครื่องเพื่อตรวจภาพวินิจฉัยดูโครงสร้างสมองด้วยเครื่อง  3-T Siemens Magnetom TrioTim Scanner System ซึ่งก็ทำให้ได้ภาพของสมองแต่ละคนออกมา แล้วก็นำไปวิเคราะห์ข้อมูล หลักๆเขาก็ดู volume ในส่วนของ gray matter อ่ะนะครับ ในขั้นตอนนี้เขาก็มีการ adjust ข้อมูลต่างๆ เข้ามาเพื่อให้เห็นความแตกต่างของสิ่งที่สนใจ ชัดเจนขึ้นนะครับ

ผลที่ได้คือ ?

ผลที่เขาพบในกลุ่มที่เป็นซึมเศร้า ขนาดของส่วน Hippocampus ด้านขวา ในกลุ่มที่เกิดฤดูร้อน (DB SB) มีขนาดเล็ก ส่วนกลุ่มที่มีความผิดปกติทางบุคลิกภาพ ขนาดที่เล็กลงของส่วนนี้ไม่มีความสัมพันธ์กับฤดูที่เกิด

ขนาดของ Gray matter ในแต่ละกลุ่มที่แตกต่างกัน

จากที่เขาศึกษามาเขาก็กล่าวไว้ว่า ส่วนนึงที่ทำให้เป็นแบบนี้เป็นเพราะสภาพแวดล้อม ในช่วงตั้งครรภ์ อาจจะมีผลต่อ ช่วงที่สมองส่วนนี้กำลังพัฒนาขึ้น แต่เนื่องจากไม่มีข้อมูลต่างๆ ในช่วงเวลาดังกล่าว จึงไม่สามารถกล่าวได้ว่าเป็นสาเหตุนะครับ เพียงแต่พบว่ามีความสัมพันธ์อยู่

ตำแหน่งของ Gray matter ที่ส่งผลต่ออาการต่างๆข้างต้น ที่เขาศึกษา

อย่างการในภูมิภาคบ้านเราเนี่ย ผลจากมรสุมจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของการกระจายมลพิษทางอากาศ ที่แตกต่างกันไปในแต่ละช่วงฤดู โดยในช่วงหน้าแล้ง คือตั้งแต่ฤดูหนาวถึงฤดูร้อน จะมีมลพิษระดับสูง ถ้าเทียบกับฤดูฝน [2] ซึ่งก็อาจจะส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตในด้านต่างๆ ที่เราอาจจะยังไม่ทราบได้ในองค์ความรู้ ณ ปัจจุบันก็ได้

สรุป

ข้อมูลนี้บอกอะไรเราได้บ้าง เอาจริงๆในคนทั่วๆไป มันไม่ค่อยมีประโยชน์นักอ่ะนะครับ ๕๕ แต่หยิบมานำเสนอเพื่อให้เห็นว่า ในบางครั้ง ปัญหาของบางคนต่อสภาพทางจิตใจ ความคิด อะไรต่างๆ ที่เขาแสดงมา มันไม่ได้เป็นเรื่องง่ายๆ ที่เราจะบอกไปแค่ว่า ให้เข้มแข็ง หรือไล่ไปนั่งสมาธิแล้วจะหายจะดีขึ้นได้ในทุกกรณี

Sad man crying
Photo by Gadiel Lazcano / Unsplash

บางครั้งมันเป็นเรื่องทางกายภาพ เรื่องทางโครงสร้างสมอง เรื่องของความสมดุลย์ของระดับเคมี สารสื่อประสาทต่างๆ อะไรเยอะแย๊ะ ที่เจ้าตัวเองก็ควบคุม หรือไปทำอะไรมันเองไม่ได้ ต้องได้รับการดูแลรักษาจากแพทย์ จากผู้เชี่ยวชาญ มีการศึกษาหลายงานก่อนหน้านี้ ก็พบว่าขนาดที่เล็กลงของ Hippocampus นั้นมีความสัมพันธ์กับอาการซึมเศร้า [3] [4] [5] และในความเป็นจริงสาเหตุของซึมเศร้าก็เกิดได้จากหลายประการ

ในขณะเดียวกันสำหรับคนรอบข้าง แม้จะไม่มีความรู้ทางการแพทย์ แต่ความเข้าใจที่ถูกต้อง จะนำไปสู่การมอง การปฎิบัติต่อเขาอย่างเข้าใจ ในเบื้องต้น เลิกคิดว่าเขาเรียกร้องความสนใจ เลิกผลักไสให้ไปเข้าวัด ฟังเทศน์ฟังธรรม น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี

อ้างอิง

  1. Schaub N, Ammann N, Conring F, Müller T, Federspiel A, Wiest R, Hoepner R, Stegmayer K and Walther S (2022) Effect of Season of Birth on Hippocampus Volume in a Transdiagnostic Sample of Patients With Depression and Schizophrenia. Front. Hum. Neurosci. 16:877461. doi: 10.3389/fnhum.2022.877461
  2. ภัคพงศ์ พจนารถ P. P. (2014). มลพิษทางอากาศในระดับภูมิภาค และการแพร่กระจายในระยะทางไกล: (2) ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้. JOURNAL OF ENVIRONMENTAL MANAGEMENT, 10(2). Retrieved from https://so02.tci-thaijo.org/index.php/JEM/article/view/27577
  3. Cole, J., Costafreda, S. G., McGuffin, P., & Fu, C. H. (2011). Hippocampal atrophy in first episode depression: a meta-analysis of magnetic resonance imaging studies. Journal of affective disorders, 134(1-3), 483–487. https://doi.org/10.1016/j.jad.2011.05.057
  4. Rao, U., Chen, L. A., Bidesi, A. S., Shad, M. U., Thomas, M. A., & Hammen, C. L. (2010). Hippocampal changes associated with early-life adversity and vulnerability to depression. Biological psychiatry, 67(4), 357–364. https://doi.org/10.1016/j.biopsych.2009.10.017
  5. Zhang, H., Li, L., Wu, M., Chen, Z., Hu, X., Chen, Y., Zhu, H., Jia, Z., & Gong, Q. (2016). Brain gray matter alterations in first episodes of depression: A meta-analysis of whole-brain studies. Neuroscience and biobehavioral reviews, 60, 43–50. https://doi.org/10.1016/j.neubiorev.2015.10.011

GO TOP

🎉 You've successfully subscribed to Fat Fighting!
OK