แสงในตอนกลางวัน และกลางคืน อาจส่งผลต่อสภาพจิตของเราได้

แสงที่เพียงพอในการทำงานและใช้ชีวิตกลางวัน และความมืดที่มืดสนิทในตอนนอนเวลากลางคืน ส่งผลที่ดีกว่าต่อภาวะทางจิตนะครับ


แสงในตอนกลางวัน และกลางคืน อาจส่งผลต่อสภาพจิตของเราได้

เราคงเคยได้ยินกันมาบ้างแล้วเรื่องเวลานอน อย่าให้มีแสงรบกวน พยายามให้มืดสนิท ส่วนเวลากลางวัน อันนี้อาจจะไม่ค่อยมีคำแนะนำอะไรกันนัก แต่ก็มีบางงานวิจัยที่บอกว่า เวลากลางวันก็ควรมีสภาพแวดล้อมที่แสงเพียงพอด้วย แต่มันจะจริงอย่างนั้นรึเปล่า ?

ศึกษาในคนกลุ่มไหน ?

ในงานนี้เป็นการศึกษาของ Burns และคณะ (2022) [1] เขาศึกษาเรื่องของ แสง (light) ในช่วงกลางวัน (daytime) และกลางคืน (night-time) ว่ามีความสัมพันธ์ยังไงกับความผิดปกติทางจิต (psychiatric disorders) บ้างนะครับ โดยเป็นการศึกษาจากฐานข้อมูล UK Biobank ซึ่งเป็นฐานข้อมูลสุขภาพของสหราชอาณาจักร มีการศึกษาเก็บข้อมูลหลายอย่างต่อเนื่องกันมาหลายปี แล้วก็มีการเปิดให้นำข้อมูลต่างๆ มาศึกษากันได้

ศึกษายังไง ?

ในปี 2013 กลุ่มตัวอย่างของ UK Biobank จำนวน 240,000 คน ได้รับคำเชื้อเชิญให้ติดอุปกรณ์ wearable ที่เป็น acceleometer เพื่อเก็บข้อมูลในชีวิตประจำวันเป็นเวลา 1 สัปดาห์ โดยอุปกรณ์ที่ใช้คือ Axivity AX3 โดยปกติเราจะคุ้นเคยกับข้อมูลของเจ้าตัวนี้ ว่านำไปใช้ดูพวก Physical activity ต่างๆได้ แต่มีอย่างนึงที่เจ้านี่มีด้วย คือ เซนเซอร์ตรวจความเข้มแสง (light sensor)

ส่วนความผิดปกติทางจิตนั้น เขาใช้วิธีประเมินด้วยแบบสอบถาม ที่เกี่ยวข้องกับภาวะความผิดปกติในด้านต่างๆ เช่น โรคซึมเศร้า (Major Depression Disorder) , วิตกกังวล (Anxiety) , ป่วยทางจิตจากเหตุการณ์รุนแรง PTSD , การทำร้ายตัวเอง (Self-harm) , โรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar disorder) และ จิตเภท (Psychotic experiences)

หลังจากวิเคราะห์ข้อมูลเขาก็ได้ข้อมูลมาจากตัวอย่าง 86,772 คน เป็นผู้ชาย 43% จากนั้นก็นำไปวิเคราะห์ทางสถิติ จัดเป็น model โดย adjust เรื่องของอายุ เพศ เชื้อชาติ (model 2) และเรื่องของสถานภาพการจ้างงาน และกิจกรรมทางกายออก (model 3)

ผลที่ได้คือ ?

ผลที่ได้เขาพบความสัมพันธ์ของรูปแบบแสง กับภาวะความผิดปกติทางจิต เป็นไปในลักษณะที่ว่า ถ้ากลางวันแสงสว่างกว่าก็จะดีกว่า ส่วนกลางคืนถ้ามืดกว่าก็จะดีกว่า โดยแสงสว่างกลางคืนส่งผลมากในเรื่องของ ซึมเศร้า พฤติกรรมทำร้ายตัวเอง PTSD จิตเภท วิตกกังวล mania และ hypomania ส่วนการมีแสงสว่างกลางวันก็ส่งผลลดความเสี่ยงต่อ ซึมเศร้า ทำร้ายตัวเอง PTSD และจิตเภท

จริงภาวะต่างๆที่ว่ามา มันก็มีสาเหตุมาจากหลายปัจจัยนะครับ แสงก็อาจจะมีความเกี่ยวข้องส่งผลต่ออารมณ์ รวมถึง Physical ภายในกระบวนการทำงานของร่างกายบางอย่างที่เราอาจจะคาดไม่ถึง งานลักษณะนี้ เป็นงานดูความสัมพันธ์ต่อความเสี่ยงนะครับ ไม่สามารถบอกได้ว่า มันเป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกันชัดเจน แต่มันมีความสัมพันธ์กันอยู่

เรื่องแสงนี่ก็มีการศึกษากันหลายอย่าง มีงานวิจัยพบว่าแสงที่เพียงพอในตอนกลางวัน ก็ส่งผลให้เรานอนดีขึ้นได้ในตอนกลางคืนด้วย ก็น่าสนใจอยู่เหมือนกันนะครับ [2]

สรุป

ในทางปฎิบัติ ถ้าทำได้ การทำงานในเวลากลางวันภายใต้สภาพแสงที่เพียงพอ ก็น่าจะส่งผลดีต่อการทำงาน ต่อความรู้สึกของเรา ส่วนเวลานอนเช่นกันถ้าสามารถทำได้การลดแสงรบกวนลงได้ นอนหลับในสภาพแวดล้อมที่มืด ก็จะส่งผลดีกว่ามีแสงรบกวน ทำตรงไหนได้ก็ลองทำดูครับ

บางคนอาจจะชอบฟีลแบบหว่องๆ จินตนาการตัวเองเป็นพระเอกนางเอกในหนังอยู่ อันนั้นไปเรื่อยๆ ก็อาจจะหว่องขึ้นมาจริงๆได้นะครับ 55

อ้างอิง

  1. Low daytime light and bright night-time light are associated with psychiatric disorders: an objective light study in >85,000 UK Biobank participants
    Angus C. Burns, Daniel P. Windred, Martin K. Rutter, Patrick Olivier, Céline Vetter, Richa Saxena, Jacqueline M. Lane, Andrew J. K. Phillips, Sean W. Cain
    medRxiv 2022.10.16.22280934; doi: https://doi.org/10.1101/2022.10.16.22280934
  2. บัวเพ็ชร พงศ์พันธ์. (2022, June 24). ความสว่างในยามตื่น มันทำให้เรานอนได้ดีขึ้น. Fat Fighting. Retrieved November 11, 2022, from https://www.fatfighting.net/article-2022-06-24-bright-light-during-wakefulness-improves-sleep-quality/

GO TOP

🎉 You've successfully subscribed to Fat Fighting!
OK