สาวๆจ๋า นอนดึกส่งผลต่อสุขภาพผิวนะจ๊ะตัวเทอ

สาวๆหลายคน พยายามหาสารพัดครีมบำรุงผิวมาใช้ แต่หารู้ไม่ว่าสิ่งที่ทำลายและทำร้ายผิวหนังตัวเองอยู่นั้นคือ พฤติกรรมการนอนของตัวเองนั่นเอง


สาวๆจ๋า นอนดึกส่งผลต่อสุขภาพผิวนะจ๊ะตัวเทอ

งานนี้เป็นการศึกษาของ Shao และคณะ (2022) เขาศึกษาเพื่อบอกว่าผิวหนัง (Skin) ได้รับผลกระทบอย่างไรกับการนอนเร็วนอนช้า รวมไปถึงว่ามีผลยังไงกับสรีรวิทยาของผิวหนัง (Skin Physiological) และ จุลินทรีย์ที่ผิวหนัง (Skin Microbiome) ด้วยนะครับ

Shao และคณะ (2022)

ศึกษาในใครกัน ?

ซึ่งก็เป็นการเก็บข้อมูลมาจากผู้หญิงสุขภาพดี อายุระหว่าง 18-38 ปี ที่อาศัยอยู่ในเซี่ยงไฮ้ นะครับ ได้ข้อมูลมา 219 คน จะว่าไปกลุ่มตัวอย่างกลุ่มนี้ก็อาจจะมีลักษณะผิวหนังที่คล้ายสาวไทยจำนวนไม่น้อยก็เป็นไปได้ อันนี้ไม่มีข้อมูลนะเดาล้วนๆ

อย่างที่บอกว่าเขาก็ศึกษาดูผลที่เกิดขึ้นจากการนอน ก็มีการเก็บข้อมูลผ่านแบบสอบถาม ว่านอนกี่โมง โดยกำหนดเวลานอนตรงกลางไว้ที่ 5 ทุ่ม ก็จะมีกลุ่มที่นอนเร็ว นอนก่อน 5 ทุ่ม (early bedtime , S0) และกลุ่มที่นอนช้า คือนอนหลัง 5 ทุ่ม (late bedtime, S1) รวมถึงข้อมูลสภาพผิวที่เจ้าตัวเป็นคนประเมินเอง ข้อมูลพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน และข้อมูลอื่นๆของเจ้าตัว

ทดสอบเก็บข้อมูลยังไง ?

จากนั้นไปลักพาตัว เอ้ย ไปนำเอาทุกคนมาตรวจสภาพผิว ก่อนตรวจเขาก็กำหนดว่าไม่ให้ใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว หรือเครื่องสำอางค์อะไรในคืนก่อนหน้าที่จะมาตรวจนะครับ เช้ามาก็ให้แบกหน้าสดมาเลย ห้องที่ตรวจก็มีการควบคุมอุณหภูมิและความชื้นไว้ มาถึงให้นั่งนิ่งๆ 30 นาทีเพื่อพักก่อน

การตรวจสภาพผิวก็มีใช้เครื่อง Courage + Khazaka electronics เพื่อดูความชุ่มชื้นผิว (Skin hydration) ของเซลล์ชั้นนอกสุด (stratum corneum) ด้วย Corneometer ชั้นนี้คือเป็นพวกเซลล์ที่ตายแล้ว ก็รอหลุดไปในสภาพของขี้ไคลในที่สุด ใช้ Tewameter เพื่อดูอัตราการระเหยน้ำผ่านผิวหนัง ใช้ Sebumeter วัดค่าความมันบนผิวหนัง (Sebum)

502 Layers of epidermis

ใช้ Skin-pH-Meter อันนี้ก็วัดค่ากรดด่างผิวหนัง ไม่พอ มีวัดความเงาผิวหนังด้วย Glossymeter อีก แหม่ ยังกับทำงานเคลือบสีรถ แล้วก็มีการวัด Melanin และ Hemoglobin ไม่พอครับตรวจประเมินริ้วรอยด้วย Visioscan ต่ออีก แล้วก็วัดความยืดหยุ่น (elasticity) ควาแน่น (firmness)

แต่ยังไม่ครบตามที่จั่วไว้ถูกไหมครับ มีการนำเอาผิวหนังไปตรวจพันธุศาสตร์จุลีนทรีย์อีกก็ศึกษาละเอียดสิ่งอยู่นะครับเนี่ย

ผลที่พบคือ ?

ผลที่พบก็คือ อันดับแรกร้อยละจากกลุ่มผู้ร่วมงานวิจัยทั้งหมดเนี่ย 219 คน S0 นอนเร็ว  44.75 และ S1 นอนช้า 55.25 จ้าาา ใครชนะยกมือขึ้น ก็สะท้อนให้เห็นว่าในกลุ่มคนเกินครึ่ง ใช้ชีวิตแบบนอนค่อนข้างจะดึกกันอยู่นะครับ (จริงๆ นอนเร็ว 44.75% นี่ก็เซอร์ไพรซ์อยู่นะ ๕๕)

ข้อมูลทั่วไปของผู้ร่วมทดลอง

ในด้านสภาพต่างๆของผิวหนัง กลุ่ม S1 ผิวแห้งกว่า ผิวมีความเสียหายมากกว่า ถ้าดูละเอียดๆ ว่านอนดึกขนาดไหน พบว่ายิ่งดึกผิวยิ่งแห้งมากกว่าเข้าไปอีก ซึ่งก็สอดคล้องกับการอัตราสูญเสียน้ำและไขมันบริเวณผิวหนัง ที่กลุ่ม S1 สูงกว่า

ยิ่งดึกยิ่งแย่ด้วยนะจะบอกให้

ริ้วรอยผิว (Wrinkle) ความหยาบผิว (Roughness) นอนดึกชนะเลิศคร่าาาแม๊ ค่าต่างๆพวกนี้มีนัยสำคัญทางสถิติหมดเลยนะครับ ส่วนค่าอื่นๆ ไม่ค่อยต่างหรืออาจจะต่างบ้างแต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ ลงไปอีกนิดนึง Hemoglobin กลุ่ม S1 น้อยกว่า แต่ว่าไม่มีผลกับ melanin ตรงนี้ก็มองได้ว่าการนอนดึก ทำให้การไหลเวียนของเลือดบริเวณไม่ค่อยดี แต่ว่าไม่มีผลกับสีผิว

ผลต่างๆที่เขาพบ

ในส่วนของจุลินทรีย์ที่ผิวหนัง ตรงนี้คือมีความแตกต่างที่ชัดเจนในหลายๆด้าน แต่มันละเอียดเหลือเกินแม่จ๋า อาจจะต้องพิมพ์ตำราออกมาอีกเล่ม ใครสนใจด้านนี้ก็ไปลองอ่านรายละเอียดในงานกันดูนะครับ คร่าวๆก็คือ พวกความหลากหลายและองค์ประกอบของจุลชีพต่างๆเนี่ย ลดลงบางชนิดก็ลดลงแบบมีนัยสำคัญทางสถิติ

สรุป

ข้อมูลพวกนี้นักวิจัย เขาคงนำไปพัฒนาผลิตภัณฑ์บำรุงผิวต่างๆกัน ส่วนเราเองในฐานะที่ดูแลตัวเองอยู่ ข้อมูลหลักฐานจากงานชิ้นนี้จะนำไปใช้ประโยชน์ยังไง ก็ไม่ยากเลย นอนไวขึ้นนอนหลับพักผ่อนให้เต็มที่ สุขภาพผิวหนังก็ดีได้เอย (อย่างน้อยๆก็ดีกว่าตอนนอนดึกแหละเชื่อเถอะ ๕๕)

ไม่ใช่แค่เรื่องสุขภาพผิวนะครับ การนอนให้เพียงพอได้เพิ่มขึ้น แค่วันละ 1 ชั่วโมง ก็สามารถเพิ่มความไวอินซูลินให้เราได้ด้วย ซึ่งก็ได้นำเสนอกันไปแล้วในบทความก่อนหน้านี้ [2]

On a very cold, gloomy weekend, after receiving some distressing news… this face.
Photo by Kate Stone Matheson / Unsplash

อ้างอิง

  1. Shao L, Jiang S, Li Y, Shi Y, Wang M, Liu T, Yang S, Ma L. Regular Late Bedtime Significantly Affects the Skin Physiological Characteristics and Skin Bacterial Microbiome. Clin Cosmet Investig Dermatol. 2022;15:1051-1063
    https://doi.org/10.2147/CCID.S364542
  2. บัวเพ็ชร, พงศ์พันธ์. (2022, June 12). นอนนานขึ้นแค่วันละ 1 ชั่วโมงเพิ่มความไวอินซูลินได้ง่ายๆ. Fat Fighting. Retrieved June 17, 2022, from https://www.fatfighting.net/article-2022-06-12-beneficial-impact-of-sleep-extension-on-fasting-insulin-sensitivity-in-adults-with-habitual-sleep-restriction/

GO TOP

🎉 You've successfully subscribed to Fat Fighting!
OK