โภชนาการที่เหมาะสมสำหรับภาวะเบาหวาน ต้องกินยังไงกันแน่ ?

เป็นเบาหวาน จำเป็นมั้ยว่าต้องทานแบบ Keto / Low carb ถึงจะหาย จำเป็นมั้ยว่าต้องทำ IF ถึงจะได้ผลดี มาลองดูรายงานจากสมาคมเบาหวานยุโรป และสหรัฐกันครับ ว่าเขาแนะนำยังไงบ้าง


โภชนาการที่เหมาะสมสำหรับภาวะเบาหวาน ต้องกินยังไงกันแน่ ?

งานนี้เป็นเอกสารเผยแพร่สรุปรายงานอย่างเป็นฉันทมติระหว่าง สมาคมโรคเบาหวานแห่งสหรัฐอเมริกา (American Diabetes Association, ADA) และ สมาคมเพื่อการศึกษาโรคเบาหวานแห่งยุโรป (European Association for the Study of Diabetes, EASD) ปี 2022 [1] ซึ่งก็คือปีนี้นี่แหละนะครับ เขาเผยแพร่รายงานการศึกษาเกี่ยวกับโรคเบาหวานประเภท 2 (หลังจากนี้ในบทความจะกล่าวถึง เบาหวานประเภท 2 ว่าเบาหวานสั้นๆนะครับ) ประจำปีนี้ออกมา เป็นการศึกษาจากหลักฐานจากงานวิจัยต่างๆ  (Evidence based)  ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุม รวมไปถึงการรักษาโรค ในช่วงตั้งแต่ปี 2006 ถึงปี 2019

รายงานอย่างเป็นฉันทมติระหว่าง สมาคมโรคเบาหวานแห่งสหรัฐอเมริกา (American Diabetes Association, ADA) และ สมาคมเพื่อการศึกษาโรคเบาหวานแห่งยุโรป (European Association for the Study of Diabetes, EASD) ปี 2022

สิ่งที่เขากล่าวถึง

ซึ่งเนื้อหาในเอกสารฉบับนี้ยาวถึง 34 หน้านะครับ อย่างไรก็ตามผมคงไม่นำมากล่าวถึงทั้งหมด เพราะว่ายาว เยอะ และละเอียดมาก ท่านที่สนใจในรายละเอียดแนะนำให้ไปอ่านต่อตามแหล่งอ้างอิงท้ายบทความนี้นะครับ

การสื่อสาร การใช้คำนั้นสำคัญ (Language Matters)

ประเด็นความสำคัญของโรค ผลกระทบจากโรค อะไรต่างๆเหล่านี้ เราก็มักจะทราบกันอยู่แล้วว่ามีผลกระทบอะไรกับทั้งตัวผู้ป่วย คนรอบข้าง สังคม และประเทศ กันไปแล้ว จุดนึงที่อยากนำมากล่าวถึง คือเขาบอกไว้ว่า เวลาสื่อสารเรื่องนี้ ระหว่างผู้ป่วยกับผู้ให้การรักษา เขาบอกว่าผู้ให้การรักษาพึงระลึกไว้เสมอว่า การใช้คำพูดการสื่อสารนั้นมีความสำคัญ ให้ใช้คำที่เป็นกลาง (Neutral) ไม่ทำให้เกิดตราบาป หรือความรู้สึกผิดกับผู้ป่วย (Free of stigma) และให้อยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง (based on facts) ควรแสวงหาความร่วมมือในการจัดการกับภาวะความเจ็บป่วย ให้ความสำคัญกับบุคคลเป็นที่ตั้ง ไม่ควรโทษภาวะสุขภาพของเขา ไม่ควรโทษว่าเป็นเพราะเขาไม่ทำตามอย่างนั้นอย่างนี้ ทำนองนี้นะครับ

การจัดการเบาหวาน

ในบทความกล่าวถึงว่า การจัดการเบาหวานนั้น ควรให้ความสำคัญกับการให้ความรู้ และการสนับสนุน ให้ผู้ป่วยจัดการตัวเอง ไม่น้อยไปกว่าการเลือกว่าจะต้องให้การรักษาด้วยการใช้ยาตัวไหน การรักษาเบาหวานนั้น ต้องใช้วิธีการที่เหมาะสมกับบุคคลแต่ละคน ที่มีความแตกต่างกัน (Individualized and Personalized)

การลดน้ำหนักคือเป้าหมาย

การลดน้ำหนักคือเป้าหมายสำคัญในการทำให้ระดับน้ำตาลในเลือด (HbA1c) ดีขึ้น การลดน้ำหนักในเบื้องต้นควรตั้งเป้าไว้ที่อย่างน้อย 5-15% เพื่อนำไปสู่การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดในระยะเวลา 3 เดือนได้ตามเกณฑ์การหายเบาหวาน (Remission) ต่อจากนั้นก็เป็นเรื่องของการรักษาระดับน้ำตาลในเลือด เครื่องมือที่ใช้วัดระดับน้ำตาลในเลือดรูปแบบต่างๆ ก็อาจจะนำมาใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ได้นะครับ

และเป้าหมายสำคัญอีกอย่างที่เขากล่าวถึงก็คือ ควรทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ที่ยั่งยืนและต่อเนื่อง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ชีวิต (Lifestyle)

โภชนาการที่เหมาะสม

เรื่องต่างๆที่กล่าวมาข้างต้น หลักๆจะเป็นสิ่งที่เขาสื่อสารไปยังผู้ให้การรักษาผู้ป่วย แต่ในหัวข้อนี้ เป็นจุดนี้เป็นจุดสำคัญที่ผมคิดว่า ผู้ป่วยเองควรทราบ เพราะข้อมูลต่างๆในเน็ต ในปัจจุบันนั้น โอ้ โห มันเต็มไปด้วย bias เต็มไปด้วยความเชื่อ ความศรัทธา ลัทธิครูบาอาจารย์ต่างๆ เต็มไปหมด

ในด้านการโภชนบำบัด (Nutrition Therapy) นั้นเขากล่าวไว้ว่า มันไม่มีรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ของสัดส่วนสารอาหารหลัก คาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมัน ที่ใช้ได้กับทุกคน ย้ำนะครับ ว่าไม่มีรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง รูปแบบเดียว ไม่ได้บอกว่ารูปแบบไหนไม่ดี แต่ไม่มีรูปแบบใดที่ดีเหนือรูปแบบอื่น จนสามารถใช้ได้กับทุกคน และทุกคนจำเป็นต้องทานแบบนี้แบบเดียวเท่านั้น

เราสามารถที่จะทานอาหารในรูปแบบ ที่มีสัดส่วนของคาร์บ 50% ไขมัน 30% โปรตีน 20% หรือ คาร์บ 10% ไขมัน 70% โปรตีน 20% หรืออื่นๆ อะไรก็ได้ที่สะดวก ประเด็นสำคัญคือ ให้ภาพรวมของการรับพลังงานอาหารนั้น เกิดภาวะพลังงานติดลบ (Calories deficit) เพื่อให้เกิดการลดน้ำหนักได้

ไม่มีรูปแบบโภชนาการชนิดใดชนิดหนึ่งชนิดเดียว ที่ได้ผลดีกว่ารูปแบบอื่น ที่จำเป็นจะต้องทานรูปแบบนี้เท่านั้น

ที่ผมให้ความสำคัญกับเรื่องตรงนี้ เพราะในปัจจุบันข้อมูลจากหลายแหล่ง มักจะบอกเราว่า เป็นเบาหวาน ต้องทาน Keto เท่านั้น ต้องทาน Low carb เท่านั้น ซึ่งจริงๆในรายงานฉบับนี้ก็ย้ำชัดว่าจะทานแบบไหนก็ได้ และพบว่าการทานแบบ Mediterranean diet นั้นก็ให้ผลในการรักษาที่ดี Low carb เองก็ให้ผลที่ดีในช่วง 3-6 เดือนแรก แต่เมื่อศึกษากันยาวๆ ในระยะเวลามากกว่า 6 เดือนขึ้นไป การทานแบบอื่น ก็ให้ผลที่ดีไม่แตกต่างกัน การทานแบบ Vegan และ Vegataian ก็สามารถที่จะทำให้หายจากเบาหวานได้

จุดสำคัญอยู่ที่ทานแล้วเกิดพลังงานติดลบ Calories deficit จนลดน้ำหนักได้นั่นเอง

จำเป็นต้องทำ IF มั้ย ?

ในรายงานได้กล่าวถึง ประเด็นของ IF หรือ Intermittent fasting หรือการทานแบบจำกัดเวลา (Tim-restriced eating) รูปแบบต่างๆ ไว้ด้วยนะครับ ว่าจากการศึกษางานวิจัยที่เกี่ยวข้อง และมีการเปรียบเทียบกับการทานจำกัดพลังงานที่เท่าๆกัน พบว่าไม่ได้มีประโยชน์อะไรที่แตกต่างกัน

จะทำหรือไม่ทำ IF ก็ไม่ได้มีความแตกต่างอะไรกันนะครับ หลักๆอยู่ที่ทานให้เกิด Calories defict เช่นกัน

ที่นำสองเรื่องนี้มานำเสนอเน้นๆ เพราะปัจจุบันมันเลยจุดที่เป็นเรื่องของความรู้ไปแล้วนะครับ สำหรับสองสิ่งนี้ มันกลายเป็นความเชื่อ จนกลายเป็นลัทธิกันไปแล้วว่าต้องทำ IF/Lowcarb หรือ Keto ผสมกัน จนมีการเคลมในหลายครั้ง ว่าถ้าไม่ทำแบบนี้จะไม่มีวันหาย

ตัวอย่าง ความคิดเห็นที่กลายเป็นความเชื่อผังหัวกันไปแล้ว

ผู้นำทางความคิดของคนกลุ่มนี้ มักจะใช้แนวทางทฤษฎีสมคบคิด ว่าแพทย์ที่จ่ายยา สักแต่จ่ายยาเพราะมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับบริษัทยา ทั้งๆที่ไม่ได้มีหลักฐานอะไรเลย (แนวคิดนี้ก็ลอกเลียนมาจากผู้นำทางความคิดของกลุ่มนี้ในเมืองนอกอีกที) ซึ่งเรื่องที่น่าขำคือ บางคนที่เผยแพร่ความคิดนี้ ก็หาผลประโยชน์อยู่กับ การทำ IF ทานแบบ Low carb , Ketogenic ในรูปแบบต่างๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม

ทั้งนี้ไม่ได้บอกว่าการทำหรือการทานแบบนั้น ไม่ได้ผล หรือไม่ดีนะครับ ได้ผล และสามารถทำได้ และดีด้วยถ้าเราทำแล้วมันได้ผล แต่ที่อยากจะย้ำชัดๆก็คือว่า มันไม่ได้เป็นสิ่ง "จำเป็นต้องทำ" หรือ "จำเป็นต้องทาน" แบบนั้นอย่างเดียว รูปแบบอื่น หรือการทำอย่างอื่น ก็ให้ผลที่เป็นประโยชน์ได้เช่นกัน ถ้าทำแล้วเราลดน้ำหนักได้

กิจกรรมทางกาย การออกกำลังกาย

เรื่องของกิจกรรมทางกาย (Physical activity) และการออกกำลังกาย (Exercise) ก็มีคำแนะนำว่าเกิดผลดีอย่างมีนัยสำคัญนะครับ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งเป้าพยายามขยับตัว เดิน หยิบยกสิ่งของในชีวิตประจำวัที่มากขึ้น การออกกำลังกายแบบแอโรบิค การออกกำลังกายแบบใช้แรงต้าน ไม่ว่าจะเป็นแบบใช้น้ำหนักตัวของเราเอง (Body weight) หรือใช้อุปกรณ์ ล้วนให้ผลดี

การนอน

การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ก็ส่งผลดีต่อการการจัดการและรักษาเบาหวานเช่นเดียวกันนะครับ คำว่าเพียงพอไม่ใช่ว่าต้องนอนเยอะๆ การนอนที่นานเกินกว่า 8 ชั่วโมง ก็เพิ่มความเสี่ยง เช่นเดียวกับการนอนน้อยกว่า 6 ชั่วโมง การนอนน้อยในวัน จ-ศ แล้วไปนอนเยอะๆ ชดเชยในวันหยุด ส-อา นั้นไม่เพียงพอนะครับ

พฤติกรรมการทางร่างกายที่ส่งผลดีต่อเบาหวานประเภท 2

นอกจากนี้ก็จะเป็นการกล่าวถึงหัวข้อต่างๆ เช่นการใช้ยารักษา หรือเรื่องของข้อมูลกลุ่มคนแต่ละกลุ่ม ซึ่งจะเป็นข้อมูลอันเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่ต้องให้การรักษาผู้ป่วย ใครสนใจก็อย่างที่บอกนะครับ ไปอ่านเพิ่มเติมในลิงค์อ้างอิงท้ายบทความได้เลย

สรุป

ในเรื่องของโภชนาการ จะทานแบบไหน ก็ได้นะครับ ขอแค่ทำให้เกิดภาวะพลังงานติดลบ (Calories deficit) จนลดน้ำหนักได้ ดีทั้งนั้น การทำ IF ไม่ได้มีประโยชน์มากกว่าไม่ได้ทำ ดังนั้นจะทำหรือไม่ทำก็ไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่สมดุลย์พลังงานอาหารและกิจกรรม ที่ทำให้เกิดภาวะพลังงานติดลบ (Calories deficit)

กิจกรรมทางกาย การออกกำลังกาย และการนอนหลับพักผ่อนที่ดีจะช่วยส่งผลดีต่อการจัดการและรักษาเบาหวาน

อ้างอิง

  1. Melanie J. Davies, Vanita R. Aroda, Billy S. Collins, Robert A. Gabbay, Jennifer Green, Nisa M. Maruthur, Sylvia E. Rosas, Stefano Del Prato, Chantal Mathieu, Geltrude Mingrone, Peter Rossing, Tsvetalina Tankova, Apostolos Tsapas, John B. Buse; Management of Hyperglycemia in Type 2 Diabetes, 2022. A Consensus Report by the American Diabetes Association (ADA) and the European Association for the Study of Diabetes (EASD). Diabetes Care 2022; dci220034. https://doi.org/10.2337/dci22-0034

GO TOP

🎉 You've successfully subscribed to Fat Fighting!
OK