พฤติกรรมการกินแบบไหนที่เสี่ยงต่อการเป็นเบาหวาน ?

พฤติกรรมการทานอาหารอะไรบ้าง ที่มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่เราจะเป็นเบาหวานได้ ?


พฤติกรรมการกินแบบไหนที่เสี่ยงต่อการเป็นเบาหวาน ?

ปริมาณสิ่งที่กิน สารอาหารหลักที่กิน จำนวนมื้อที่กิน การกินของทอดของมัน การทานอาหารรสเค็ม ฯลฯ งานนี้เป็นการศึกษาเพื่อดูผลของสิ่งเหล่านี้ ต่อความเสี่ยงการเป็นโรคเบาหวานนะครับ

งานนี้เป็นการศึกษาของ Mahdi และคณะ (2022) [1] เป็นการศึกษาในแบบ Cross sectional จาก Cohort study ในอิหร่าน ศึกษาจากข้อมูลผู้ร่วมวิจัย 9261 คน เป็นคนในวัยผู้ใหญ่ ชาวอิหร่าน อายุระหว่าง 35-70 ปีทั้งชายและหญิง อายุเฉลี่ย 48.3 ปี

Mahdi และคณะ (2022)

ศึกษายังไง ?

เขาก็มีการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการทานอาหาร ผ่านแบบสอบถาม ความถี่ในการทานอาหาร (Food frequency questionnaire) แล้วก็มีคำถามว่าปกติทานวันละกี่มื้อ ตัวเลือกก็มี < 3 มื้อ , 3 มื้อ , 4-6 มื้อ และ > 6 มื้อ ต่อวัน ทานของทอดบ่อยมั้ย ทานอาหารปรุงเกลือเพิ่มมั้ย ทานอาหารปิ้งย่างมั้ย แล้วก็มีการเก็บข้อมูลน้ำหนัก ส่วนสูง รูปร่าง สอบถามเรื่อง Physical Activity และตรวจค่าเลือดพื้นฐานต่างๆ

จากนั้นเขาก็นำข้อมูลมาวิเคราะห์ทางสถิติ เพื่อดูว่าปัจจัยไหน เป็นสิ่งที่สัมพันธ์กับการเป็นเบาหวานในคนกลุ่มนี้บ้าง โดยที่ในคนกลุ่มนี้มีทั้งสิ้น 2962 คนหรือคิดเป็น 20.8% ที่ตรวจพบว่าเป็นเบาหวาน

ผลที่ได้คือ ?

ซึ่งเขาสรุปไว้ว่าพฤติกรรมการทานอาหารที่สัมพันธ์กับความเสี่ยงการเป็นเบาหวานของคนกลุ่มนี้ สิ่งแรกคือจำนวนมื้อที่ทาน คนที่ทานมากกว่า 3 มื้อมีความเสี่ยงที่มากกว่า พวกที่ทานน้อยมื้อกว่าและเสี่ยงเพิ่มขึ้นมากในคนที่ทานมากกว่าวันละ 6 มื้อ

ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในตัวแปรต่างๆ ค่า 1 คือค่าอ้างอิง ค่าที่มากกว่า 1 คือมีความเสี่ยงมากกว่า

นอกจากนั้น ก็มีเรื่องการทานของทอดบ่อยๆ ก็มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่มากกว่าด้วย แม้ว่ามีการ adjust ในเรื่องประวัติการเป็น CVD และโรคตับออกไปแล้ว ส่วนการปรุงเกลือเพิ่มในอาหาร หรือการทานอาหารปิ้งย่าง ไม่มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยง

ถ้าไปดูเพิ่มเติม ในคนที่ทานหลายมื้อ จะพบว่าทานเยอะกว่าคนที่ทานน้อยมื้อกว่า แต่เมื่อปรับเรื่องพลังงานอาหารแล้ว พบว่าความถี่ในการทาน ก็ยังคงมีความเสี่ยงมากกว่าอยู่ คนที่ทานพวกของทอดบ่อย แบบทานทุกวัน ก็ดูจะมีการทานอาหารพลังงานที่สูงกว่าคนที่ไม่ค่อยทานของทอด นานๆทานสักทีอยู่นะครับ

ข้อมูลพลังงานอาหารเมื่อแยกตามตัวแปรต่างๆ บางส่วน

อย่างไรก็ตามงานนี้เป็นการศึกษาในลักษณะ Cohort study ดังนั้นข้อมูลที่ได้ จะเป็นความสัมพันธ์ของตัวแปรต่างๆ ต่อความเสี่ยงนะครับ ไม่ได้บอกได้ชัดเจนว่ามันเป็นสาเหตุซึ่งกันและกัน แค่บอกได้ว่าในคนที่เกิดโรค มีสิ่งนี้มากหรือน้อยกว่ากันเท่านั้น นอกจากนี้การเก็บข้อมูลจากแบบสอบถาม ก็อาจมีความคลาดเคลื่อนในการให้ข้อมูลได้มากน้อย ตามความเข้าใจของผู้ตอบคำถามอีกด้วย

นอกจากนั้นก็ยังมีปัจจัยเรื่องของลักษณะอาหารท้องถิ่นที่ทานเข้ามาเป็นประเด็นด้วย ของทอดของเขากับของทอดของเรา รวมไปถึงของทอดของฝรั่ง หรือประเทศอื่นๆ ก็อาจจะมีความแตกต่างกัน

สรุป

ก็พอให้เห็นภาพคร่าวๆได้ว่า การทานหลายๆมื้อ ซึ่งในนี้คือมากกว่า 6 มื้อต่อวัน อาจจะเป็นปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานได้ เอาจริงๆตอนเห็นข้อมูลแล้วผมก็พยายามนึกอยู่ว่าคนธรรมดาๆ ที่ไม่ใช่พวกนักกีฬา จะต้องเป็นคนแบบไหน ถึงจะกินวันละมากกว่า 6 มื้อ มันแทบจะกินไม่หยุดเลยนะนั่น 555

อ้างอิง

Mahdi, S., Mazidi, M., Davies, I., Beigrezaei, S., Mozaffari-Khosravi, H., Mirzaei, M., . . . Khayyatzadeh, S. (2022). Dietary habits are associated with the prevalence of type 2 diabetes: A study among a middle eastern population. Journal of Nutritional Science, 11, E78. doi:10.1017/jns.2022.56

GO TOP

🎉 You've successfully subscribed to Fat Fighting!
OK