งานนี้ไม่นำเสนอก็เรียกว่าพลาดแน่ๆ (หมายถึงผมนี่แหละ) คืองานนี้เมื่อสักสัปดาห์สองสัปดาห์ก่อน เห็นคนเขียนผ่านๆตาอยู่บ้างเพราะมีคนส่งมาถามหลายคน อาจจะเพราะผมนำเสนอเรื่องสารทดแทนความหวานบ่อย เป็นการศึกษาของ Yan และคณะ (2022) [1]

ประเด็นก็คือว่าบางสำนักนำเสนอแล้วบอกว่า การทานน้ำตาลเทียม หรือสารทดแทนความหวานนั้น ทำให้เป็นมะเร็ง จริงๆแล้วมันเป็นยังไงกันแน่ งานนี้เขาศึกษาแบบ Meta-analysis นะครับ โดยเขาตั้งคำถามเกี่ยวกับการทานน้ำตาลเทียม (Artificial Sweeteners) กับ ความเสี่ยงของมะเร็งและการเสียชีวิต
เขาศึกษายังไง ?
ซึ่งเขาก็ได้รวบรวมข้อมูลจากงานวิจัยที่เข้าเกณฑ์ที่ตั้งไว้ ได้มา 25 งาน พอรวมข้อมูลตัวอย่างออกมาจาก Cohort study จำนวน 25 งาน เลยได้จำนวนตัวอย่างมา 3,739,775 ตัวอย่าง ตัวเลขเยอะขนาดนี้มันเลยยิ่งน่าตื่นเต้นเข้าไปใหญ่
ซึ่งเป็น Meta-analysis ที่ศึกษามาจาก Prospective cohort study อีกทีนึง ลักษณะของการศึกษาแบบนี้ก็คือหลังจากที่เขาตั้งคำถามขึ้นมา เขาก็ศึกษาไปข้างหน้า ว่ามันมีผลที่ต้องการเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นเป็นสัดส่วนเท่าไหร่ เพื่อดูความเสี่ยงนะครับ

ผลที่ได้คือ ?
ซึ่งงานนี้วาร์ปไปที่สรุปเขาบอกว่า การทานสารทดแทนความหวานอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต (all-cause mortality) ได้แต่ไม่พบความสัมพันธ์ต่อความเสี่ยงโดยภาพรวมของการเกิดมะเร็งและการเสียชีวิตจากมะเร็ง แต่บางสำนักแปลพรวดกันไปแล้วว่าการทานสารทดแทนความหวาน ทำให้เกิดมะเร็ง


น้ำตาลเทียม สารทดแทนความหวาน นี่ก็เป็นหัวข้อนึงที่มีการศึกษาอยู่เรื่อยๆ อย่างเช่นคำถามว่ากระตุ้นอินซูลินมั้ย หลายคนก็ยังคิดว่าน้ำตาลเทียมกระตุ้นอินซูลิน แต่เท่าที่พบหลักฐานการศึกษาในมนุษย์หลายๆงาน ก็ไม่ได้พบว่าสารทดแทนความหวานกระตุ้นอินซูลินนะครับ [2] บ้างก็บอกว่าสารทดแทนความหวาน ทำให้เป็นเบาหวาน แต่จริงๆแล้ว งานวิจัยที่นำมาอ้างอิงกัน มันไม่ได้สามารถตีความได้แบบนั้นนะครับ และการทดลองที่ตรงกว่าชัดเจนกว่า ก็ไม่พบว่าการทานน้ำตาลเทียม มีผลให้การควบคุมน้ำตาลบกพร่อง [3]
จริงๆ ก็ไม่ได้สนับสนุนให้ทานน้ำตาลเทียมอะไรนักนะครับ น้ำตาลแท้หรือเทียมก็ทานแค่ให้มันพอดีๆ พอได้รสชาติบ้าง ก็โอเค อย่างในคนที่ทานน้ำหวานมีน้ำตาลประจำ การเปลี่ยนมาทานเครื่องดื่มที่ใช้สารทดแทนความหวาน ประเภท 0 แคลทั้งหลาย เช่น เป๊ปซี่แม็กซ์ โค้กซีโร่ ก็ส่งผลดีต่อการลดน้ำหนัก [4]
สรุป
การเป็นสาเหตุ (causation) มันคนละเรื่องกับความสัมพันธ์ต่อความเสี่ยงนะครับ การศึกษาแบบ Cohort ทำให้เราเห็นความเป็นไปได้ที่มันอาจจะมีผล แต่ถ้าจะดูว่ามันเป็นสาเหตุจริงๆมั้ย มันต้องไปดูการศึกษาที่มีการควบคุมตัวแปร ควบคุมปัจจัยต่างๆ ให้มันชัดเจนกว่านี้จึงจะบอกได้ว่าเป็นสาเหตุนะครับ ไม่ใช่แค่งานนี้นะครับ งานอื่นที่เป็น Cohort study อย่างโรคหัวใจกับน้ำตาลเทียม ต่อให้ผลมันออกมาเป็นบวกกับสารทดแทนความหวาน ผมก็ย้ำเสมอ ว่ามันไม่ใช่หลักฐานที่แข็งแรงมากไม่ต่างกัน [5]
ไม่ใช่ว่าเห็นตัวเลขว่าข้อมูลมาจากคนสามล้านคนแล้วพรวดๆ ฟันธงโป๊ะป๊ะกันเลยนะครับ ดูให้ดีก่อนว่าเขาศึกษายังไง ผมก็ไม่ได้ถือหุ้นในบริษัทน้ำตาลเทียมนะ แต่เห็นการตีฟูกันไปใหญ่แล้วมันก็ไม่รู้สินะ ไม่อยากจะถามว่าอ่านงานวิจัยเข้าใจรึเปล่า ได้แต่คิดในใจ
อ้างอิง
- Yan S, Yan F, Liu L, Li B, Liu S, Cui W. Can Artificial Sweeteners Increase the Risk of Cancer Incidence and Mortality: Evidence from Prospective Studies. Nutrients. 2022; 14(18):3742. https://doi.org/10.3390/nu14183742
- บัวเพ็ชร, พงศ์พันธ์. (2022, January 29). สารทดแทนความหวาน กระตุ้นอินซูลิน จริงรึเปล่า ? Fat Fighting. Retrieved October 5, 2022, from https://www.fatfighting.net/article-2022-01-30-artificial-sweeteners-and-insulin/
- บัวเพ็ชร, พงศ์พันธ์. (2022, August 24). สารทดแทนความหวาน ทำให้ความทนน้ำตาลบกพร่อง ? อาจทำให้เป็นเบาหวาน !?! Fat Fighting. Retrieved October 5, 2022, from https://www.fatfighting.net/article-2022-08-24-non-nutritive-sweeteners-on-human-glucose-tolerance/
- บัวเพ็ชร, พงศ์พันธ์. (2022, May 16). สารทดแทนความหวาน เครื่องดื่ม 0cal ทั้งหลาย ดีต่อการลดน้ำหนัก การลดความอ้วนรึเปล่า ? Fat Fighting. Retrieved October 5, 2022, from https://www.fatfighting.net/article-2022-05-16-sweet-news-about-low-and-zero-calorie-beverages/
- บัวเพ็ชร, พงศ์พันธ์. (2022, August 4). วิจัยพบสารทดแทนความหวาน ไม่มีผลความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ และหลอดเลือด. Fat Fighting. Retrieved October 5, 2022, from https://www.fatfighting.net/article-2022-08-03-relation-of-change-or-substitution-of-low-and-no-calorie-sweetened-beverages-with-cardiometabolic/