แค่กิน Plant-based ปุ๊บ สุขภาพดีจริงปั๊บเลยรึเปล่า ?

ไม่ใช่อาหาร Plant-based ทุกอย่างจะดีต่อสุขภาพนะครับ เอาจริงๆมันก็ต้องว่ากันไปตามรายละเอียดของอาหารแต่ละชนิดด้วย


แค่กิน Plant-based ปุ๊บ สุขภาพดีจริงปั๊บเลยรึเปล่า ?

ปัจจุบันกระแส Plant-based มาแรง อาจจะเพราะว่าความที่หลายการศึกษาพบว่าดีต่อสุขภาพ และถูกผลักดันโดยอุตสาหกรรมอาหารที่เกี่ยวข้อง ทำการตลาดผลิตภัณฑ์ Plant-based ที่ออกมาเยอะในช่วงหลัง แต่ก็มีคำถามว่า แล้วการทาน Plant-based ดีต่อสุขภาพเสมอไปรึเปล่า ?

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหลัง มีผลิตภัณฑ์ที่แปะป้ายว่า Plant-based ออกมาเป็นจำนวนมาก มันจะมีความต่างยังไงกับผลิตภัณฑ์แปรรูปอื่นๆ ที่ไม่ได้เป็น Plant-based รึเปล่า ? ก็เป็นที่มาของคำถามงานวิจัยชิ้นนี้นะครับ

ศึกษาในคนกลุ่มไหน ?

งานนี้เป็นการศึกษาของ Prieto และคณะ (2022) [1] เป็นการศึกษาแบบ Prospective cohort ศึกษาจากข้อมูลการทานอาหาร ด้วยแบบสำรวจความถี่อาหาร (Food frequency questionnaire) ทุกๆ 4 ปี จากสตรีอายุ 60 ปีขึ้นไปจำนวน 82,243 คน

ศึกษายังไง ?

โดยเขาก็จะมีการแบ่งเกณฑ์อาหารที่ทานออกเป็นกลุ่มๆทำเป็นดัชนีคะแนน ระหว่าง healthful plant-based diet index (hPDI) และ unhealthful plant-based diet index (uPDI) ซึ่งพวก healthy นี่ก็ เป็นพวก whole grains, ผัก/ผลไม้ , ถั่วและตระกูลถั่ว , น้ำมันพืช , ชา/กาแฟ ส่วน unhealthy ก็เช่น น้ำผลไม้ / น้ำหวาน , refined grain , มันฝรั่งทอด , ขนมหวานต่างๆ และผลิตภัณฑ์จากสัตว์

ตรงนี้บางท่านอาจจะสงสัยเรื่องผลิตภัณฑ์จากสัตว์ จริงๆแล้วการทาน Plant-based นั้นยังไม่ถึงขนาด Vegan นะครับ ก็ยังทานผลิตภัณฑ์จากสัตว์บางอย่างได้ ข้อสังเกตของผมคืองานนี้เขาจับให้ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ได้รับคะแนนอยู่ในหมวด uPDI ทั้งหมด ทั้งๆที่จริงๆมันน่าจะแยกออกเป็นกลุ่มย่อยๆ อยู่ทั้งหมวด hPDI และ uPDI ด้วย

การศึกษาลักษณะนี้พอได้ข้อมูลต่างๆ มาเขาก็จะมาดูว่า ในการทานแต่ละกลุ่มนั้นมีจำนวนเหตุการณ์ที่เขาสนใจเกิดขึ้นจำนวนเท่าไหร่ เทียบเป็นสัดส่วนแล้ว กลุ่มไหนเกิดเหตุการณ์มากน้อยกว่ากัน ผ่านการวิเคราะห์เชิงสถิติ

ส่วนผลของสุขภาพที่เขาดู เขาใช้ FRAIL scale ซึ่งประกอบไปด้วยความล้า , ความแข็งแรงที่น้อยลง , ความสามารถของระบบแอโรบิคที่ลดลง , จำนวนครั้งของการเจ็บป่วย แล้วก็น้ำหนักที่ลดลงอย่างน้อย 5% (น้ำหนักลดมากๆ ก็อาจจะเป็นปัญหาสุขภาพได้เช่นกัน ถ้าเราไม่ได้ตั้งใจลด)

ผลที่ได้คือ ?

ซึ่งหลังจากวิเคราะห์สถิติข้อมูล และมีการปรับโมเดลต่างๆ เพื่อดูสิ่งที่เกี่ยวข้องต่างๆ แล้วเขาก็พบว่า การทานอาหาร Pant-based ที่ Healthy ก็ส่งผลต่อความเสี่ยงต่อสุขภาพที่น้อยกว่า กลุ่มที่ทาน Plant-based แต่เป็น Unhealthy

ปีก่อนผมเคยนำเสนองานลักษณะคล้ายๆกัน ไปสองงานในทวิตเตอร์นะครับ

งานนี้ก็ศึกษาเทียบระหว่าง Healthful plant-based และ unhealthful plant-based

และ

งานนี้ก็เปรียบเทียบระหว่าง Unhealthful และ Healthful plant-based diet เช่นกัน

ซึ่งผลจากทั้งสองงานก็ไม่ได้แตกต่างจากงานนี้เท่าไหร่นะครับ อย่าพึ่งวางใจทันทีที่เราเห็นว่าเป็น Plant-based บางทีอาจตกเป็นเหยื่อการตลาด

สรุป

ในปัจจุบันพวกผลิตภัณฑ์ อาหารจากพืช Plant-based ออกมาเยอะ หลายๆอย่างก็ราคาแพงเกินไป แต่อาศัยการตลาดว่าดีต่อสุขภาพ ซึ่งจริงๆจะดีจริงมั้ย คงต้องดูกันหลายอย่างควบคู่กันไปด้วย บางอย่างแปรรูปไปแล้วก็ทำให้เสียคุณค่าทางโภชนาการ ประโยชน์ที่ได้ก็ลดลง

จริงๆแม้แต่ผักผลไม้อยู่ในประเทศที่คุณภาพชีวิตดีย์ๆแบบนี้ ก็อาจจะต้องระวังเรื่องสารตกค้างต่างๆด้วยเช่นกัน  ไม่ใช่ว่าทาน Plant-based ทุกรูปแบบแล้วจะส่งผลดีต่อสุขภาพทันที ก็ต้องดูในรายละเอียดของสิ่งที่ทานด้วย

หรือจริงๆ ในอีกทางนึง เราอาจจะไม่ต้องตีกรอบตัวเอง ไว้ที่รูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง เพียงแค่วางการทานให้มันมีสิ่งที่ดีต่อสุขภาพมากหน่อย บ่อยหน่อย และมีสิ่งที่อาจจะไม่ได้มีประโยชน์นัก แต่ดีต่อใจบ้างในบางโอกาส แต่ไม่เยอะมาก ไม่บ่อยมาก หาจุดสมดุลย์ให้พอดีๆ ดีต่อสุขภาพกาย ดีต่อสุขภาพใจ

อ้างอิง

  1. Sotos-Prieto, M., Struijk, E. A., Fung, T. T., Rodríguez-Artalejo, F., Willett, W. C., Hu, F. B., & Lopez-Garcia, E. (2022). Association between the quality of plant-based diets and risk of frailty. Journal of cachexia, sarcopenia and muscle, 10.1002/jcsm.13077. Advance online publication. https://doi.org/10.1002/jcsm.13077

GO TOP

🎉 You've successfully subscribed to Fat Fighting!
OK