สารทดแทนความหวาน ทำให้ความทนน้ำตาลบกพร่อง ? อาจทำให้เป็นเบาหวาน !?!

การใช้น้ำตาลเทียม สารทดแทนความหวาน ส่งผลให้ความทนต่อน้ำตาลบกพร่อง ทำให้เป็นเบาหวานมั้ย ?


สารทดแทนความหวาน ทำให้ความทนน้ำตาลบกพร่อง ? อาจทำให้เป็นเบาหวาน !?!

ไม่เอางานนี้มาเขียนถึงไม่ได้แน่ ยังไงมันก็คาใจ ตอนเห็นหัวข้อ และ Graphic abstract มันก็เกิดความสนใจอยู่ว่ารายละเอียดเป็นไง จริงๆงานนี้เขาศึกษาว่า จุลินทรีย์ของแต่ละคนตอบสนองต่อการทานน้ำตาลเทียม ต่อการทนน้ำตาลยังไงบ้าง มันก็มีคนไปตีความ ไปแชร์ต่อๆกันมากเลย ว่ามันมีผลเสีย ทำให้การจัดการน้ำตาลในเลือดบกพร่อง ยาวไปจนถึงเป็นสาเหตุให้เกิดเบาหวานได้ OMG

งานนี้เป็นการศึกษาของ Suez และคณะ 2022 [1] ซึ่งอย่างที่บอกว่าเขาศึกษาในส่วนของ Microbiome ซึ่งก็คือจุลินทรีย์ที่อยู่ในลำไส้เรา ว่ามีผลอย่างไรบ้างจากการบริโภคน้ำตาลเทียมชนิดต่างๆ

Suez และคณะ (2022)

เขาศึกษายังไง ?

คร่าวๆของตัวงานนี่คือเขา ให้คนสุขภาพดีจำนวน กลุ่มละ 20 คน มาทาน Saccharin , Sucralose , Aspartame และ Stevia เทียบกับ Glucose และกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้ทานอะไร ตามรูปแบบนี้นะครับ

รูปแบบการศึกษาในงานนี้นะครับ

แต่ตรงนี้ถ้าไปดูรายละเอียดจริงๆ มันไม่ใช่ว่าใช้สารทดแทนความหวานแทนน้ำตาลตรงๆนะ เพราะว่าซองที่ให้ไปทานแต่ละอันมันมี Glucose เป็น bulking agent อยู่ด้วย!? ก็เหมือนให้กินน้ำตาลผสมน้ำตาลเทียมทุกวัน ?

ถ้าเราดูในรายละเอียดงาน มันไม่ใช่การทานน้ำตาลเทียมแล้ว พบว่าค่าน้ำตาลขึ้นนะครับ มันทานน้ำตาลผสมน้ำตาลเทียม

แต่ว่าเท่าที่ดูฟีดแบคจากคนที่แชร์งานนี้กัน (คนต่างชาติที่ผมเห็นในฟีดทวิตเตอร์) หลายคนเข้าใจว่างานนี้บอกว่าสารทดแทนความหวาน จริงๆมีน้ำตาล เพราะกราฟค่าน้ำตาลในเลือดพุ่งขึ้น จะบอกว่าอันนี้ที่มันขึ้นก็ไม่แปลกนาเพราะว่าอย่างที่บอกเขากินร่วมกับน้ำตาลไง

ข้อสังเกตจากรายละเอียดในเนื้องาน

การคัดคนมาร่วมเป็นกลุ่มตัวอย่าง

ทีนี้มันมีจุดที่น่าสนใจอยู่ที่กลุ่มตัวอย่าง เขาเลือกที่จะกำหนดว่า 6 เดือนก่อนหน้านั้นต้องไม่ใช้สารทดแทนความหวานมาก่อน ทั้งสารทดแทนความหวานเองและจากการถูกใช้ในผลิตภัฑณ์อื่นๆด้วย ถ้าจะดูว่าเพื่อไม่ให้มีผลต่อสิ่งที่เขาสนใจคือจุลินทรีย์ (Microbiome) มันก็พอได้ แต่พอมีเกณฑ์แบบนี้ มันมีโอกาสที่คนที่ไม่เคยใช้เลยเนี่ย มันเป็นเพราะเขามี Bias อะไรกับสารทดแทนความหวานด้วยรึเปล่า เลยไม่ใช้เลย อันนี้ก็เป็นจุดนึง ซึ่งถ้าคนไม่ทานอะไรพวกนี้ เวลามาทานยังไงมันก็รู้นะ รสชาติมันเปลี่ยน รู้สึกได้อาจจะส่งผลด้านอื่นอะไรบ้างก็ไม่รู้

การตรวจสอบ OGTT ทำเองที่บ้าน?

อีกจุดนึงการตรวจสอบความทนทานต่อน้ำตาล มันไม่ได้ทำโดยผู้วิจัยเป็นคนควบคุมแต่เขาให้กลุ่มตัวอย่างไปทำเอง .. อันนี้ก็อาจจะเกิดความคลาดเคลื่อนอะไรต่างๆได้มากกว่า แต่อาจจะไม่กระทบกับในส่วนหลักที่เขาสนใจ แต่นั่นแหละ มันก็ทำให้ข้อมูลความทนทานต่อน้ำตาลของแต่ละคน มันก็อาจจะมีข้อที่ต้องตั้งข้อสังเกตได้ ส่วนข้อมูลจาก CGM นี่ก็อีกเรื่องนึง

มีบางคนมีโภชนาการที่ไม่ใช่โภชนาการทั่วไปด้วยรึเปล่า ?

ในงานนี้เขาพบว่า ในสารทดแทนความหวานที่ทำให้การตอบสนองต่อน้ำตาลไม่ปกติ (impaired glycemic responses) มันไม่ได้มีผลทุกคน แต่มีผลบางคน แยกเป็นคนที่มีผลกับไม่มีผล ซึ่งในข้อมูลคนที่เป็น bottom responder มีค่า ketone body (beta-hydroxybutyrate) สูงพอทานน้ำตาลเข้าไปก็ลดลง ส่วนคนที่มี ketone body ต่ำทานน้ำตาลเข้าไปก็สูงขึ้น (แต่ไม่ได้สูงมาก) ตรงนี้ก็ไม่แน่ใจว่านอกจากเรื่องของ Microbiome แล้วปัจจัยอื่นอย่าง Diet ที่ทานอยู่ด้วยรึเปล่าที่ส่งผลต่อ Microbiome

โดยตัวงานเองก็มีความน่าสนใจ ที่เอาเรื่องของ Microbiome มาศึกษากับ สารทดแทนความหวาน มีการนำ Microbiome ในคนไปถ่ายโอนให้หนูเพื่อดูผลด้วย ว่ามีความเหมือนหรือต่างจากคนให้ยังไง ตรงนี้ก็น่าสนใจ ก็น่าจะได้ผลให้เห็นอยู่ว่า Microbiome สายไหนยังไงมีผลอะไรบ้าง ในแง่นี้คงต้องติดตามการศึกษาต่อไปอีกว่าจะพบอะไรอีกบ้าง

หนูไม่ได้ทานน้ำตาลเทียม แต่รับการถ่ายโอน Microbiome

หนูที่เขาใช้ทดลองนี่ transplant fecal microbiome จากคนกลุ่มตัวอย่างไปนะ ไม่ได้ทานสารทดแทนความหวานโดยตรง ตรงนี้ผมเห็นบางที่เขียนว่าหนูก็ทานสารทดแทนความหวานด้วย ไม่ใช่นะ หนูรับจุลินทรีย์จากอุจจาระกลุ่มตัวอย่างไป ถ้าจะว่าตรงๆ ผลที่เกิดขึ้นกับ glucose tolerance test ในหนูเกิดจากการ microbiome ที่แตกต่างกันไปมากกว่า

Glycemic response ดูมีแนวโน้ม Adaptation ?

อีกส่วนนึงนึงที่เห็นค่า Glycemic response ของ Saccharin และ Sucralose ระหว่างการตรวจครั้งที่ 1 กับ baseline ดูสูงขึ้นมาเล็กน้อย แต่พอครั้งที่ 1 กับ 2 ดูไม่ต่างกันมาก และเมื่อดูตอน follow up นี่ก็ดูจะย้อนกลับไปที่ baseline ดูก็ไม่ได้มีอะไรน่ากังวลในระยะเวลาประมาณนี้ ระยะยาวกว่านั้น ข้อมูลไม่ได้มีบอกไว้

Photo by Towfiqu barbhuiya / Unsplash

มีอะไรน่ากังวลมั้ย ?

เท่าที่อ่านจากในงานนี้ มันไม่ได้มีอะไรสรุปได้ว่าตัวสารทดแทนความหวานเป็นอันตรายขนาดแบบที่บางคนอ่านแต่หัวข้อแล้วสรุปเลยทันที บางบทความบอกว่าทานสารทดแทนความหวานทำให้เป็นเบาหวานไปแล้ว ในงานนี้มันไม่ได้ถึงจุดนั้น ส่วนถ้าเอางานอื่นๆที่ชัดเจนกว่า มันก็ยังไม่ใช่อยู่เหมือนกัน อันนี้เท่าที่อ่านแล้วอยากจะตั้งข้อสังเกตนะ

อย่างไรก็ตามก็ยังเห็นเหมือนเดิม คือ

  1. ถ้าเทียบกับทานน้ำตาลไปเลย การใช้สารทดแทนความหวานก็ยังดีต่อการควบคุมน้ำหนักกว่า
  2. ทานได้แต่อย่าให้มันเยอะนัก ในส่วนที่เขาศึกษาว่ามันไม่มีผลอะไรแล้วน่ะโอเค แต่ในส่วนที่เรายังไม่รู้ก็อาจจะมี และที่สำคัญในผลิตภัณฑ์มันไม่ได้มีแค่สารทดแทนความหวาน อย่าง Diet soda มันก็มีส่วนผสมอื่นอยู่ด้วย การดื่มปริมาณมาก เป็นเวลานานต่อเนื่อง งานวิจัยมักจะไม่ได้ครอบคลุมถึง

ทั้งนี้ถ้าเราดูจากงานอื่นๆ ที่เขาทดลองโดยมีการควบคุมตัวแปรชัดเจน และศึกษาในด้าน Glycemic control / Glycemic response  เหมือนกัน ดูความดื้อความไว Insulin ในระยะเวลาที่นานกว่า (12 สัปดาห์) ทดสอบเปรียบเทียบระหว่าง Sucrose (น้ำตาลทรายนั่นแหละ) กับ Aspartame, Saccharin , Sucralose หรือ Rebaudioside A [2] และ เปรียบเทียบระหว่าง Glucose กับ Sucralose [3] ก็ไม่พบว่ามีผลกับความทนน้ำตาล (Glucose tolerance) นะครับ

บางคนอาจจะคิดว่าทำไมเอางานเก่ามากล่าวถึง ข้อมูลงานนี้ใหม่กว่าเห็นๆ คือต้องบอกว่า งานจะเก่าหรือใหม่ ไม่ได้เกี่ยวกันนะครับ ในงานนี้อย่างที่ชี้ให้เห็นว่ามีหลายจุดที่ ไม่สามารถแปลผลมาบอกได้โดยตรง ว่าเป็นผลของการใช้สารทดแทนความหวานมั้ย งานอื่นที่นำมาให้ดูก็ยังมีความชัดเจนมากกว่าถ้ามองในประเด็นเรื่องความทนต่อน้ำตาล หรือพวกความไวความดื้ออินซูลินต่างๆ

อ้างอิง

  1. Suez, J., Cohen, Y., Valdés-Mas, R., Mor, U., Dori-Bachash, M., Federici, S., Zmora, N., Leshem, A., Heinemann, M., Linevsky, R., Zur, M., Ben-Zeev Brik, R., Bukimer, A., Eliyahu-Miller, S., Metz, A., Fischbein, R., Sharov, O., Malitsky, S., Itkin, M., Stettner, N., … Elinav, E. (2022). Personalized microbiome-driven effects of non-nutritive sweeteners on human glucose tolerance. Cell, S0092-8674(22)00919-9. Advance online publication. https://doi.org/10.1016/j.cell.2022.07.016
  2. Higgins, K. A., & Mattes, R. D. (2019). A randomized controlled trial contrasting the effects of 4 low-calorie sweeteners and sucrose on body weight in adults with overweight or obesity. The American journal of clinical nutrition, 109(5), 1288–1301. https://doi.org/10.1093/ajcn/nqy381
  3. Grotz, V. L., Pi-Sunyer, X., Porte, D., Jr, Roberts, A., & Richard Trout, J. (2017). A 12-week randomized clinical trial investigating the potential for sucralose to affect glucose homeostasis. Regulatory toxicology and pharmacology : RTP, 88, 22–33. https://doi.org/10.1016/j.yrtph.2017.05.011

GO TOP

🎉 You've successfully subscribed to Fat Fighting!
OK