สารทดแทนความหวาน เครื่องดื่ม 0cal ทั้งหลาย ดีต่อการลดน้ำหนัก การลดความอ้วนรึเปล่า ?

ลดน้ำหนัก ลดความอ้วน ดื่มเครื่องดื่มที่ใช้สารทดแทนความหวาน พวกเครื่องดื่ม 0cal โค้กซี่โร่ เป๊ปซี่แมกซ์ อะไรพวกนี้ดีรึเปล่า ?


สารทดแทนความหวาน เครื่องดื่ม 0cal ทั้งหลาย ดีต่อการลดน้ำหนัก การลดความอ้วนรึเปล่า ?

Top 5 งานวิจัยที่น่าสนใจจาก Examine ประจำเดือน พค. 3/5

งานนี้เป็นการศึกษาในรูปแบบ Network meta-analysis นะครับ โดยเขาเปรียบเทียบระหว่าง เครื่องดื่มที่ใช้น้ำตาลปกติ  และเครื่องดื่มที่ใช้สารทดแทนความหวาน หรือพวกเครื่องดื่มแคลอรี่ต่ำ และมีการเปรียบเทียบกับการทานน้ำเปล่าด้วย [1]

ซึ่ง.. ตรง LCSB เนี่ย บอกก่อนว่าเขารวมทั้งพวก Zero calories และพวก Low calories ด้วยกันเป็นกลุ่มเดียวนะครับ

Bikesharing bicycles in a row in Dublin
Photo by Pascal Müller / Unsplash

ส่วนข้อมูลนั้นก็มาจากงานวิจัยที่เป็นรูปแบบ RCT ที่มีระยะเวลาการศึกษาอย่างน้อยเนี่ยต้องนานเกิน 2 สัปดาห์ ดูทั้งงานที่ทำในคนเป็นเบาหวาน และคนปกติ

ผลลัพธ์ที่เขาศึกษาหลักเลยก็คือเรื่องของการควบคุมน้ำหนัก แต่ก็มีการศึกษาข้อมูลอื่นๆ ร่วมกันไปด้วย เช่นพวก BMI , Body fat , เส้นรอบเอว , พวกค่าเลือดต่างๆ ค่าน้ำตาล , ค่าน้ำตาลสะสม (HbA1C) , ระดับอินซูลิน , ความดื้ออินซูลิน , ค่าลิพิดต่างๆ  LDL-C HDL-C TG TC ค่าความดัน , ไขมันตับ , การทำงานของตับ รวมไปถึงกรดยูริค ว่าง่ายๆก็ดูข้อมูลสุขภาพพื้นฐานนั่นแหละครับ

ศึกษาในคนกลุ่มไหน ?

เขาก็ได้ข้อมูลจากการศึกษา 17 งาน มีการทดลองเปรียบเทียบ 24 การทดลอง ได้กลุ่มประชากรรวม 1,733 คน เป็นผู้หญิง 75% อายุเฉลี่ยของกลุ่มประชากรอยู่ที่ 33 ปี และ BMI ค่ากลางคือ 31 ระยะเวลาติดตามผลการทดลองค่ากลางอยู่ที่ 12 สัปดาห์ ระยะเวลามีตั้งแต่งานที่ทดลอง 3 สัปดาห์ ไปถึงนู่นนน 52 สัปดาห์ หรือปีนึง

เกริ่นมาทั้งหมดก็จะบอกว่าโอเค ข้อมูลเขาก็มาเยอะมาแน่น ศึกษาดีน่าสนใจนั่นแหละครับ ถึงได้ถูกนำมาแนะนำเป็น Top 5 Study ในเดือนนี้ มาดูที่ผลกันดีกว่า

ผลที่ได้คือ ?

ผลที่ได้ก็คือ การเปลี่ยนจากการทานเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล มาเป็นการใช้พวกสารทดแทนความหวาน หรือเครื่องดื่มแคลอรี่ต่ำเนี่ย ก็สามารถลดน้ำหนักได้เล็กน้อย การใช้พวกนี้ทดแทนการทานเครื่องดื่มที่ใช้น้ำตาลไปเลย ก็ให้ผลที่ดีกว่า ซึ่งก็ไม่ได้น่าแปลกใจเท่าไหร่นัก และก็ค่อนข้าง make sense

แล้วเรื่องอื่นๆ ที่ต้องกังวลล่ะ ?

ทุกครั้งที่ยกเรื่องนี้ขึ้นมาคุยก็มักจะมีต่อมาอีก มันไม่มีแคลอรี่ แต่มันกระตุ้นอินซูลิน  หรือบ้างก็อ้างงานวิจัยบางงานบอกว่ามันทำให้เสี่ยงเป็นมะเร็ง หรือไม่ก็มันทำให้ติดหวานบ้างล่ะ

พวกนี้ผมก็ศึกษามาพอสมควรนะครับ อย่างเรื่องมันทำให้ติดหวาน ก็มีการศึกษาชิ้นนึงเขาก็ให้ข้อสรุปไว้ว่ามันไม่ได้มีผลทำให้เราติดหวาน "เพิ่มขึ้น" คือถ้าเราติดน่ะ มันติดอยู่แล้ว และเปลี่ยนมาทานพวกนี้ก็ไม่ได้ทำให้ติดเพิ่มขึ้น รวมถึงถ้าหากว่าเราลดน้ำหนักได้ ลดความอ้วนได้ ก็น่าจะส่งผลที่ดีต่อการติดหวานให้บรรเทาลงด้วยซ้ำ [2]

ส่วนเรื่องสารทดแทนความหวานกระตุ้นอินซูลิน นั้นผมก็เคยศึกษาและเขียนถึงไว้แล้วก็ลองไปอ่านกันได้นะครับ "สารทดแทนความหวาน กระตุ้นอินซูลิน จริงรึเปล่า ?"

สารทดแทนความหวานทำให้เป็นมะเร็ง อันนี้ก็เป็นการศึกษาที่เขาบอกว่ามันมีความสัมพันธ์ต่อความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น ไม่ใช่การศึกษาที่บอกว่ามันเป็นสาเหตุได้จริงๆ ซึ่งผมก็เคยนำเสนอไว้ในทวิตเตอร์แล้วด้วยเช่นกัน
https://twitter.com/FatFightingClub/status/1507683230295945217

สรุป

โดยสรุปเนี่ย ถ้ามองในแง่ว่า ยังไงเขาก็จะทานน้ำตาลอยู่แล้ว การใช้สารทดแทนความหวานแทนน้ำตาล ก็ให้ผลที่ดีกว่า อย่างไรก็ตามนะครับ เราก็ควรจะต้องไปดูด้วย ไม่ใช่ว่าเอ๊ะ ทานได้สบายใจ แล้วก็ทานไปเยอะๆ นอกจากเรื่องพลังงาน เรื่องน้ำหนัก มันก็มีเรื่องอื่นที่อาจจะทำให้เป็นผลเสียได้ ขนมคลีน กินเยอะๆ มันก็ไม่ใช่ว่าจะดี ฉันใดก็ฉันนั้น สิ่งนี้ก็เช่นเดียวกันนั่นแหละครับท่านผู้ชม

ปล.งาน Top 5 Examine เป็นงานที่ทางเว็บ Examine ซึ่งเป็นเว็บที่เกี่ยวกับอาหารและอาหารเสริมชื่อดังเว็บนึง (คนไทยก็อิงข้อมูลจากที่นี่กันหลายเพจ) เขาเลือกมาว่าเด่นในแต่ละเดือนนะครับ ใครสนใจงานวิจัยด้าน สุขภาพ โภชนาการ อาหาร และการออกกำลังกาย อัพเดตๆ ติดตามผมได้ในทวิตเตอร์ @fatfightingclub
https://www.twitter.com/fatfightingclub

อ้างอิง

  1. McGlynn, N. D., Khan, T. A., Wang, L., Zhang, R., Chiavaroli, L., Au-Yeung, F., Lee, J. J., Noronha, J. C., Comelli, E. M., Blanco Mejia, S., Ahmed, A., Malik, V. S., Hill, J. O., Leiter, L. A., Agarwal, A., Jeppesen, P. B., Rahelic, D., Kahleová, H., Salas-Salvadó, J., Kendall, C., … Sievenpiper, J. L. (2022). Association of Low- and No-Calorie Sweetened Beverages as a Replacement for Sugar-Sweetened Beverages With Body Weight and Cardiometabolic Risk: A Systematic Review and Meta-analysis. JAMA network open, 5(3), e222092. https://doi.org/10.1001/jamanetworkopen.2022.2092
  2. Wilk K, Korytek W, Pelczyńska M, Moszak M, Bogdański P. The Effect of Artificial Sweeteners Use on Sweet Taste Perception and Weight Loss Efficacy: A Review. Nutrients. 2022; 14(6):1261. https://doi.org/10.3390/nu14061261

GO TOP

🎉 You've successfully subscribed to Fat Fighting!
OK