สารทดแทนความหวาน กระตุ้นอินซูลิน จริงรึเปล่า ?

สารทดแทนความหวาน น้ำตาลเทียม 0cal หรือแคลต่ำก็จริง แต่กระตุ้นอินซูลิน .. จริงเท็จประการใด วันนี้เราจะเอาหลักฐานมากางดูกันครับ


สารทดแทนความหวาน กระตุ้นอินซูลิน จริงรึเปล่า ?

เป็นอีกเรื่องนึงที่มีแชร์ข้อมูลกันเป็นระยะๆ นะครับ ว่าสารทดแทนความหวานนั้นกระตุ้นอินซูลิน หลักฐานเกี่ยวกับเรื่องนี้จากงานวิจัยต่างๆ เป็นยังไงกันบ้าง วันนี้จะมานำเสนอเรื่องนี้ให้อ่านกันนะครับ

สารทดแทนความหวานมีอะไรบ้าง ?

สารทดแทนความหวานแทนน้ำตาลนั้นมีหลายชนิดนะครับ เบื้องต้นจะแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ

  1. สารที่ให้ความหวานแต่ไม่ให้พลังงาน หรือ น้ำตาลเทียม พวกนี้ก็เช่น  สตีวิโอไซด์ (Stevia, หญ้าหวาน) ซูคราโลส (Sucralose) น้ำตาลหล่อฮั่งก้วย (Monk Fruit Sweetner)
  2. สารที่ให้ความหวานที่ให้พลังงาน เช่น อิริทริทอล (Erythritol) แมนนิทอล ไซลิทอล (Xylitol) ซอร์บิทอล (Sorbitol) แอสปาแตม (Aspartame) พวกนี้จะมีพลังงานอยู่แต่ว่าด้วยความหวานที่สูงกว่าน้ำตาลหลายเท่าปริมาณใช้จริงน้อย ทำให้ได้รับพลังงานน้อยลงไปด้วย

ก็มีงานวิจัยที่เกี่ยวกับสารทดแทนความหวานหลายชิ้นนะครับ ในวาระนี้ก็จะนำมาให้อ่านกันเอาที่คัดๆมาแล้ว ว่าเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับการกระตุ้นอินซูลิน หรือทำให้เกิด Insulin Spike หรือไม่ ซึ่งเป็นข้อสงสัยของเราในบทความนี้นะครับ

งานแรกเป็นงานวิจัยของ S. E. Møller ตีพิมพ์ใน Pharmacol Toxicol 1991 เปรียบเทียบกันระหว่าง Aspartame และ โปรตีน ใช่ครับ โปรตีนนี่แหละ พบว่า Aspartame ไม่ได้กระตุ้นอินซูลินนะครับ ในขณะที่โปรตีนในรูปของ Bovine albumin 12.2g นั้นเพิ่มระดับอินซูลินในกลุ่มตัวอย่างได้อย่างมีนัยสำคัญ [1] เอ้า โปรตีนก็กระตุ้นอินซูลินเว้ยเฮ้ย ?!

งานต่อมาเป็นงานวิจัยของ Wolf-Novak, L. C. และคณะ ตีพิมพ์ใน Metabolism 1990 เปรียบเทียบการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาร์บ กับเครื่องดื่มที่มี Aspartame และเครื่องดื่มที่มีทั้งคาร์บและ Aspartame เปรียบเทียบกัน พบว่าคาร์โบไฮเดรตนั้นเพิ่มระดับอินซูลินอย่างมีนัยสำคัญ แต่ในเครื่องดื่มที่มีแต่  Aspartame ก็ไม่ได้เพิ่มระดับอินซูลินแต่อย่างใดนะครับ [2] ทั้งสองงานนี้ทำในกลุ่มตัวอย่างที่มีสุขภาพดีปกตินะครับ

fallender zucker
Photo by Myriam Zilles / Unsplash

ในคนที่เป็นเบาหวานละ ?

งานนี้เป็นงานของ Horwitz D. L. และคณะ ตีพิมพ์ใน Diabetes Care 1988 ทดลองให้คนที่เป็นเบาหวานและคนที่ไม่เป็น ดื่มเครื่องดื่มที่ใช้ Aspartame กลุ่มนึง อีกกลุ่มใช้ Sacharin และกลุ่มควบคุมก็ดื่มน้ำเปล่าไป ก็ไม่พบว่ามีลักษณะของ Insulin Spike แต่อย่างใดนะครับ เขาพบว่าในรายละเอียดกลุ่มที่ทาน Aspartame มีระดับ Insulin ที่สูงกว่าอีกสองกลุ่ม แต่ระดับนั้นแตกต่างกันน้อยมาก [3]

คราวนี้เรามาดูผลที่เป็นแบบ cephalic phase insulin release เพื่อดูผลของรสหวานของสารทดแทนความหวานซิว่ากระตุ้นอินซูลินมั้ย งานนี้ใช้น้ำเปล่า , Aspartame, Saccharin และ Sucrose (น้ำตาล) และพายแอปเปิ้ล ต่อการกระตุ้นจากระบบประสาทบ้าง เป็นงานของ Teff K. L. ตีพิมพ์ใน Physiol Behav 1995 ซึ่งในงานนี้ก็ไม่พบว่ามีผลกระตุ้นการหลั่งอินซูลินแต่อย่างใดนะครับ [4]

แล้วไม่มีงานไหนเลยเหรอที่กระตุ้นอินซูลิน

มีครับ ในงานนี้ของ Malaisse W. J. ตีพิมพ์ใน Cell signal 1998 เขาพบว่าสารทดแทนความหวาน ในทีนี้เขาใช้ Saccharin , Cyclamate , Stevioside  , Aspartame และ Acesulfame-K เขาพบว่ามีตัวอย่างที่กระตุ้นอินซูลินได้จริงนะครับ  [5] แต่งานนี้เป็นงานที่ทดลองในหนูทดลอง ไม่ใช่คนเหมือนสี่งานข้างต้น

Andrew G. Renwicka และคณะกล่าวไว้ว่า ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสารทดแทนความหวาน ที่พบจากการทดลองในมนุษย์จริงๆ แตกต่างจากข้อมูลที่ได้จากการทดลองในสัตว์ทดลอง ในการทดลองนอกร่างกายจริงๆ [6]

A roof rat peeks out from the railroad ties.
Photo by Joshua J. Cotten / Unsplash

งานวิจัยอื่นๆ

นอกจากที่ยกมาให้ดูข้างต้นแล้วนะครับ ยังมีงานวิจัยอีกหลายชิ้นที่ก็พบว่า สารทดแทนความหวานที่ใช้ในแต่ละงานนั้น ไม่ได้มีผลกับการกระตุ้นหรือเพิ่มระดับอินซูลิน และทั้งหมดเป็นงานที่ทดลองในคน หรือในมนุษย์ทั้งนั้น [7] [8] [9] [10] [11]

สรุป

ในหลักฐานจากงานวิจัยต่างๆ เวลาเรานำมาใช้อ้างอิง ก็ต้องดูกันไปในรายละเอียด ถึงวิธี ถึงกระบวนการในงานวิจัยแต่ละงานด้วยนะครับ ว่าเป็นงานวิจัยลักษณะไหน เป็นการทดลอง เป็นการทบทวนวรรณกรรม การทบทวนอย่างเป็นระบบ แล้วเป็นงานที่ทำในการทดลองในกลุ่มไหน ในคนจริงๆ หรือในสัตว์ทดลอง มีการควบคุมปัจจัยการทดลองอย่างไรบ้าง การทดลองในคนนั้น ทำในคนกลุ่มไหน คนสุขภาพดี คนมีภาวะปัญหาสุขภาพอะไรบ้าง เพศชาย เพศหญิง อายุช่วงไหน เชื้อชาติอะไร ก็ต้องดูรายละเอียดกันเพิ่มเติมหน่อยนะครับ บางอย่างมีผลในหนูทดลอง ก็ไม่ใช่ว่าจะมีผลแบบเดียวกันในการทดลองที่ทำในคน และก็ต้องพิจารณาดูด้วยว่าเป็นเป็นคนหรือเป็นหนู

อ้างอิง

  1. Møller S. E. (1991). Effect of aspartame and protein, administered in phenylalanine-equivalent doses, on plasma neutral amino acids, aspartate, insulin and glucose in man. Pharmacology & toxicology, 68(5), 408–412. https://doi.org/10.1111/j.1600-0773.1991.tb01262.x
  2. Wolf-Novak, L. C., Stegink, L. D., Brummel, M. C., Persoon, T. J., Filer, L. J., Jr, Bell, E. F., Ziegler, E. E., & Krause, W. L. (1990). Aspartame ingestion with and without carbohydrate in phenylketonuric and normal subjects: effect on plasma concentrations of amino acids, glucose, and insulin. Metabolism: clinical and experimental, 39(4), 391–396. https://doi.org/10.1016/0026-0495(90)90254-a
  3. Horwitz, D. L., McLane, M., & Kobe, P. (1988). Response to single dose of aspartame or saccharin by NIDDM patients. Diabetes care, 11(3), 230–234. https://doi.org/10.2337/diacare.11.3.230
  4. Teff, K. L., Devine, J., & Engelman, K. (1995). Sweet taste: effect on cephalic phase insulin release in men. Physiology & behavior, 57(6), 1089–1095. https://doi.org/10.1016/0031-9384(94)00373-d
  5. Malaisse, W. J., Vanonderbergen, A., Louchami, K., Jijakli, H., & Malaisse-Lagae, F. (1998). Effects of artificial sweeteners on insulin release and cationic fluxes in rat pancreatic islets. Cellular signalling, 10(10), 727–733. https://doi.org/10.1016/s0898-6568(98)00017-5
  6. Renwick, A., & Molinary, S. (2010). Sweet-taste receptors, low-energy sweeteners, glucose absorption and insulin release. British Journal of Nutrition, 104(10), 1415-1420. https://doi.org/10.1017/S0007114510002540
  7. Ford, H. E., Peters, V., Martin, N. M., Sleeth, M. L., Ghatei, M. A., Frost, G. S., & Bloom, S. R. (2011). Effects of oral ingestion of sucralose on gut hormone response and appetite in healthy normal-weight subjects. European journal of clinical nutrition, 65(4), 508–513. https://doi.org/10.1038/ejcn.2010.291
  8. Ma, J., Bellon, M., Wishart, J. M., Young, R., Blackshaw, L. A., Jones, K. L., Horowitz, M., & Rayner, C. K. (2009). Effect of the artificial sweetener, sucralose, on gastric emptying and incretin hormone release in healthy subjects. American journal of physiology. Gastrointestinal and liver physiology, 296(4), G735–G739. https://doi.org/10.1152/ajpgi.90708.2008
  9. Anton, S. D., Martin, C. K., Han, H., Coulon, S., Cefalu, W. T., Geiselman, P., & Williamson, D. A. (2010). Effects of stevia, aspartame, and sucrose on food intake, satiety, and postprandial glucose and insulin levels. Appetite, 55(1), 37–43. https://doi.org/10.1016/j.appet.2010.03.009
  10. Steinert, R. E., Frey, F., Töpfer, A., Drewe, J., & Beglinger, C. (2011). Effects of carbohydrate sugars and artificial sweeteners on appetite and the secretion of gastrointestinal satiety peptides. The British journal of nutrition, 105(9), 1320–1328. https://doi.org/10.1017/S000711451000512X
  11. Spiers, P. A., Sabounjian, L., Reiner, A., Myers, D. K., Wurtman, J., & Schomer, D. L. (1998). Aspartame: neuropsychologic and neurophysiologic evaluation of acute and chronic effects. The American journal of clinical nutrition, 68(3), 531–537. https://doi.org/10.1093/ajcn/68.3.531

GO TOP

🎉 You've successfully subscribed to Fat Fighting!
OK