น้ำตาลเทียม สารทดแทนความหวาน ส่งผลต่อจุลินทรีย์ในลำไส้รึเปล่า ?

การใช้น้ำตาลเทียม หรือ สารทดแทนความหวาน ส่งผลกับจุลินทรีย์ แล้วจะทำให้เป็นเบาหวานรึเปล่า งานนี้ศึกษาในคนเป็นๆ ไม่ใช่หนูทดลองนะครับ


น้ำตาลเทียม สารทดแทนความหวาน ส่งผลต่อจุลินทรีย์ในลำไส้รึเปล่า ?

งานนี้เป็นการศึกษาของ Singh และคณะ (2022) [1] ผลของน้ำตาลเทียม (Stevia) ที่มีต่อจุลินทรีย์ในลำไส้ (Gut microbiota) นะครับ ว่ามีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงยังไงบ้าง ที่น่าสนใจก็คือเป็นงานที่ทดลองในมนุษย์ แล้วก็มีระยะเวลาการศึกษาที่นานพอสมควรถึง 12 สัปดาห์

Singh และคณะ (2022)

เป็นการศึกษาแบบ RCT ที่ทำในคนสุขภาพดี BMI อยู่ในเกณฑ์ปกติ จำนวน 27 คนนะครับ แบ่งเป็นกลุ่ม ที่ให้ทาน Stevia จำนวน 14 คน และกลุ่มเปรียบเทียบ ซึ่งไม่ได้ทานจำนวน 13 คน อายุระหว่าง 18-40 ปี ไม่ได้เป็นคนที่ทานสารทดแทนความหวานเป็นประจำ หรือทานก็น้อยว่าหนึ่งครั้งต่อสัปดาห์ ไม่ได้กำลังลดน้ำหนัก หรือคุมน้ำหนักอยู่ ไม่เป็นวีแกน ไม่ได้ตั้งครรภ์ นอกนั้นก็เป็นข้อกำหนดด้านสุขภาพทั่วๆไป เพื่อคัดกรองให้ได้คนที่สุขภาพดีทั่วๆไป ไม่มีปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพอื่นๆ

ย้อนรอยนิดนึง

ก่อนจะไปต่อในงานนี้ ขอเล่าย้อนไปหน่อย สามเดือนก่อนมีงานวิจัยชิ้นนึง ที่บอกว่าสารทดแทนความหวาน อาจส่งผลต่อจุลินทรีย์ในลำไส้ และส่งผลให้ความทนน้ำตาล (Glucose tolerance) บกพร่อง แล้วก็มีบางสื่อ ตีความไปถึงว่า สารทดแทนความหวาน หรือน้ำตาลเทียม ทำให้เป็นเบาหวานได้ ซึ่งผมเคยนำเสนอไปแล้ว และได้มีข้อสังเกตบางอย่าง ว่ามันไม่สามารถสรุปตามข้อสรุปดังกล่าวได้ [2]

ซึ่งถ้าจะมองถึงผลจากการบริโภคสารทดแทนความหวาน งานที่จะนำเสนอในวันนี้น่าจะให้ผลที่ตรงเป้ากว่า เพราะศึกษาที่จุลินทรีย์ในลำไส้ของผู้ทานโดยตรง ส่วนเรื่องความทนของน้ำตาลของผู้ที่ทานแล้ววัดผลเรื่องความทนน้ำตาลโดยตรง ในการศึกษาที่เป็นการศึกษาโดยตรงในสองเรื่องนี้ก็พบว่าไม่มีผลนะครับ สำหรับการทาน Stevia กับความทนน้ำตาล [3] และการศึกษาที่ให้ทาน Sucralose เพื่อดูผลต่อความทนน้ำตาลโดยตรงโดยศึกษานานถึง 12 สัปดาห์ เช่นกันก็ไม่พบว่ามีผลอะไร [4]

อีกงานเป็นการศึกษาเทียบทั้ง Aspartame, Saccharin , Sucralose หรือ Rebaudioside A โดยดูเรื่องของ Glycemic control / Glycemic response , ดูความดื้อ และความไว ต่อ Insulin โดยศึกษานานถึง 12 สัปดาห์ ก็ไม่พบว่ามีผลอะไรเช่นเดียวกัน [5]

แล้วงานนี้ศึกษายังไง ?

กลับมาที่งานนี้เขาให้กลุ่มที่ทาน Stevia นั้นทาน Stevia 5 หยด วันละสองครั้ง ส่วนกลุ่มเปรียบเทียบ ไม่ได้ให้ทานอะไร ในระหว่างการศึกษา 12 สัปดาห์ทุกคนได้รับคำแนะนำและความรู้เพื่อที่จะไม่ทานสารทดแทนความหวานชนิดอื่นๆ ด้วย การเก็บตัวอย่างเพื่อดูผลลัพธ์ทำ 3 ครั้ง คือครั้งแรก ก่อนเริ่ม 1 ครั้ง และในสัปดาห์ที่ 6 และสัปดาห์ที่ 12 อีกสองครั้ง

การประเมินผลมีการเก็บข้อมูลน้ำหนักตัว อาหารที่ทาน ความดัน การทนน้ำตาล อินซูลิน และอื่นๆด้วย ซึ่งมีการนำข้อมูลไปใช้ในงานชิ้นอื่น ส่วนที่เป็นงานชิ้นนี้เขามีการเก็บตัวอย่างอุจจาระ เพื่อนำไปตรวจสอบดูความเปลี่ยนแปลงของจุลินทรีย์

ผลที่ได้คือ ?

ผลที่ได้ในการดูรูปแบบ ดูความหลากหลายของสายพันธุ์จุลินทรีย์ และอื่นๆ ด้วยความเป็นการศึกษาจุลินทรีย์นี่ผลมันก็มีให้ดูยุ่บยั่บเลยนะครับ แต่เอาคร่าวๆแบบสรุปๆ ก็คือไม่มีความแตกต่างอะไรอย่างมีนัยสำคัญ ว่าการทาน Stevia ในปริมาณวันละ 10 หยด เป็นระยะเวลา 12 สัปดาห์นั้นส่งผลอะไรกับความเปลี่ยนแปลงของจุลินทรีย์ในลำไส้ เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้ทาน

ผลบางส่วนที่เกิดขึ้นกับการประเมินจุลินทรีย์

นอกเหนือจากงานนี้ก็มีงานที่ศึกษาผลของการทาน  Saccharin โดยทำการศึกษาทั้งในคนและในหนูทดลอง ก็ไม่พบว่ามีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของจุลินทรีย์ในลำไส้ และความทนน้ำตาล [6]

สรุป

ทั้งนี้ผมไม่ได้พยายามจะบอกว่าสารทดแทนความหวานเหล่านี้ มีความปลอดภัย 100% ในการบริโภคนะครับ แต่ถ้าเรากังวลในแง่ของเรื่องพวกนี้ จุลินทรีย์ อินซูลิน การทนน้ำตาล หลักฐานจากการศึกษาจำนวนมาก ที่เป็นการทดลองในคนจริงๆ และมีระยะเวลาการศึกษาที่ค่อนข้างนานพอสมควร พบว่าไม่ได้มีอะไรที่ส่งผล

ถ้าเราต้องการทานรสหวาน แต่อยากจะเลี่ยงหรือลดการบริโภคน้ำตาล เพื่อวัตถุประสงค์อะไรก็ตามแต่ การทานพวกนี้เทียบกับการทานน้ำหวาน น้ำตาลไปเลย ย่อมให้ผลที่ดีกว่า ถ้ากังวลในแง่อื่นๆ ก็ต้องดูข้อมูลการศึกษาในงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง หรือถ้ายังไม่มีการศึกษาก็รอเขาศึกษากันดูอีกที

อ้างอิง

  1. Consumption of the non-nutritive sweetener stevia for 12 weeks does not alter the composition of the gut microbiota. Gurdeep Singh, Andrew J McBain, John T McLaughlin, Nikoleta S StamatakibioRxiv 2022.11.17.516749; doi: https://doi.org/10.1101/2022.11.17.516749
  2. บัวเพ็ชร พงศ์พันธ์. (2022, August 24). สารทดแทนความหวาน ทำให้ความทนน้ำตาลบกพร่อง ? อาจทำให้เป็นเบาหวาน !?! Fat Fighting. Retrieved December 9, 2022, from https://www.fatfighting.net/article-2022-08-24-non-nutritive-sweeteners-on-human-glucose-tolerance/
  3. Stamataki NS, Crooks B, Ahmed A, McLaughlin JT. Effects of the Daily Consumption of Stevia on Glucose Homeostasis, Body Weight, and Energy Intake: A Randomised Open-Label 12-Week Trial in Healthy Adults. Nutrients. 2020; 12(10):3049. https://doi.org/10.3390/nu12103049
  4. Grotz, V. L., Pi-Sunyer, X., Porte, D., Jr, Roberts, A., & Richard Trout, J. (2017). A 12-week randomized clinical trial investigating the potential for sucralose to affect glucose homeostasis. Regulatory toxicology and pharmacology : RTP, 88, 22–33. https://doi.org/10.1016/j.yrtph.2017.05.011
  5. Kelly A Higgins, Richard D Mattes, A randomized controlled trial contrasting the effects of 4 low-calorie sweeteners and sucrose on body weight in adults with overweight or obesity, The American Journal of Clinical Nutrition, Volume 109, Issue 5, May 2019, Pages 1288–1301, https://doi.org/10.1093/ajcn/nqy381
  6. Serrano, J., Smith, K.R., Crouch, A.L. et al. High-dose saccharin supplementation does not induce gut microbiota changes or glucose intolerance in healthy humans and mice. Microbiome 9, 11 (2021). https://doi.org/10.1186/s40168-020-00976-w

GO TOP

🎉 You've successfully subscribed to Fat Fighting!
OK