การออกกำลังกายช่วยเพิ่มความไวอินซูลินให้สมองได้ !!

การออกกำลังกาย ไม่เพียงส่งผลดีต่อความไวอินซูลินของกล้ามเนื้อเท่านั้นนะครับ แต่ยังส่งผลดีต่อความไวอินซูลินของสมองด้วย


การออกกำลังกายช่วยเพิ่มความไวอินซูลินให้สมองได้ !!

ฮึ่ย เห็นหัวข้องานวิจัยนี้แล้วผมอยากจะมอบรางวัลโนเบลให้เลย ไม่น่าเชื่อเลยว่าการออกกำลังกายจะเพิ่มความไวอินซูลินได้ เพราะว่าปัจจุบัน ถ้าเราดูตามสื่อสังคมออนไลน์ จะพบแต่คลิปที่บอกว่าต้องอดอาหาร ต้องลดคาร์บ ตัดน้ำตาลเท่านั้น ว่อนเต็มไปหมด 555

แถมยังมี หมอ(มั้ง)บางคนบอกว่า คนที่ใช้ไขมันไม่ได้ไม่ควรออกกำลังกายอีก ถ้าไปออกกำลังกายเหมือนกดคนให้จมน้ำอะไรซักอย่างนี่แหละ ว่าไปนั่น น่ากลัวโคตรๆ ต้องไปอดอาหาร (IF) ไปทาน Low carb ทาน Keto สอนร่างกายให้ใช้ไขมันเป็นก่อนอีก OMG

จริงๆ เรื่องที่การออกกำลังกายนั้นดีต่อการเพิ่มความไวอินซูลิน ก็เป็นที่รับรู้กันมานานแล้วนะครับ แต่ข้อมูลเรื่องผลที่มีต่อความไวอินซูลินของสมอง อาจจะไม่ได้ค่อยมีการศึกษาหรือพูดถึงมากนัก (ถ้าเทียบกับงานที่ศึกษาในกล้ามเนื้อ ผมจะเจองานในกล้ามเนื้อเยอะกว่ามาก)

บางท่านอาจจะไม่คุ้นว่าสมองเราดื้ออินซูลินได้ด้วยเหรอ ? ได้นะครับ สมองก็ดื้ออินซูลินได้เหมือนเซลล์อื่นๆ ที่ดื้อเป็น การดื้ออินซูลินของสมอง มีผลต่อเมตาบอลิซึมของส่วนอื่นๆด้วย แถมยังสัมพันธ์ต่อการที่เรากลับมาอ้วนใหม่หลังจากลดน้ำหนักไปแล้วได้ด้วย

งานนี้เป็นการศึกษาของ Kullmann และคณะ (2022) [1] เขาก็เลยศึกษาผลของการออกกำลังกาย ต่อความไวอินซูลินของสมอง ว่ามีความสัมพันธ์ยังไงกันบ้าง โดยเฉพาะสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลของเมตาบอลิซึมของทั้งร่างกาย และพฤติกรรมของเรายังไงบ้าง

ศึกษาในคนกลุ่มไหน ?

งานนี้เขาก็เอาคนผู้วัยผู้ใหญ่ จำนวน 21 คน ผู้ชาย 7 อายุระหว่าง 21-59 (เฉลี่ย 31) ซึ่งมีภาวะน้ำหนักเกินถึงอ้วน มีพฤติกรรมเนือยนิ่ง (Sedentary) มีความเสี่ยงที่จะเป็นเบาหวานประเภท 2 มาศึกษา

ศึกษายังไง ?

วิธีการที่ให้ทำคือให้ออกกำลังกาย สัปดาห์ละ 3 วัน เป็นการฝึก Endurance วันละ 1 ชั่วโมง มีผู้ควบคุมการออกกำลังกายดูแลอยู่ด้วย กิจกรรมที่ให้ทำ ก็มีทั้งวิ่ง และปั่นจักรยาน โดยให้ทำที่ 80% VO2peak โดยทำการศึกษาทั้งสิ้น 8 สัปดาห์

รูปแบบระยะเวลาการศึกษาและตำแหน่งการประเมินผลต่างๆ

พวกการวัดผลต่างๆนี่ละเอียดอยู่นะครับ มีทั้งการดู Gas analysis ระหว่างการออกกำลังกาย ดูความทนน้ำตาลทำ OGTT ทำ MRI ดูการกระจายตัวของไขมัน ดู Muscle biopsy มีการตรวจสอบสมองด้วย fMRI  ด้วย (เพราะเขาต้องการศึกษาเรื่องความไวอินซูลินของสมองนี่เนาะ) ดูผลหลายอย่างละเอียดเลยทีเดียว

ผลที่ได้คือ ?

ผลที่ได้คือหลังจากออกกำลังกายครบ 8 สัปดาห์ ความฟิตของระบบหลอดเลือดหัวใจและปอด การหายใจระดับเซลล์ในกล้ามเนื้อพัฒนาดีขึ้น ไขมันในกล้ามเนื้อ และระดับน้ำตาล Fasting ลดลง (ซึ่งขัดกับที่ศาสดาบางคนไม่แนะนำให้ออกกำลังกายเป็นอันดับแรกอย่างสิ้นเชิง) peripheral insulin sensitivity มีความแตกต่างกันไปในแต่ละคน

ภาพรวมของสิ่งที่เกิดขึ้น

ในส่วนของความไวอินซูลินของสมอง ก็ดีขึ้นหลังจากออกกำลังกายแบบแอโรบิค (วิ่งและปั่นจักรยาน) ครบ 8 สัปดาห์ ซึ่งก็สัมพันธ์กับผลดีที่ได้ต่อเมตาบอลิซึมส่วนอื่นๆ และพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปด้วย ซึ่งการที่ความไวอินซูลินของสมองดีขึ้น ก็อาจจะส่งผลดีต่อด้านอื่นๆ ตามมาด้วยก็ได้

ไม่เพียงแต่ดีกับความไวอินซูลินของสมอง การออกกำลังกายแบบแอโรบิคยังส่งผลดีต่อเรื่องของความดันโลหิตด้วยนะครับ [2] ถ้าเราเป็นคนที่มีพฤติกรรมเนือยนิ่ง นั่งทำงานแทบทั้งวันไม่ได้ขยับตัวเลย การออกกำลังเล็กน้อย ก็ส่งผลดีได้นะครับ ดีกว่าไม่ได้ออกเลย [3]

สรุป ?

การออกกำลังกายส่งผลดีไม่เพียงต่อความไวอินซูลินของส่วนอื่นๆ ในร่างกาย ยังส่งผลดีต่อความไวอินซูลินของสมองด้วยนะครับ

มาถึงตรงนี้ อาจจะมีคนคิดค้านในใจว่า การให้คนอ้วนไปออกกำลังกายนั้น เหมือนเอาเขาไปฆ่า จริงๆแล้วระดับ intensity ในการออกกำลังกายที่เขาให้ทำนั้น มันเป็น relative นะครับ เห็นกำหนด 80% VO2peak เนี่ย อย่าไปคิดถึง pace หรือ speed ของคนที่ฟิตมากๆ ความฟิตของแต่ละคนทำได้แค่ไหน ก็ทำไปที่ 80% ของความสามารถสูงสุด แค่นั้นเองครับ

อ้างอิง

  1. Kullmann, S., Goj, T., Veit, R., Fritsche, L., Wagner, L., Schneeweiss, P., Hoene, M., Hoffmann, C., Machann, J., Niess, A., Preissl, H., Birkenfeld, A. L., Peter, A., Häring, H. U., Fritsche, A., Moller, A., Weigert, C., & Heni, M. (2022). Exercise restores brain insulin sensitivity in sedentary adults who are overweight and obese. JCI insight, 7(18), e161498. https://doi.org/10.1172/jci.insight.161498
  2. บัวเพ็ชร, พงศ์พันธ์. (2022, June 11). โรคความดันโลหิตสูง ออกกำลังกายแบบแอโรบิคช่วยลดความดันได้. Fat Fighting. Retrieved September 26, 2022, from https://www.fatfighting.net/article-2022-06-11-effect-of-aerobic-training-on-blood-pressure-in-hypertensive-patients/
  3. บัวเพ็ชร, พงศ์พันธ์. (2022, September 6). นั่งทำงานทั้งวัน แทบไม่ได้ขยับตัวไปไหน ไม่มีเวลาออกกำลังกาย จะเพิ่มการเผาผลาญยังไงได้บ้าง. Fat Fighting. Retrieved September 26, 2022, from https://www.fatfighting.net/article-2022-09-05-a-potent-physiological-method-to-magnify-and-sustain-soleus-oxidative-metabolism-improves-glucose-and-lipid-regulation/

GO TOP

🎉 You've successfully subscribed to Fat Fighting!
OK