แม่จ๋าอย่ากินอันนี้ หนูไม่ชอบ เสียงที่เราไม่ได้ยินจากนู๋น้อยในครรภ์

อาหารที่ว่าที่คุณแม่ทานขณะตั้งครรภ์ ส่งผลต่อตัวอ่อนที่อยู่ในท้องหลายๆด้าน เจ้าหนูเหล่านี้ มีความชอบไม่ชอบต่อรสชาติต่างๆ และแสดงออกทางสีหน้าได้ตั้งแต่อยู่ในท้อง


แม่จ๋าอย่ากินอันนี้ หนูไม่ชอบ เสียงที่เราไม่ได้ยินจากนู๋น้อยในครรภ์

หลายคนคงทราบกันดีอยู่แล้วนะครับว่า อาหารที่คุณแม่ทานตอนตั้งครรภ์นั้นส่งผลต่อตัวอ่อนที่อยู่ในท้อง ซึ่งจะส่งผลต่อมาหลังจากนั้นอีกหลายๆด้าน แต่เราอาจจะไม่รู้ว่า จริงๆแล้วเจ้าตัวจิ๋วเขาชอบหรือไม่ชอบกินอะไร

งานนี้เป็นการศึกษาของ Ustun และคณะ (2022) [1] เพื่อดูการตอบสนองของตัวอ่อน (human fetus responsiveness) ต่อรสชาติอาหาร (flavors) หลังจากให้ทานอาหารชนิดต่างๆ ว่าเจ้าหนูมีสีหน้าตอบสนองยังไงบ้างนะครับ เขาบอกว่าเป็นงานแรกที่รายงานไอ้สิ่งนี้ด้วย ผมก็ไม่ได้ศึกษางานด้านนี้มาก่อน เขาว่าแรกก็ว่าตามเขาละกัน ก็น่าสนใจดีครับ ^^)

Ustun และคณะ (2022)

ศึกษาในคนกลุ่มไหน ?

แน่นอนเปิดหัวมาแบบนี้ เขาย่อมต้องศึกษาในหญิงตั้งครรภ์ ก็ศึกษาจากคุมแม่ 100 คนอายุระหว่าง 18-40 ปี ทุกคนสุขภาพดีปกตินะครับ แล้วก็นำมาแสกนดูตัวอ่อนในท้องหลังจากให้ทานแคปซูลที่เป็น แครอท และ ผักเคล โดยเขาให้แครอทเป็นตัวแทนของรสหวาน และผักเคล เนี่ยเขาบอกว่ามันถูกเลือกมาเป็นความขม

ศึกษายังไง ?

เขาคาดว่าตัวอ่อนจะแสดงสีหน้าที่แตกต่างกันไปตามอาหารที่ให้แม่ทาน การดูสีหน้าตัวก่อนใช้วิธีการแสกน 4D แล้วเขาก็มีข้อกำหนดไว้นะ ว่าส่วนต่างๆของใบหน้าเป็นยังไง ถึงจะเป็นเกณฑ์ของการยิ้ม หรือร้องไห้ มีการแสกนสองครั้งตอนที่อายุครรภ์ 32 สัปดาห์ และ 36 สัปดาห์เอามาเทียบกัน

ผลที่ได้คือ ?

ผลที่ได้คือพบว่าตัวอ่อนเนี่ย แสดงสีหน้าตอบสนองกับรสชาติอาหารที่แม่ทานด้วยนะครับ หลายคนยิ้มเมื่อทานแครอท และหลายคนร้องไห้ เมื่อทานผักแคล ๕๕๕  แต่ก็ไม่ใช่ว่าว่าที่เด็กๆเขาจะชอบแครอท หรือไม่ชอบผักเคลกันทุกคนนะครับ มันก็มีส่วนที่แตกต่างจากกลุ่มใหญ่อยู่เหมือนกัน

การตอบสนองทางสีหน้าของตัวอ่อนในระยะต่างๆ 

สรุป

ซึ่งเขาก็สรุปไว้ว่า ตัวอ่อนสามารถรับรู้สารเคมี (chemosensory) จากอาหารที่แม่กิน และสามารถแสดงออกผ่านสีหน้าได้ ซึ่งความชอบหรือไม่ชอบต่อรสชาติต่างๆ ตั้งแต่อยู่ในท้องนี่ก็อาจจะส่งผลต่อ ความชอบไม่ชอบ เลือกไม่เลือก อาหารชนิดต่างๆ หลังคลอดออกมาได้

ในทางปฎิบัติข้อมูลนี้ อาจจะไม่ได้มีประโยชน์อะไรกับเราโดยตรงนะครับ ผมคิดว่าเขาน่าจะไปศึกษากันต่อแหละ แต่จากที่เห็นเนี่ย ก็ทำให้เราเห็นได้ชัดมากขึ้นว่าสิ่งที่เราทานตอนตั้งครรภ์มีผลต่อน้องๆหนูๆ ที่กำลังจะออกมาในหลายมิติ ดังนั้นเราจะทานหรือจะทำอะไรในช่วงนี้ ก็อาจจะต้องคิดเผื่อเขาด้วยนะครับ เพราะเขานั้นเลือกเองยังไม่ได้

อ้างอิง

  1. Ustun, B., Reissland, N., Covey, J., Schaal, B., & Blissett, J. (2022). Flavor Sensing in Utero and Emerging Discriminative Behaviors in the Human Fetus. Psychological Science, 0(0). https://doi.org/10.1177/09567976221105460

GO TOP

🎉 You've successfully subscribed to Fat Fighting!
OK