อย่างที่เราทราบๆกันดีอยู่ ว่าคนที่นั่งทำงานต่อเนื่องนานๆ ในทุกๆวัน เป็นรูทีนเนี่ย มีความเสี่ยงต่อสุขภาพนะครับ ก่อนหน้านี้มีงานวิจัยเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงานของมนุษย์ออฟฟิศ กันไปบ้างแล้ว ก็พบว่าทำให้ระยะเวลานั่งติดโต๊ะเนี่ยลดลง
งานนี้เป็นการศึกษาของ Edwardson และคณะ (2022) [1] เขาก็ศึกษาต่อไปว่า ถ้าใช้เก้าอี้แบบ Sit Stand เผื่อใครไม่รู้ว่ามันคืออะไร เป็นเก้าอี้ที่ปรับระดับได้ ทำให้เราสามารถยืนหรือนั่งทำงานได้ (แน่นอนโต๊ะก็ต้องปรับจากโต๊ะนั่งอย่างเดียวด้วย) เขาศึกษาดูว่าเมื่อนำกลยุทธ์ต่างๆ มาใช้ร่วมกันจะมีผลเป็นยังไงบ้าง

ศึกษาในคนกลุ่มไหน ?
เขาก็ศึกษาในคนทั่วๆไปเนี่ยนะครับ ทั้งชายหญิง 1113 คน อายุเฉลี่ยๆ 44.7 ปี ตามที่ทำงานของรัฐหลายๆแห่ง ในสหราชอาณาจักร ศึกษานานอยู่นะครับ ทำเป็นระยะเวลา 1 ปีเลย
ซึ่งอย่างที่บอกว่านี่เป็นการศึกษาที่ต่อเนื่องมา ก่อนหน้านี้ เขามีรูปแบบการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ที่เขาเรียกว่า SMART Work and Life (SWAL) อยู่แล้วแล้วงานนี้เขาก็เพิ่มเรื่อง โต๊ะและเก้าอี้ทำงานแบบ Sit Stand เข้ามาเพิ่ม นอกจากนั้น ก็มีการปรับเปลี่ยน บริเวณที่ทำงานด้วย จัดตำแหน่งที่วางเครื่องพิมพ์ ถังขยะทิ้งเอกสาร ต่างๆ ให้พนักงานมีความแอคทีฟมากขึ้น
ศึกษายังไง ?
เขาก็แบ่งกลุ่มตัวอย่างเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มที่เป็นกลุ่ม Control อันนี้ไม่ต้องทำอะไร ใช้ชีวิตเดิมๆไป กลุ่มที่สองเป็นกลุ่ม SWAL กลุ่มที่สามเป็นกลุ่ม SWAL + Desk ที่เรียกว่ากลุ่มๆเนี่ยไม่ใช่ว่าที่นึงมีทั้งสามกลุ่มนะครับ เขาแยกเป็น cluster ๆ เลย หนึ่งสำนักงานก็หนึ่ง cluster ทำรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง
การประเมินผล ตัวหลักเป็น ระยะเวลานั่งติดเก้าอี้ (Daily sitting time ) เป็นการวัดโดยใช้ activPAL3 ซึ่งเป็นอุปกรณ์เก็บข้อมูลการเคลื่อนไหว นอกจากนั้นก็มีการเก็บข้อมูลการนอน การตื่น แล้วก็มีแบบสอบถามไว้ประเมินกิจกรรมในระหว่างวันแต่ละวัน แล้วก็เก็บข้อมูลสุขภาพ น้ำหนัก ส่วนสูง ความดัน ผลเลือด มีการประเมิน Mental health ดูเรื่องประสิทธิภาพการทำงานตั่งๆ
ผลที่ได้คือ ?
ผลที่ได้ ก็พบว่าการใช้เก้าอี้และโต๊ะแบบ Sit Stand เนี่ยนะครับ ก็ช่วยลดระยะเวลานั่งติดโต๊ะ ได้ดีกว่าการใช้แนวทาง SWAL เพียงอย่างเดียว เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมแล้ว ก็ลดลงทั้งคู่ แต่แบบใช้ Sit Stand + SWAL จะให้ผลที่ดีกว่าแบบ SWAL อย่างเดียว

ทีนี้เมื่อขยับลุกยืน เดินมากขึ้นแล้ว ไปดูข้อมูลสุขภาพและด้านอื่นๆกันบ้าง โห ทำตั้ง 1 ปี มันน่าจะเห็นอะไรบ้างแหละ ซึ่งก็เห็นจริงๆครับ เห็นว่าด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวกับทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจ แตกต่างจากกลุ่มควบคุมนิดหน่อยนะครับ มันมีผลมั้ย ก็ดูจะมีอยู่บ้างแต่ไม่มากนัก และดูก็ไม่ได้มีนัยสำคัญทางสถิติด้วย

สรุป
แม้ว่าการขยับที่เพิ่มขึ้นในงานอื่นๆ ที่ดูพวกความเสี่ยงต่างๆ จะให้ผลดีกว่าขยับน้อย แต่ถ้าเอาเฉพาะข้อมูลจากงานนี้ ดูเหมือนว่าจะทำอะไรหวังผลจริงๆจังๆ กับสุขภาพ แค่การปรับเปลี่ยนรูปแบบชีวิตประจำวันในสำนักงานเล็กน้อย นี่ดูจะส่งผลที่เล็กน้อยเกินไป เกินกว่าจะเห็นผลทางด้านสุขภาพอ่ะครับ เสียไต T T (บางผลกลุ่ม Control ที่ไม่ได้ปรับอะไรเลย ทั้งการขยับและ รูปแบบโต๊ะเก้าอี้ ก็ได้ผลใกล้เคียงกัน)
ถ้าจำเป็นต้องนั่งทำงานนานๆ สิ่งที่สำคัญมากกว่าอาจจะเป็นการดูสรีระของโต๊ะ เก้าอี้ให้สะดวกกับรูปแบบการทำงาน แล้วแบ่งช่วงพักสั้นๆลุกขึ้นยืน ขยับตัวบ้าง เป็นระยะๆ แล้วจัดเวลาไปออกกำลังกายทำให้เป็นประจำ สม่ำเสมอ และต่อเนื่อง น่าจะให้ผลที่ดีกว่านะครับ
อ้างอิง
- Edwardson, C. L., Biddle, S., Clemes, S. A., Davies, M. J., Dunstan, D. W., Eborall, H., Granat, M. H., Gray, L. J., Healy, G. N., Jaicim, N. B., Lawton, S., Maylor, B. D., Munir, F., Richardson, G., Yates, T., & Clarke-Cornwell, A. M. (2022). Effectiveness of an intervention for reducing sitting time and improving health in office workers: three arm cluster randomised controlled trial. BMJ (Clinical research ed.), 378, e069288. https://doi.org/10.1136/bmj-2021-069288