เพราะกรรมพันธุ์ ยังไงฉันก็ไม่มีทางผอมจริงรึเปล่า ?

ฉันมีกรรมพันธุ์อ้วนยังไงฉันก็ไม่มีวันผอม เราเป็นแบบนี้เพราะพันธุกรรม เราไม่สามารถเป็นแบบนั้นได้เพราะกรรมพันธุ์มันเป็บแบบนี้ มันเป็นแบบนั้นจริงๆรึเปล่า ?


เพราะกรรมพันธุ์ ยังไงฉันก็ไม่มีทางผอมจริงรึเปล่า ?

เชื่อว่าหลายคนคงเคยคิด หรือเคยเจอคนที่คิดแบบนี้ ว่าการที่เราอ้วน หรือเราผอมแห้ง ไม่มีเนื้อมีหนังสักที มันเป็นเพราะพันธุกรรม เป็นกรรมพันธุ์ เป็นเรื่องของยีน อ้วนแล้วอ้วนเลย ฉันถูกฟ้าลิขิตไว้ให้เป็นคนอ้วน บลาบลาบลา

เรื่องของพันธุกรรม (Genetic) ในปัจจุบันก็มีการศึกษากันไปเยอะแล้วนะครับ แต่ก็ยังมีอีกหลายอย่างที่ยังไม่มีความชัดเจนเช่นกัน อย่างยีนอ้วน (FTO Gene) นี่ก็มีการศึกษาพบว่าคนมียีนดังกล่าวมีโอกาสอ้วนได้มากกว่าคนไม่มี แต่ถ้ามียีนอ้วนแต่ไลฟ์สไตล์เราไม่เสี่ยงอ้วน กินโอเค ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ก็พบว่าไม่มีได้ทำให้อ้วนเสมอไป แม้จะมียีนดังกล่าว

ในงานเป็นการศึกษาของ Kujala และคณะ (2022) [1] นี้เขาไม่ได้ศึกษาผลของยีนตัวใดตัวหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เขาศึกษาผลของการมีกิจกรรมทางกาย (Physical Activity, PA) ในกลุ่มฝาแฝด โดยเป็นแฝดที่เกิดจากไข่ใบเดียวกัน และอสุจิตัวเดียวกัน (monozygotic twins) ซึ่งแฝดลักษณะนี้จะมี DNA ที่เหมือนกันทุกประการ แล้วมาลองดูว่าไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างกัน นั้นส่งผลยังไงบ้าง

ศึกษาในคนกลุ่มไหน ?

เขาศึกษาจากข้อมูล Cohort คู่แฝดในฟินแลนด์สองกลุ่ม FITFATTWIN กับ TWINACTIVE (ชื่อ Cohort) โดยเลือกเอาคู่แฝดที่แต่ละคนมี PA แตกต่างกัน คนนึง Active มาก อีกคนไม่ค่อย Active ข้อมูลจากทั้งสอง Cohort ก็มีจากการสอบถามจากแบบสอบถามแล้วก็สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ และสัมภาษณ์แบบเจอตัวจากทั้งสองกลุ่มได้แฝดมา 17 คู่ที่ตรงกับเกณฑ์ที่เขาจะนำมาศึกษาข้อมูล

ศึกษายังไง ?

จริงๆในแฝดที่เขานำข้อมูลมาศึกษา ก็ไม่ได้แตกต่างกันมากแบบคนนึงอ้วนคนนึงผอมนะครับ พูดถึงกิจกรรมทางกาย ก็เป็น More Active กับ Less Active ไม่ได้ถึงกับว่าคนนึงเป็นนักกีฬา อีกคนนึงเป็นนั่งๆนอนๆ (Sedentary) แต่ก็พอให้เห็นภาพคร่าวๆ ของความแตกต่างระหว่างคนที่ More Active และ Less Active ได้

ผลที่ได้คือ ?

ในข้อมูลก็มีการประเมินสิ่งต่างๆ อย่างความฟิต ก็นำมาปั่นจักรยานวัดงานเพื่อดู VO2Peak แล้วก็ดูน้ำหนักตัว ดู Body composition รอบเอว สัดส่วนไขมันร่างกาย และค่าเลือดที่เป็น biomarker สุขภาพต่างๆ ไขมัน (lipid profile) ไขมันในตับ ไขมันช่องท้อง เขาก็เอาข้อมูลนี้มาศึกษารวมกัน คร่าวๆก็ไม่ต่างจากที่น่าจะคาดเดาได้ คนที่ Active กว่าสิ่งต่างๆ ก็ดีกว่าอยู่มากบ้างน้อยบ้าง

ข้อมูลพื้นฐานต่างๆของทั้งสองกลุ่ม

ในงาน TWINACTIVE มีการเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อด้วย พบว่าในกล้ามเนื้อของคนที่ Active กว่าก็มี up-regulated pathway ที่แตกต่างกับคู่แฝดที่ไม่ค่อย Active ไอ้ตัวนี้คืออะไร เอาแบบคร่าวๆ ตัวนี้คือตัวที่บอกว่าในการทำงานระดับเซลล์ เซลล์จะจัดการกับสารพลังงานต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาได้มากน้อยกว่ากันขนาดไหน และคนที่ Active กว่าก็มีกระดูกที่หนากว่า หนาแน่นกว่า หลอดเลือดก็กว้างกว่า

ในงาน FITFATTWIN มีการดูเรื่องของเนื้อสมองส่วนสีขาวและสีเทา ก็พบว่ามีความแตกต่างกันระหว่างคนที่ Active และคนที่ไม่ค่อย Active ในรายละเอียดของส่วนต่างๆของสมองอ่ะนะครับ เอาแบบคร่าวๆเลยคือคนที่ Active มากกว่าจะปริมาตรส่วนที่เป็นส่วนสั่งการ (Motor control)

ภาพรวมของผลที่พบในงานนี้

ทั้งนี้ในข้อมูลทั้งสองงานที่เขานำมาใช้เนี่ย กลุ่มประชากรมันยังน้อยนะครับ แค่ 17 คน และการประเมินบางอย่างด้วยแบบการสอบถามก็อาจจะไม่ได้มีความชัดเจนนัก (ถ้าเทียบกับแบบเอาอุปกรณ์วัด PA ไปติดเป็นระยะเวลาที่กำหนดไรงี้) นอกจากนั้น ในความเป็นจริงของชีวิตปัจจัยที่เกี่ยวข้องอื่นๆ อาหาร การพักผ่อน ชีวิตประจำวัน หน้าที่การงาน การดื่มเหล้าสูบบุหรี่ ฯลฯ ก็มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยแหละ

Photo by Anton Malanin / Unsplash

ก่อนหน้านี้เคยพิมพ์ไว้ถึงเรื่องทานอาหารตามพันธุกรรม ว่าส่งผลหรือไม่ส่งผลยังไงบ้าง ซึ่งก็พบว่าไม่ได้มีผลอะไรนักนะครับ [2] ทั้งนี้ในเรื่องนั้นมีลิงค์ไปงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับยีนส์อ้วนด้วยนะครับ ใครสนใจก็ลองไปอ่านเพิ่มเติมกันได้ตามลิงค์เลย

สรุป

ก็พอให้เห็นภาพได้บ้างนะครับ ว่าแม้คนเราเกิดมาจากไข่ฟองเดียวกัน และอสุจิตัวเดียวกัน DNA เหมือนกันทุกอย่าง แต่เมื่อเติบโตขึ้น ระหว่างทางชีวิตของแต่ละคนพบเจอปัจจัยต่างๆ ที่แตกต่างกันไป มันก็มีความแตกต่างกัน

ถ้าสุขภาพเราในตอนนี้มันไม่สู้ดีนัก พันธุกรรมเราไปทำอะไรกับมันเองยาก ดูสิ่งที่เราทำได้ดีกว่า ออกกำลังกาย โภชนาการ พักผ่อน อะไรทำดีได้แค่ไหน ทำให้ดีที่สุดเท่าที่ทำได้ เอาแต่โบ้ยไปที่กรรมพันธุ์ โทษดิน โทษฟ้า แต่ไม่ลงมือทำอะไร คงมีอะไรดีๆเกิดขึ้นได้ยาก

อ้างอิง

  1. Kujala, U. M., Leskinen, T., Rottensteiner, M., Aaltonen, S., Ala-Korpela, M., Waller, K., & Kaprio, J. (2022). Physical activity and health: Findings from Finnish monozygotic twin pairs discordant for physical activity. Scandinavian journal of medicine & science in sports, 32(9), 1316–1323. https://doi.org/10.1111/sms.14205
  2. บัวเพ็ชร พงศ์พันธ์. (2022, July 4). การกินตาม DNA กินตามยีน ได้ผลดีต่อการลดน้ำหนักจริงรึเปล่า ? Fat Fighting. Retrieved November 19, 2022, from https://www.fatfighting.net/article-2022-07-04-associations-between-genotype-diet-interactions-and-weight-loss/

GO TOP

🎉 You've successfully subscribed to Fat Fighting!
OK