ถ้าไม่กิน Low carb ไม่คุม Insulin จะลดน้ำหนักไม่ได้จริงรึเปล่า ?

จริงรึเปล่าที่เขาบอกกันว่า จะลดน้ำหนักต้องกินแบบ Low carb เพราะถ้ากินแบบ Low fat ทำให้ Insulin หลั่ง ยังไงก็ลดความอ้วน ลดน้ำหนักไม่ได้ ?


ถ้าไม่กิน Low carb ไม่คุม Insulin จะลดน้ำหนักไม่ได้จริงรึเปล่า ?

เมื่อดูเรื่องโภชนาการสำหรับลดน้ำหนัก ลดความอ้วน มันก็หนีไม่พ้น ประเด็นเรื่องกินแบบไหนดี อะไรเป็นสาเหตุให้อ้วน งานนี้เป็นงานคลาสสิกชิ้นนึง ที่มีเขาศึกษาในประเด็นที่น่าสนใจ ไม่ใช่แค่ว่ากินแบบไหน แต่ดูด้วยว่า Insulin มีผลยังไงบ้าง

ถ้าเรามีโลกสองใบ ดูเหมือนโลกใบนึงเขาจะเชื่ออย่างถึงที่สุดว่า Insulin นั้นไม่เพียงเป็นสาเหตุที่ทำให้อ้วน แต่ยังเป็นสาเหตุที่ทำให้ลดความอ้วนไม่ได้อีกด้วย แน่นอนว่าสำหรับกลุ่มนี้ ก็มักจะมัดรวมกันมา ทั้งการทำ IF ไม่ให้อินซูลินหลั่ง การกิน Low carb เพราะกลัว Insulin หลั่ง หรือแม้แต่ทาน Keto

แต่ในงานนี้เขาจะดูเฉพาะเรื่องของการทาน Low carb เทียบกับการทานแบบ Low fat ว่ามีผลยังไงต่อการลดน้ำหนักบ้าง และผลที่ว่านี้มีความเหมือนหรือแตกต่างกันยังไงบ้าง ในรูปแบบการหลั่งอินซูลินของแต่ละคน งานนี้เป็นการศึกษาของ Gardner และคณะ (2018) [1]

Gardner และคณะ (2018)

ศึกษาในคนกลุ่มไหน ?

เขาก็ทำการศึกษาในกลุ่มตัวอย่าง 609 คนมานะครับ เกณฑ์ในการคัดเลือก็เอาทั้งผู้ชายและผู้หญิงอายุระหว่าง 18-50 ปี มี BMI อยู่ระหว่าง 28-40 พวกภาวะสุขภาพเนี่ย เขามีเกณฑ์ว่าต้องไม่เป็นหนักแบบคุมไม่ได้ ถ้ารักษาอยู่แต่ว่าอาการนิ่งๆ ก็เข้าร่วมได้อยู่

ศึกษายังไง ?

จากนั้นแบ่งกลุ่มศึกษาแบบ 2x2 คือ diet x genotype ตรง Genotype นี่ต้องเล่าย้อนไปว่าก่อนหน้านี้มีการศึกษาแล้วมีสมมุติฐานว่า คนเราเนี่ยมันมียีนที่ตอบสนองกับการทานที่แตกต่างกัน บางคนเป็น Low fat responsive บางคนเป็น Low carb responsive โดยยีนที่เกี่ยวข้องหลักๆ มี 3 ตัวคือ PPARG, ADRB2 และ FABP2 ดังนั้นงานนี้เขาเลยจัดกลุ่มแยกตาม genotype ตรงนี้ด้วย

สรุปก็คือแบ่งการทานเป็น Low-carb และ Low-fat และการทานแต่ละกลุ่ม แบ่งกลุ่มคนที่อยู่ในแต่ละกลุ่มเป็นพวก Low-carb responsive และ Low-fat responsive อีกที เพื่อดูว่ายีนหรือพันธุกรรมดังกล่าว มีผลยังไงต่อการลดน้ำหนักด้วยการทานแต่ละแบบบ้าง นอกจากเรื่องยีน ก็ดูเรื่องระดับ Insulin ด้วย แต่อันนี้ไม่ได้นำมาจัดกลุ่ม เขาเก็บข้อมูลไว้แล้วนำมาวิเคราะห์ภายหลัง

ในการลดน้ำหนักนั้นเขาก็จัดกลุ่มให้ข้อมูลการทานสำหรับแต่ละกลุ่ม กลุ่มที่ให้ทาน Low ในอะไรก็ให้ทานสิ่งนั้นไม่เกินวันละ 20g ต่อวัน พลังงานที่ได้รับที่เหลือให้มาจากขั้วตรงข้าม ทานแบบนี้เป็นระยะเวลา 8 สัปดาห์ จากนั้นก็ให้ค่อยๆเพิ่มไอ้ที่ low ขึ้นมาสัปดาห์ละ 5-15g จนกว่าจะอยู่ในระดับที่เจ้าตัวคิดว่าโอเค หลังจากนี้ฉันจะกินแบบนี้แหละต่อไปเรื่อยๆ

เขาไม่ได้กำหนดเรื่องพลังงานอาหารให้นะครับ กิจกรรมให้ทำตามที่เคยทำอยู่อย่างต่อเนื่อง มีการให้ความรู้ในรูปแบบต่างๆ การเก็บข้อมูลทำในตอนแรกเพื่อเป็น baseline และเก็บตอน 3, 6 และ 12 เดือน โดยดูเรื่องอาหารที่ทาน ดูจาก 24hr diect multipass recall แบบไม่บอกล่วงหน้า กิจกรรมที่ทำก็มี physical activity recall questionnaire แล้วก็เก็บตัวอย่างเลือด และ body compositon

ผลที่ได้คือ ?

หลังจากวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติ ผลที่ได้คือ อันดับแรกแต่ละกลุ่มการทานนั้นไม่ค่อยแตกต่างกันเท่าไหร่ แม้ว่าจะไม่ได้กำหนดให้ทานแบบจำกัดพลังงาน แต่ว่าในแต่ละกลุ่มทานลดลงไปจาก baseline ประมาณ 500-600 แคลต่อวันในทุกกลุ่ม ในตอนแรกนั้นทุกกลุ่มก็ทานใกล้เคียงกัน และเมื่อแยกกลุ่มไปแล้ว ก็ทานได้ตามรูปแบบที่กำหนดกันทุกกลุ่ม

ส่วนผลของน้ำหนักนั้นเมื่อดูผลที่ 12 เดือน กลุ่ม Low fat ลดไปเฉลี่ย 5.3kg กลุ่ม Low carb ลดไปเฉลี่ย 6kg ก็แปลว่าทานแบบไหนลดน้ำหนักได้หมดนะครับ ทีนี้มาดูผลตามยีนบ้างว่า การมียีนว่าตอบสนองกับ Diet แต่ละแบบเป็นไงบ้าง ปรากฎว่า.. ไม่พบว่ามีผลอะไรนะครับ ไม่ว่าจะมียีนเป็น Low carb หรือ Low fat responsive ก็ลดน้ำหนักได้เหมือนกัน

ผลของการลดน้ำหนัก เมื่อแยกตามรูปแบบ Diet และ กลุ่มยีนตอบสนองต่อ Diet ที่แตกต่างกัน

แล้วแบบนี้มันจะมีประโยชน์ห่าอะไรที่จะไปดูว่ามียีนนี้ๆแล้วยังไงบ้าง ๕๕ อ่อ ลืมไปอย่างน้อยก็สร้างรายได้ให้กับที่ๆเขารับตรวจ DNA อิอิ ก็ถือว่ามีประโยชน์อยู่ ทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งเรื่องนี้ก็ไม่น่าแปลกใจเท่าไหร่ ในภายหลังมีงานที่เขาศึกษาเกี่ยวกับการทานตามยีน ว่ามีผลยังไงต่อการลดน้ำหนักบ้าง ก็พบว่าการทานตามยีน ไม่ได้มีผลอะไรต่อการลดน้ำหนักได้ดีกว่าวิธีอื่นยังไงนะครับ [2] การทานตามยีน ณ ปัจจุบัน มันยังไม่ถึงระดับที่ว่าศึกษากันจนให้ผลชัดเจนนะครับ [3] ให้ความสำคัญกับเรื่องพื้นฐาน แนวทาง สมดุลย์พลังงาน ปริมาณสารอาหารหลัก ต่างๆ ยังคงมีผลที่ชัดเจนมากกว่า

เอาละทีนี้มาดูกันที่ระดับ Insulin กันบ้างว่าคนที่มีระดับ Insulin ซึ่งตรวจหลังทานอาหาร 30 นาที สูง กลาง ต่ำ นั้นตอบสนองยังไงต่อการลดน้ำหนักแต่ละแบบบ้าง ก็ไม่พบว่ามีความแตกต่างอะไรนะครับ เฉลี่ยๆ ก็ลดได้เหมือนๆกัน และลดได้ใกล้เคียงกันด้วย

เมื่อแยกกลุ่มตามระดับ Insulin ก็พบว่าลดได้ไม่แตกต่างกัน

ทั้งนี้การศึกษาในงานนี้กลุ่มตัวอย่างมีความรู้ในระดับสูงนะครับ การควบคุมอาหาร โภชนาการ ความสามารถในการเข้าถึงอาหารก็อาจจะแตกต่างกันไปกับคนที่ มีการศึกษา อาชีพ หรือรายได้ที่แตกต่างกันไปอีก อันนี้อธิบายไว้ไม่ได้เป็นการเหยียดหรือแบ่งชนชั้นนะครับ แต่ว่าปัจจัยต่างๆเหล่านี้ ก็มีผลต่อการทำให้แต่ละคนสามารถอยู่กับไดเอทแต่ละอย่างได้มากน้อยแตกต่างกันไปเหมือนกัน

อันดับต่อมา ผลของอินซูลินเขาตรวจแค่หลังทำ Glucose challenge 30 นาที จริงๆระดับฮอร์โมนในร่างกายเรามันก็มีการเปลี่ยนแปลงตลอดวัน ไปตามกลไกต่างๆทางสรีรวิทยาที่แตกต่างกันไปแล้วแต่กิจกรรมที่เกิดขึ้น แล้วก็การประเมิน Physical Activity ใช้แค่การสอบถาม ความแม่นยำมันน้อยนะครับ

งานนี้นอกจากเรื่องการจัดกลุ่มเปรียบเทียบต่างๆแล้ว ความน่าสนใจก็อยู่ตรงที่ระยะเวลาที่ทำการศึกษา นานถึง 12 เดือนหรือ 1 ปีนะครับ ก็สอดคล้องกับอีกหลายการศึกษาที่ดูการลดน้ำหนักระยะเวลานานกว่า 6 เดือนขึ้นไปพบว่าผลของการลดน้ำหนัก ไม่ว่าจะทานแบบ Low carb หรือ Low fat ผลที่ได้ก็ไม่ได้แตกต่างกัน [4][5][6] และกลุ่มผู้เข้าร่วมการศึกษาก็มีจำนวนมากถึง 600 คน ซึ่งก็ถือว่าเป็นจำนวนที่มากพอสมควร

สรุป

โดยสรุปจากในงานนี้ เขาก็บอกไว้ว่า ในการลดน้ำหนักระยะเวลา 12 เดือนเนี่ย ไม่มีความแตกต่างกันระหว่างผลที่ได้จากการทานแบบ Low carb หรือ Low fat ไม่ว่าคนนั้นจะมียีนที่ตอบสนองต่อ Diet แต่ละประเภทหรือไม่ แล้วก็ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นคนที่มีระดับการหลั่ง Insulin สูงหรือต่ำ ลดได้ไม่แตกต่างกัน

ผลโดยสรุปของงานนี้

อ้างอิง

  1. Gardner, C. D., Trepanowski, J. F., Del Gobbo, L. C., Hauser, M. E., Rigdon, J., Ioannidis, J., Desai, M., & King, A. C. (2018). Effect of Low-Fat vs Low-Carbohydrate Diet on 12-Month Weight Loss in Overweight Adults and the Association With Genotype Pattern or Insulin Secretion: The DIETFITS Randomized Clinical Trial. JAMA, 319(7), 667–679. https://doi.org/10.1001/jama.2018.0245
  2. บัวเพ็ชร พงศ์พันธ์. (2022, July 4). การกินตาม DNA กินตามยีน ได้ผลดีต่อการลดน้ำหนักจริงรึเปล่า ? Fat Fighting. Retrieved October 23, 2022, from https://www.fatfighting.net/article-2022-07-04-associations-between-genotype-diet-interactions-and-weight-loss/
  3. บัวเพ็ชร พงศ์พันธ์. (2021, December 15). การทานอาหารตามยีน ตามพันธุกรรม. Fat Fighting. Retrieved October 23, 2022, from https://www.fatfighting.net/editor-talk-genotype-and-nutrition/
  4. Twells, L. K., Harris Walsh, K., Blackmore, A., Adey, T., Donnan, J., Peddle, J., Ryan, D., Farrell, A., Nguyen, H., Gao, Z., & Pace, D. (2021). Nonsurgical weight loss interventions: A systematic review of systematic reviews and meta-analyses. Obesity reviews : an official journal of the International Association for the Study of Obesity, 22(11), e13320. https://doi.org/10.1111/obr.13320
  5. Ge, L., Sadeghirad, B., Ball, G., da Costa, B. R., Hitchcock, C. L., Svendrovski, A., Kiflen, R., Quadri, K., Kwon, H. Y., Karamouzian, M., Adams-Webber, T., Ahmed, W., Damanhoury, S., Zeraatkar, D., Nikolakopoulou, A., Tsuyuki, R. T., Tian, J., Yang, K., Guyatt, G. H., & Johnston, B. C. (2020). Comparison of dietary macronutrient patterns of 14 popular named dietary programmes for weight and cardiovascular risk factor reduction in adults: systematic review and network meta-analysis of randomised trials. BMJ (Clinical research ed.), 369, m696. https://doi.org/10.1136/bmj.m696
  6. Johnston, B. C., Kanters, S., Bandayrel, K., Wu, P., Naji, F., Siemieniuk, R. A., Ball, G. D., Busse, J. W., Thorlund, K., Guyatt, G., Jansen, J. P., & Mills, E. J. (2014). Comparison of weight loss among named diet programs in overweight and obese adults: a meta-analysis. JAMA, 312(9), 923–933. https://doi.org/10.1001/jama.2014.10397

GO TOP

🎉 You've successfully subscribed to Fat Fighting!
OK