งานหนักไม่เคยฆ่าใคร ? งานวิจัยชิ้นนี้บอกว่า..

งานหนักเคยฆ่าใครรึเปล่าไม่รู้ แต่งานวิจัยชิ้นนี้พบว่า การทำงานที่มีกิจกรรมทางกายหนักยิ่งหนัก ยิ่งมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต บาดเจ็บ หรือพิการ จนต้องเกษียณก่อนวัยอันควร


งานหนักไม่เคยฆ่าใคร ? งานวิจัยชิ้นนี้บอกว่า..

จริงๆประโยคที่จั่วไว้ข้างต้นนี่ ส่วนตัวผมเองมักจะเจอมันออกมาจากนิ้ว หรือปาก คนที่ไม่ได้ทำงานหนักจริงๆ ในนิยามความหนักของผมอ่ะนะ 55 แต่นั่นแหละ งานที่จะเอามาแชร์วันนี้ เป็นงานที่ศึกษาเรื่องนี้แหละ

เป็นการศึกษาของ López-Bueno และคณะ (2022) [1] เขาศึกษาความสัมพันธ์ของกิจกรรมทางกายในการทำงาน (Occupational Physical Activity, OPA) และ บำนาญทุพพลภาพ (Disability Pension) ซึ่งก็คือเงินชดเชยรายได้ที่นายจ้าง หรือรัฐ จ่ายให้กับลูกจ้างเมื่อมีเหตุต้องหยุดทำงานชั่วคราวหรือเลิกจ้างก่อนวัยเกษียณเนื่องจาก ปัญหาสุขภาพ พิการ หรือบาดเจ็บอื่นๆ ที่เกิดจากการทำงาน

ศึกษายังไง ?

เป็นการศึกษาในสเปน เขาใช้ข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 436,525 คน เป็นผู้ชาย 57.7% อายุในช่วง 18-65 ปี เฉลี่ย 39.3 ปี เป็นการศึกษาแบบ Prospective cohort study ที่ศึกษาติดตามผล 13.6 ปี ก็เป็นข้อมูลที่ใหญ่เอาเรื่องนะครับ แล้วก็ติดตามผลกันนานเลยทีเดียว ในข้อมูลที่ศึกษาก็จะมีข้อมูลระดับของ OPA ของแต่ละคน ซึ่งใช้เกณฑ์ของ Andersen และคณะ

จากนั้นเขาก็ดูว่าในช่วงปี 2006-2019 ที่เขาติดตามข้อมูลอยู่ มีใครที่ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิตในช่วงนั้นบ้าง นอกจากนั้นก็จะเป็นข้อมูลพื้นฐานอื่นๆทั่วไป อายุ เพศ ระดับการศึกษา สัญชาติ และอื่นๆ จากนั้นเขาก็นำข้อมูลสองส่วนนี้มาศึกษาหาความสัมพันธ์กันทางสถิติ

ผลที่ได้คือ ?

ซึ่งก็พบว่าในช่วงที่ศึกษา มีผู้ชายจำนวน 18,191 คน คิดเป็น 4.2% และผู้หญิง 9,631 คน คิดเป็น 3% จากทั้งหมดที่ได้รับเงินบำนาญทุพพลภาพ ซึ่งก็แปลว่าพวกเขาเหล่านี้ต้องจบอายุการทำงานก่อนวัยอันควร อันเนื่องจากเหตุต่างๆข้างต้น เมื่อดูในทางสถิติความเสี่ยงเมื่อปรับเรื่องอายุแล้ว พบว่าคนที่มี OPA สูงมากนั้น มีความเสี่ยงมากถึง 2.74 ในผู้ชาย และ 1.99 ในผู้หญิง และ OPA ที่มากกว่า ก็มีความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น

ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นสอดคล้องกับ OPA ที่สูงขึ้น

และเมื่อปรับเรื่องของ อายุ  ระดับการศึกษา สัญชาติ ออกไปอัตราส่วนความเสี่ยงเปลี่ยนไปเล็กน้อย แต่ก็ยังคงไปในทิศทางเดิม คือ OPA ที่มากขึ้น ก็สัมพันธ์กับอัตราความเสี่ยงที่สูงขึ้นอย่างไรก็ตามรูปแบบการศึกษาของงานนี้ ซึ่งเป็น Cohort study ก็ยังมีข้อจำกัดในการตีความผลอยู่บ้างนะครับ ต้องไม่ลืมว่าเป็นการศึกษาถึงความสัมพันธ์ต่อความเสี่ยง อาจจะมีปัจจัยอื่นๆ ที่เป็นสาเหตุ นอกจาก OPA ด้วยนะครับ

ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นสอดคล้องกับ OPA ที่สูงขึ้น


ก็พอจะเห็นภาพอะไรบางอย่างได้อยู่นะครับ จริงๆก็ดูไม่ได้เหนือความคาดหมายเท่าไหร่ เพราะยิ่งทำงานที่มี OPA สูงมาก งานใช้แรงกาย ต้องยก หยิบ จับ เคลื่อนไหว ทำงานกับเครื่องจักร เครื่องมือต่างๆ ความเสี่ยงต่างๆ ก็มากขึ้น ผลที่ได้จากงานนี้ก็มองได้หลายมุมนะครับ ในแง่ผู้ประกอบการ ในแง่หน่วยงานกำกับดูแลสวัสดิภาพแรงงาน ในแง่ของตัวเราเอง หรือผู้เกี่ยวข้อง

ก่อนหน้านี้ผมเคยนำเสนองานที่เกี่ยวกับ OPA ไปงานนึง ซึ่งเขาศึกษาพบว่า OPA ที่มากไป ทำให้มีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพหลายด้าน และแม้เราจะทำงานมีการขยับร่างกายมากมาย เราก็ยังจำเป็นต้องออกกำลังกาย ให้เพียงพออยู่ด้วย [2]

สรุป

สำหรับเราเอง ถ้าเรามีการทำงานที่หนัก การพักผ่อนที่เพียงพอ การออกกำลังกายที่เหมาะสม ดูแลโภชนาการ สิ่งต่างๆเหล่านี้ ก็ยังเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้ร่างกายและสุขภาพ มีความแข็งแรงและลดความเสี่ยงต่างๆ จริงๆ เราน่าจะปิดตำนานวาทกรรม งานหนักไม่เคยฆ่าใครกันได้แล้วนะเนี่ย 55

อ้างอิง

  1. López-Bueno, R., Andersen, L. L., Calatayud, J., Casaña, J., Martínez-Jarreta, B., López-Gil, J. F., & Del Pozo Cruz, B. (2022). Association of occupational physical activity and disability pension in 756,159 Spanish workers: A prospective cohort study with 13 years follow-up. Preventive medicine, 166, 107380. Advance online publication. https://doi.org/10.1016/j.ypmed.2022.107380
  2. บัวเพ็ชร พงศ์พันธ์. (2022, March 16). พูดถึง PA หรือ physical activity อยู่บ่อยๆ PA เพิ่มขึ้น PA เยอะ ส่งผลดีต่อสุขภาพ ลดความเสี่ยงโรคต่างๆ แต่มันก็ต้องมีคนตั้งคำถามแน่ๆ ว่าเอ๊ะ แล้วทำไมบางคนทำงานที่ก็ขยับเขยื้อนทั้งวัน แต่อ้วน แต่เป็นความด้น เป็นเบาหวาน. Twitter. Retrieved December 21, 2022, from https://twitter.com/FatFightingClub/status/1504015766395363331

GO TOP

🎉 You've successfully subscribed to Fat Fighting!
OK