IF ในแง่มุมของการป้องกัน และรักษามะเร็ง มีผลได้จริงหรือไม่ ?

การทำ IF มีผลยังไงต่อการป้องกันและรักษามะเร็งบ้าง พบว่างานจำนวนมากทำในหนูนะครับ แต่ IF ก็มีข้อดี ถ้าทำแล้วลดน้ำหนักได้ ก็ส่งผลดีต่อการป้องกันและรักษามะเร็งได้


IF ในแง่มุมของการป้องกัน และรักษามะเร็ง มีผลได้จริงหรือไม่ ?

** บอกก่อนว่านี่ไม่ได้เป็นคำแนะนำทางการเพศ เอ้ย การแพทย์ นะครับ เป็นแค่การอ่านเจอเปเปอร์ที่น่าสนใจสำหรับผม แล้วนำมาแชร์กันเท่านั้น อย่าใช้อ้างอิงทางการแพทย์ ถ้าจะใช้ดราม่าด่ากันขิงกันอันนั้นยินดี ๕๕๕

งานนี้เป็นรีวิว เป็นการศึกษาของ Clifton และคณะ (2021) [1] ที่เขาพูดถึงเรื่องของ การทำ IF (Intermittent Fasting) ในด้านการป้องกัน (Prevention) และรักษา (Treatment) มะเร็งนะครับ เมื่อเป็นรีวิวก็คือเป็นการศึกษาจากงานต่างๆ เป็นการทบทวนความรู้ที่พบ นำแต่ละประเด็นจากหลายๆงาน หลายๆหลักฐานมาพูดถึง ใครสนใจรายละเอียดไปอ่านในงานเอาได้เลยนะครับ

Clifton และคณะ (2021)

ความอ้วนมีผลต่อความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็ง

ทีนี้ผมจะหยิบมาเล่าอีกที คือในช่วงแรกเนี่ยเขาพูดถึงว่า ความอ้วนเนี่ยมันส่งผลต่อการเป็นมะเร็งได้ ลำพังอ้วนอย่างเดียวก็เสี่ยงต่อมะเร็ง 13 ชนิดแล้ว ถ้ามีปัจจัยอื่นอีกก็ยิ่งเสี่ยงเพิ่มขึ้น ดังนั้นการที่ไม่อ้วนเนี่ย ความเสี่ยงต่างๆก็ลดลง หรือถ้าลดความอ้วนได้ ก็ให้ผลลัพธ์ต่อมะเร็งที่ดีขึ้นได้

การจำกัดพลังงานอาหาร และการ Fasting

ทีนี้การจำกัดพลังงาน (Calorie restriction) เนี่ย มันเป็นที่รู้กันมานานแล้ว ว่าให้ผลต่อการลดความอ้วน และส่งผลดีต่อมะเร็ง แต่เขามองว่ามันทำระยะยาวไม่ได้ ดังนั้น IF ก็อาจจะเป็นอีกแนวทางนึงที่เข้ามามีบทบาทได้ ไม่ว่าจะเป็นการอดแบบวันเว้นวัน อดสองวันในสัปดาห์ หรือแบบจำกัดเวลากิน (Time-restricted feeding) หรือแม้แต่แบบ อดหลอก (Fasting-mimicking diets)

ซึ่งเขาก็อ้างอิงถึงงานวิจัยที่เป็น RCT อีกหลายงานนะครับ ที่เป็นการวิจัยเพื่อลดความอ้วน ว่าส่งผลดีอะไรต่อมะเร็งบ้าง อันนี้ก็ยาวเป็นหน้าอ่ะ แต่โดยรวมก็คือ มันส่งผลดี เพราะการที่ลดไขมันในเนื้อเยื่อไขมันได้ มันก็ส่งผลดีหลายๆอย่างต่อมา ทั้งงานที่ทำในสัตว์ทดลองและในมนุษย์ (แต่เท่าที่อ่าน ก็ไม่ได้เขียนถึงว่ารักษาได้นะ มีแค่บอกว่าข้อบ่งชี้บางอย่างมันดีขึ้น หรือข้อบ่งชี้บางอย่างมันดีต่อความเสี่ยงที่ลดลง)

การวิจัยจำนวนมากทำในหนู

จากนั้นก็พูดถึงผลของ IF ต่อการพัฒนาของมะเร็งที่ทำการทดลองในหนู จากที่เขาอ้างอิงถึงในอีกหลายงาน ภาพรวมเนี่ย มันไม่คงที่ บางอันมีผลลบ บางอันดูอาจเป็นอันตราย (potentially harmful) แต่ก็ไม่ทราบว่าปัจจัยมาจากอะไร อาจจะเป็นช่วงเวลาที่อดอาหาร หรืออื่นๆ ก็ได้ ซึ่งเขาก็กล่าวว่ากลไกต่างๆ ที่เกิดขึ้นเราควรเข้าใจมันให้ดี คำนึงถึงความปลอดภัย ก่อนที่จะตัดสินใจให้คนป่วยทำ

ส่วนงานที่ทำในคน ส่วนมากเป็นงานที่ศึกษาความเป็นไปได้ (feasibility) บางส่วนก็ดูผล secondary ที่เกี่ยวกับน้ำหนัก หรือ ค่าที่เกี่ยวกับ metabolic มีแค่งานที่เป็นมะเร็งลำไส้ ที่ดูการรอดชีวิตเป็นผลลัพธ์ ส่วนกลไกที่เกี่ยวข้องต่างๆ

Photo by Jie Wang / Unsplash

อีกหลายเรื่อง ทดลองในหนู ซึ่งผลก็จะไม่สามารถนำมาเทียบเคียงกับคนได้โดยตรงอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น IGF-1 , Ketone , Autophagy , Prolong Fasting ทั้งนี้ก็มีการทำ IF แบบที่ร่วมกับการรักษาแบบอื่นอยู่หลายงาน ที่เขานำมากล่าวถึงไว้ ตรงนี้จะเป็นภาพรวมๆ ว่าปัจจุบันก็มีการวิจัยที่กำลังทำอยู่ที่นำ IF ไปร่วมกับการรักษา ส่วนที่มีแล้วผลมันก็หลากหลายอ่ะนะครับ

สรุป

เขามองว่า IF เป็นวิธีนึงที่ ก็สามารถส่งผลต่อการป้องกันและช่วยในการรักษามะเร็งได้ เพราะว่า IF สามารถช่วยในการลดน้ำหนัก ลดไขมันได้ เป็นวิธีการที่ทำได้ไม่ยาก ไม่มีค่าใช้จ่ายอะไรมาก แต่เขาก็ไม่ได้เขียนสนับสนุนให้ทำเองนะ คือถ้าในการป้องกันหรือรักษา เขาก็แนะนำว่ามันควรอยู่ในการดูแลและควบคุม ได้รับการรักษาจากแพทย์

คีย์สำคัญก็คือ พวกงานหลายงานที่ศึกษาความเป็นไปได้ ต่อผลด้านต่างๆ ทำในหนู ซึ่งผลไม่เหมือนที่ทำในคน และผลก็ไม่คงที่ มีความหลากหลาย ผลดีต่อการป้องกัน หรือรักษามะเร็ง เกิดขึ้นได้จากการลดน้ำหนัก ถ้าทำแล้วลดน้ำหนักได้ ก็ส่งผลดีได้ แต่ถ้าทำแล้วลดน้ำหนักไม่ได้ เขาก็ไม่ได้กล่าวไว้นะครับ

อีกส่วนนึงเป็นคำแนะนำทางการแพทย์ อันนี้ใครสนใจไปอ่านเองแล้วกัน :-)

อ้างอิง

  1. Clifton, K. K., Ma, C. X., Fontana, L., & Peterson, L. L. (2021). Intermittent fasting in the prevention and treatment of cancer. CA: a cancer journal for clinicians, 71(6), 527–546. https://doi.org/10.3322/caac.21694

GO TOP

🎉 You've successfully subscribed to Fat Fighting!
OK