กินผักเพิ่มขึ้นช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้

กินผักในมื้ออาหารเพิ่มขึ้น ไม่ใช่แค่ช่วยลดน้ำหนักได้ ยังมีผลต่อการช่วยควบคุม และลดระดับน้ำตาลในเลือด ในกลุ่มคนที่เป็นเบาหวานด้วยนะครับ


กินผักเพิ่มขึ้นช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้

งานนี้เป็นการศึกษาของ Yen และคณะ (2022) [1] เพื่อดูว่าการทานผักเพิ่มขึ้นนั้น มีผลยังไงกับระดับน้ำตาลในเลือด ในกลุ่มผู้เป็นเบาหวานประเภท 2 บ้างนะครับ กินผักเพิ่มขึ้นนะครับ แต่ไม่ได้หมายถึงให้ไปทาน Vegan จะว่าไปก็คล้ายแนว Plant forward [2] แต่อาจจะไม่ถึง Plant based ในบางนิยาม

ศึกษาในคนกลุ่มไหน ?

โดยกลุ่มที่เขาคัดมาร่วมงานวิจัยเนี่ย เป็นคนที่เป็นเบาหวาน อายุระหว่าง 18-55 ปี เป็นพนักงานบริษัทสื่อสารแห่งหนึ่งในอินโดเนเซีย ทั้งผู้ชายผู้หญิงนะครับ ทั้งหมดเป็นพนักงานในบริษัทเดียวกัน แต่ว่ามีหลายสาขา ได้ข้อมูลมาจาก 84 คน เป็นกลุ่มทานผักเพิ่ม 40 และกลุ่มควบคุม 41 หายไป 3 เพราะเปลี่ยนงานระหว่างทาง

A friends Humalog (Insulin Lispro) insulin pen, Humalog (Insulin Lispro) vial, and FreeStyle Freedom Lite blood glucose meter.
Photo by David Moruzzi / Unsplash

ศึกษายังไง ?

เป็นการศึกษาแบบ Cluster randomize clinical trial ดังนั้นการจัดการสุ่มจะสุ่มเป็นกลุ่มๆ ตามสาขา มีสาขาที่มีพนักงานเข้าร่วมอยู่ 6 สาขา แบ่งเป็นกลุ่มทดลอง 3 และควบคุม 3 ส่วนแต่ละคนนั้นเป็นแบบ non-blined ไม่ปกปิดนะครับว่าตัวเองถูกกำหนดให้ใช้ intervention แบบไหน เขาก็เลยให้ทำเหมือนกันทั้งสาขาไปเลย ซึ่งก็จะโยงไปที่การอบรมหลังจากนี้ด้วย

เพราะว่าในกลุ่มที่ให้ทานผักเพิ่มขึ้น จะมีการอบรมแบบ Empowerment Model บิ้วให้มีการทานผักเพิ่มขึ้น เฮ ทานผักเพิ่มขึ้น เฮ ต้องกินอะไร กินผัก ต้องกินอะไร กินผัก !! ๕๕ จริงๆอาจจะไม่ใช่แบบนี้หรอก ผมก็จำลองจากที่เคยเห็นการอบรมบางอันมา ๕๕๕ ส่วนกลุ่มควบคุม ก็ให้ความรู้ในการโภชนาการเพื่อการลดน้ำหนักแบบดีๆนี่แหละ แต่ไม่ได้เน้นว่าให้กินผักมากขึ้น

การเก็บข้อมูลอาหารที่ทาน ก็ใช้แบบสอบฟอร์ม Semi-quantitative food-frequency questionnaire และ 24-h dietary recall แล้วก็เก็บผลเลือดมาวิเคราะห์ดูระดับน้ำตาล fasting , HbA1C และค่า lipid ต่างๆ มีการเก็บข้อมูลรูปร่าง (Anthropometry) ก็วัดสัดส่วนมาตรฐานแหละครับ

Food practice for a menu shoot.
Photo by Randy Fath / Unsplash

ผลที่ได้คือ ?

ผลที่ได้หลังจากผ่านไป 12 สัปดาห์นะครับ อันดับแรกก็พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงทางด้านอาหารที่แต่ละกลุ่มทานจริงๆ แสดงว่าการอบรม การโค้ชชิ่งของเขานั้นก็ได้ผลอยู่ กลุ่มที่ทานผักเพิ่ม ทานผักเพิ่มได้ค่ากลางวันละ 787g เยอะอยู่นะเนี่ย อีกกลุ่มก็ทานเพิ่มได้ค่ากลาง 103g เพิ่มมากขึ้น แต่ก็น้อยกว่า

ด้านพลังงานอาหาร กลุ่มที่ทานผักเพิ่มขึ้นเนี่ย ทานพลังงานลดลงค่อนข้างจะทุกคนเลย ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจเท่าไหร่ เพราะผักนั้นพลังงานต่อปริมาตรต่ำ อีกกลุ่มนึงก็ทานพลังงานลดลงเช่นกัน แต่ก็ลดลงไม่ได้เยอะเท่า ในส่วนของสารอาหาร กลุ่มทานผักเพิ่มขึ้นนั้นทานคาร์บลดลงมากเลย ก็น่าจะเป็นอีกจุดนึงที่ทำให้น้ำหนักลด

ทั้งสองกลุ่มลดน้ำหนักได้ ค่าเลือดดีขึ้น แต่กลุ่มที่เน้นให้ทานผักเพิ่มขึ้นนั้น ลดน้ำหนักได้มากกว่า (3.1kg กับ 1.1kg) ลดรอบเอวได้มากกว่า (3.1cm กับ 0.9cm) พวกค่าเลือดมีผลดีกว่าอยู่ในภาพรวมนะครับ รายละเอียดลองดูในตาราง หรือดูในงานได้เลย

Vegan salad bowl
Photo by Anna Pelzer / Unsplash

สรุป

เขาก็สรุปว่าไอ้การทานผักเพิ่มขึ้นนั้น เป็นวิธีที่ดีที่ช่วยในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ ลดน้ำหนักได้ แล้วก็ทำให้ค่าต่างๆ ที่เกี่ยวกับ Metabolic นั้นดีขึ้น อย่างไรก็ตามไม่ได้มีการตรวจระดับการรับพิษจากยาฆ่าแมลงนะครับ หยอกๆ 55

เท่าที่ดู สาเหตุหลักๆก็เป็นเรื่องว่าผักเนี่ย มันลด Energy density ทำให้พลังงานอาหารที่ได้รับมันลดลง เพิ่มความอิ่ม ลดความหิว แล้วก็ไฟเบอร์ในเนี่ยก็มีผลดีต่อพวก lipid อยู่ด้วยนะครับ ทานผักก็มีประโยชน์แหละครับ แต่ก็อย่างที่ว่า ระวังเรื่องสารตกค้าง ใครไม่ค่อยทานผัก ตอนแรกๆ ก็ค่อยๆเพิ่มนะครับ ไม่ใช่แค่เราฝึกกินผัก แต่ท้องไส้ รวมถึงจุลินทรีย์ต่างๆ เราก็ต้องค่อยๆฝึกรับมือกับผักด้วยเช่นกัน

อ้างอิง

  1. Yen, T., Htet, M., Lukito, W., Bardosono, S., Setiabudy, R., Basuki, E., . . . Fahmida, U. (2022). Increased vegetable intake improves glycaemic control in adults with type 2 diabetes mellitus: A clustered randomised clinical trial among Indonesian white-collar workers. Journal of Nutritional Science, 11, E49. doi:10.1017/jns.2022.41
  2. American Heart Association. (2022, June 2). How does Plant-Forward (Plant-Based) Eating Benefit your Health? Www.Heart.Org. Retrieved July 21, 2022, from https://www.heart.org/en/healthy-living/healthy-eating/eat-smart/nutrition-basics/how-does-plant-forward-eating-benefit-your-health

https://doi.org/10.1017/jns.2022.41

GO TOP

🎉 You've successfully subscribed to Fat Fighting!
OK