กินเป็นพายุแบบนี้ไงมันถึงได้อ้วน

กินเร็วกินช้า มีผลต่อความอ้วนแตกต่างกันยังไงบ้าง ?


กินเป็นพายุแบบนี้ไงมันถึงได้อ้วน

ก่อนจะไปต่อต้องบอกไว้ก่อนว่างานนี้เป็นการศึกษาในเด็กนะครับ เพื่อศึกษาหาความสัมพันธ์ของพฤติกรรมการทาน ว่าด้วยความเร็ว (eating speed) หรือระยะเวลาในการทาน ว่ามีความสัมพันธ์ยังไงบ้างกับภาวะอ้วนบ้าง

เป็นการศึกษาของ Garcidueñas-Fimbres และคณะ (2022) [1] โดยเป็นการศึกษาแบบ Cross-sectional study ดูความสัมพันธ์ของทั้งสองอย่างที่ว่า รวมไปถึง diet quality , ไขมันสะสม และภาวะเสี่ยงต่อ cardiometabolic ในเด็กอายุระหว่าง 3-6 ปี ทำขึ้นระหว่างมีค.2019 ถึง มิย.2021 ในกลุ่มเด็กที่ยังไม่มีปัญหาภาวะ Metabolic syndrome ต่างๆ

วิธีศึกษา

จริงไอ้เรื่องความเร็วความช้าเนี่ย มันก็ยังไม่ถึงกับว่ามีมาตรฐานกำหนดนะครับ ดังนั้นในงานนี้ เขาก็จะคำนวณความเร็วในการทานออกมาจากคำถามในแบบสอบถามว่าเด็กแต่ละคนกินอาหารแต่ละมื้อใช้เวลานานเท่าไหร่ แล้วมาคำนวณแบ่งเป็น 3 ส่วน (tertiles) ร่วมกับแบบสอบถาม Child Eating Behaviour Questionnaire

ด้าน Diet quality ก็สอบถามผ่านแบบสอบถาม Mediterranean diet questionnaire (แน่นอนว่าถ้าทานใกล้เคียงแนวทาง Mediterranean diet ก็จะได้คะแนนตรงนี้สูง ซึ่งถ้าทำในประเทศอื่นก็ควรจะต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบอาหารที่ได้รับคะแนนคุณภาพที่แตกต่างกันไป) แล้วก็มีการเก็บตัวอย่างเลือดเพื่อนำไปดูพวกค่า น้ำตาล ไขมัน ต่างๆด้วยนะครับ

ผลที่ได้คือ ?

ได้ข้อมูลมาจากเด็ก 956 คน ชาย 51% อายุเฉลี่ย 4.8 ปี ข้อมูล 88% ตอบแบบสอบถามโดยแม่ ซึ่งถ้าเทียบกันแล้วเนี่ย เด็กที่อยู่ในกลุ่มกินเร็ว จะอ้วนกว่าเด็กที่เป็นกลุ่มกินช้า น้ำหนักตัวมากกว่า รอบเอวมากกว่า ค่าดัชนีมวลไขมันสูงกว่า ความดันตัวบนสูงกว่า น้ำตาลในเลือดสูงกว่า ทุกค่าสูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ชนะขาดเห็นๆ

ผลที่พบ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มทานช้าเป็นกลุ่มอ้างอิง

อันนี้อาจจะต้องออกตัวก่อนว่า ว่าไปตามข้อมูลและไม่ได้มีประเด็นบูลลี่นะครับ แต่ข้อมูลที่น่าสนใจอีกอย่างนึงที่พบคือในเด็กที่จัดอยู่ในกลุ่มทานเร็วนั้น แม่เด็กมี BMI และภาวะน้ำหนักตัว ที่มากกว่าแม่เด็กกลุ่มทานช้า แล้วก็มีระดับการศึกษาที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับแม่เด็กกลุ่มทานช้า อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ข้อมูลอื่นๆไม่พบอะไรที่มีนัยสำคัญทางสถิติ

เรื่อง Diet quality ความแตกต่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ แต่กลุ่มที่ทานช้าก็มีคะแนนโดยเฉลี่ยที่มากกว่ากลุ่มที่ทานเร็วกว่า อย่างไรก็ตาม การศึกษานี้เป็น Cross-sectional study ด้วยการศึกษาลักษณะนี้ ความเป็นเหตุของกันและกันก็ไม่ได้มีน้ำหนักมากพอที่จะบอกได้ชัดเจน

นอกจากนั้นก็เป็นข้อจำกัดเรื่องกลุ่มตัวอย่าง อันนี้ศึกษาในเด็กก่อนวัยเรียน ในวัยอื่นๆ หรือคนกลุ่มอื่นก็อาจจะได้ผลที่แตกต่างกันออกไป นอกจากนี้การใช้ BIA ดูมวลไขมันในเด็กก็อาจจะมีความคลาดเคลื่อนได้ และสำคัญที่สุดคือข้อมูลที่ทำการประเมินต่างๆ ทำด้วยการตอบแบบสอบถามด้วยตนเอง ดังนั้นโอกาสที่จะมีความคลาดเคลื่อนได้อีก

สรุป

ซึ่งเขาสรุปไว้ว่า การทานเร็วมีความสัมพันธ์กับปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้อ้วน และมีภาวะเสี่ยงทางสุขภาพ ซึ่งมันก็ค่อนข้าง make sense ในหลายบริบทอยู่นะครับ

อ้างอิง

  1. Garcidueñas-Fimbres, T. E., Paz-Graniel, I., Gómez-Martínez, C., Jurado-Castro, J. M., Leis, R., Escribano, J., Moreno, L. A., Navas-Carretero, S., Portoles, O., Pérez-Vega, K. A., Gil-Campos, M., López-Rubio, A., Rey-Reñones, C., De Miguel-Etayo, P., Martínez, J. A., Flores-Rojas, K., Vázquez-Cobela, R., Luque, V., Miguel-Berges, M. L., Pastor-Villaescusa, B., … Childhood Obesity Risk Assessment Longitudinal Study (CORALS) study investigators (2022). Associations between eating speed, diet quality, adiposity, and cardiometabolic risk factors. The Journal of pediatrics, S0022-3476(22)00759-4. Advance online publication. https://doi.org/10.1016/j.jpeds.2022.08.024

GO TOP

🎉 You've successfully subscribed to Fat Fighting!
OK