ฉันก็ไม่ได้กินไปเยอะเลยนะ ทำไมยังอ้วนอยู่อ่ะ

บางทีเราคิดว่าฉันกินไปไม่เยอะ แต่จริงๆมันอาจจะเยอะกว่านั้นก็ได้ หรือบางทีเราคิดว่าเอ๊ะ ฉันก็กินไปเยอะแล้วนะ แต่ทำไมน้ำหนักไม่ขึ้นเลยล่ะ จริงๆแล้วมันเป็นยังไงกันแน่


ฉันก็ไม่ได้กินไปเยอะเลยนะ ทำไมยังอ้วนอยู่อ่ะ

จะมีบางคนที่รู้สึกว่า เอ๊ะ เราก็ไม่ได้กินเยอะนะ แล้วนี่ไม่ได้มโนไปเองด้วย แต่มีการบันทึกไว้อ่ะ ว่ากินอะไรไปบ้าง ได้พลังงานเท่าไหร่ มันก็ไม่ได้เยอะจริงๆนะแกรรรร แล้วทำไมมันถึงไม่ลดเลย หรือบางคนที่ เอ๊ะ กินไปก็เยอะแล้ว เนี่ย track อาหารไว้ก็กินเยอะ แต่น้ำหนักไม่เพิ่มเลย มันเป็นกันแน่

งานนี้เป็นการศึกษาของ Kim และคณะ (2022) [1] ในงานนี้จริงๆก็ไม่ตรงกับที่เกริ่นไปนักนะครับ (เอ้า แล้วพิมพ์ทำไม ๕๕) แต่ก็นำใช้ได้ใกล้เคียงกันอยู่ คือเขาตั้งคำถามกับวิธีที่เราใช้ในการประเมินอาหารที่ทาน ซึ่งวิธีนึงที่นิยมใช้กันก็คือ การสัมภาษณ์การทานย้อนหลัง 24 ชั่วโมง (24 hour diet recall) ว่ามีความแม่นยำให้ข้อมูลพลังงานที่ทานจริงมากแค่ไหน

โดยเขานำ Doubly labeled water (DLW) ซึ่งเป็นวิธีมาตรฐานระดับ gold standard ในการวัดการใช้พลังงานรวมของร่างกาย (Total Energy Expenditure, TEE) มาใช้เปรียบเทียบกัน ว่าที่เราประเมินว่าเรากินจากที่เราจดจำได้ว่ากินอะไรไปบ้าง พอคิดคำนวณออกมาเป็นพลังงานอาหารแล้ว แตกต่างกันเท่าไหร่

ภาพอธิบายหลักการของวิธี DLW โดย Loeffelholz [2]

ศึกษาในคนกลุ่มไหน ?

งานทำในเกาหลี มีกลุ่มตัวอย่าง 72 คน (ชาย 36 หญิง 36) อายุระหว่าง 20-49 ปี เขากำหนดไว้ว่า BMI อย่างน้อย 18.5 แต่ไม่ถึง 25 ก็คือช่วง BMI คนรูปร่างเกณฑ์ปกติ ไม่อยู่ในการคุมอาหารเพื่อควบคุมน้ำหนัก ไม่มีภาวะป่วยหรือใช้ยาอะไร ไม่ได้เป็นนักกีฬา หรือออกกำลังกายหนักมาก พักอยู่ใกล้ๆบริเวณที่เขาทำการศึกษา สุดท้ายจบงานหลุดไป 1 คนเหลือ 72 คน

การเก็บข้อมูลเพื่อนำมาศึกษาก็มีทั้งการชั่งน้ำหนัก ในระหว่างการทำ TEE เพื่อดูการเผาผลาญ 14 วัน แล้วก็มีการวัดส่วนสูง วัดค่า Bodycomposition ต่างๆ ด้วย BIA ใช้เครื่อง Inbody 720 ซึ่งก็ได้มาตรฐานอยู่ ส่วนการเก็บข้อมูล 24hr diet recall ทำสัปดาห์ละ 3 ครั้ง วันธรรมดา 2 วันหยุด 1 วันเว้นวัน ก็เป็นรูปแบบตามมาตรฐานนะครับ จากข้อมูลต่างๆ เขาก็นำมาวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติ

ผลที่ได้คือ ?

ซึ่งก็พบว่า ข้อมูลการทาน Total Energy Intake (TEI) ที่ได้จากการประเมิน 24hr diet recall นั้นเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับ TEE ที่ได้จากวิธี DLW แล้วพบว่าพลังงานอาหารที่ทานนั้น รายงานต่ำกว่าที่ควรจะเป็น (Underreporting) แล้วต่ำไปเฉลี่ยราว 300 แคลต่อวันเลยนะครับเนี่ย

เปรียบเทียบระหว่าง TEI และ TEE

ถ้าดูแยกเพศ ผู้ชายนี่ต่ำกว่าควรไปร่วม 350 แคลต่อวัน เหมือนกินพิซซ่าไปชิ้นครึ่งแล้วไม่รู้สึกว่าได้กินไป ว่าง่ายๆ ถ้าพวกเขาบอกว่าเนี่ยกินไปก็ไม่ได้เยอะอะไรนะ ดูสิกินไปแค่วันละ 2000 แคลเอง แต่จริงๆพวกเขากินไป 2350 แคลต่อวัน อันนี้คิดจากค่าเฉลี่ยนะครับ ถ้าดูรายคนก็มีบวกลบมากน้อยกว่านี้อีก

ถ้าดูเป็นความสัมพันธ์ของค่า TEI และ TEE ก็ไปในทิศทางเดียวกันนะครับ แต่จะเห็นว่าข้อมูลส่วนใหญ่จะไปอยู่ในทางฝั่งของ Underreporting เสียมากกว่า ส่วนมากถ้าถามว่ากินอะไรไปบ้าง เก็บข้อมูลออกมาคำนวณพลังงานที่ทาน จะได้น้อยกว่าที่ทานไปจริงๆ ส่วนคนที่รายงานแล้วคิดออกมาได้มากกว่าที่ทานจริงๆ ก็มีบ้างแต่ไม่มากเท่าไหร่ (ในคนกลุ่มนี้)

ความสัมพันธ์ของ TEI และ TEE

ซึ่งข้อมูลจากงานนี้ ก็พบว่าการประเมินโภชนาการด้วยวิธี 24hr diet recall ในผู้ชายได้ผลต่ำกว่าจริงประมาณ 12.2% และในผู้หญิง 11.8% และถ้าในภาพรวมก็ต่ำกว่าจริง 12% เมื่อเทียบกับผลที่ได้จาก DLW

อย่างไรก็ตามอันนี้ก็คือข้อมูลจากคนกลุ่มนี้นะครับ ซึ่งถ้าเป็นคนกลุ่มอื่น ก็อาจจะแตกต่างกันไปได้ ก็ต้องศึกษาต่อในอีกหลายๆ กลุ่มหลายๆครั้งก่อนจะนำไปสู่ข้อสรุปอย่างชัดเจน งานนี้ศึกษาในคนเกาหลี ในคนไทย หรือคนชาติอื่นๆ ก็อาจจะแตกต่างกันไปได้เช่นกัน แต่ก็พอเห็นภาพที่น่าสนใจอยู่นะครับ

เราลองเอาข้อมูลข้างบนมาดูรายละเอียดกันนะครับ สมมติเราไม่คิดว่าการวัดผลมีความคลาดเคลื่อนอะไร สิ่งที่น่าสนใจจะอยู่ที่คนสองกลุ่มนี้ที่ชี้ไว้ในกราฟนะครับ

นี่อาจจะเป็นเรา หรือเพื่อนเรา ที่คิดว่าทำไมกินเท่าไหร่ ผลก็ไม่ได้อย่างที่คิดสักที

ด้านบนคือคนที่คิดว่าฉันกินไปไม่มาก แต่จริงๆกินไปเยอะกว่าที่คิดเยอะมากนะครับ จากวันละ 1500 แต่จริงๆกินวันละ 3000 กว่า หรือจากวันละ 2000 แต่กินจริงๆปาเข้าไปเกือบ 4000 ถ้าคนกลุ่มนี้จะวนเวียนอยู่กับคำถามหรือความคิดว่า เอ๊ะ ทำไมฉันกินวันละไม่เท่าไหร่ น้ำหนักไม่เห็นลดลงเลย หรือความคิดทำนองว่าฉันต้องถูกสาปแน่ๆ กินก็ไม่เยอะ แต่น้ำหนักไม่ลดเลย ก็ไม่แปลกถูกไหมครับ

ส่วนด้านล่าง คือคนที่คิดว่ากินอะไรไปเยอะมาก เข้าใจว่าที่กินไปเนี่ยปาเข้าไป 3500 แต่กินจริงๆ อยู่ที่ประมาณ 1700 เท่านั้นเอง คนกลุ่มนี้ถ้าจะวนเวียนอยู่กับคำถามหรือความคิดว่า เอ๊ะ ทำไมฉันกินไปเยอะมาก น้ำหนักก็ไม่ขึ้นเลย หรือฉันนี่การเผาผลาญดีจุงเบย กินเยอะยังไงก็ไม่อ้วน ก็ไม่แปลกเช่นเดียวกัน

สรุป

ข้อมูลนี้ก็นำไปใช้ประโยชน์ได้หลายมุม อย่างในกลุ่มนักวิจัยทางอาหาร สุขภาพ หรือสาธารณสุข ก็ทางนึง อย่างพวกเราๆท่านๆ นำไปใช้กับตัวเอง ก็อาจจะลองดูประกอบกับฟีดแบค การควบคุมน้ำหนักของเราเองประกอบครับ เอาง่ายๆ ถ้าน้ำหนักขึ้น แต่เอ๊ะ ก็กินไม่เยอะนี่หว่า ดูข้อมูลโภชนาการแล้วก็ไม่มีอะไร บางทีอาจจะแอบเยอะโดยไม่รู้ตัวก็ได้ อิอิ

แบบนี้แสดงว่าการบันทึกสารอาหารใช้ไม่ได้ ไม่มีประโยชน์รึเปล่า ? ก็ไม่นะครับ จริงๆถ้าเราเข้าใจเรื่องสมดุลย์พลังงาน การบันทึกอาหารนั้นเพื่อให้เราทราบได้ว่าเราทานอะไรไป ได้สารอาหารได้พลังงานเท่าไหร่ ไม่ใช่เพื่อนำไปคำนวณหักลบกันอย่างตรงไปตรงมา แต่ให้นำมาใช้เพื่อดูกับผลลัพธ์หรือฟีดแบคที่ได้ แล้วนำมาปรับว่าเราควรทาน หรือควรออกกำลังกายเพิ่มอีกเท่าไหร่

ถ้าเราคิดสารอาหารได้พลังงานกินไป 2000 แคล แต่กินจริงๆไป 2500 เมื่อผลลัพธ์คือน้ำหนักนิ่งๆ ถ้าเราจะ Diet เราก็ทานลดลงไปสัก 200-300 แคล เราก็ไม่ต้องไปพะวงว่าเอ๊ะ จริงๆฉันอาจจะทานไป 2500 รึเปล่า เราก็แค่ลดไปจาก 2000 ที่เราบันทึกไว้ ไปทานที่ 1700 แคลต่อวัน ไอ้ตรง 1700 ที่เราคิดสารอาหารและพลังงานด้วยวิธีเดิม มันก็เหมือนเราทานจริงๆ 2200 แคล ก็ลดลงไป 300 แค่อยู่ดีนั่นแหละครับ เพียงแค่เลข Actual มันจะเป็นเท่าไหร่แค่นั้นเอง

อ้างอิง

  1. Kim, E. K., Fenyi, J. O., Kim, J. H., Kim, M. H., Yean, S. E., Park, K. W., Oh, K., Yoon, S., Ishikawa-Takata, K., Park, J., Kim, J. H., & Yoon, J. S. (2022). Comparison of total energy intakes estimated by 24-hour diet recall with total energy expenditure measured by the doubly labeled water method in adults. Nutrition research and practice, 16(5), 646–657. https://doi.org/10.4162/nrp.2022.16.5.646
  2. von Loeffelholz C, Birkenfeld A. The Role of Non-exercise Activity Thermogenesis in Human Obesity. [Updated 2018 Apr 9]. In: Feingold KR, Anawalt B, Boyce A, et al., editors. Endotext [Internet]. South Dartmouth (MA): MDText.com, Inc.; 2000-. Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK279077/

GO TOP

🎉 You've successfully subscribed to Fat Fighting!
OK