พวกกล้ามใหญ่ๆ แข็งแรงจริงเท่ากล้ามที่เห็นรึเปล่า ?

สัดส่วนกล้ามเนื้อจากเครื่องวัดไขมัน อาจจะนำมาใช้ทำนายความแข็งแรง 1RM ได้นะครับเนี่ย ถ้าได้ผลค่อนข้างแม่นนี่ก็สะดวกขึ้นเยอะเลย


พวกกล้ามใหญ่ๆ แข็งแรงจริงเท่ากล้ามที่เห็นรึเปล่า ?

ไม่รู้ว่าเคยผ่านหูผ่านตา แนวคิดประมาณว่าพวกกล้ามใหญ่ จริงๆไม่ได้มีแรงเท่ากับพวกกล้ามเล็กๆหรอก ยกกระสอบข้าวสารสู้จับกังตัวผอมๆ ไม่ได้ ผมว่าผู้วิจัยงานนี้ น่าจะต้องเคยเจออะไรแบบนี้มาก่อนแน่ๆ ๕๕ เลยเป็นที่มาของคำถามงานวิจัยชิ้นนี้ ว่าเอ๊ะ พวกที่กล้ามใหญ่ มันมีแรงจริงรึเปล่า

หยอกๆนะ จริงๆเขาสนใจศึกษาว่า Body composition ที่วัดด้วยเครื่อง Bioelectrical impedance analysis (BIA) หรือเครื่องวัดมวลกายด้วยไฟฟ้าเนี่ย มันใช้วัดความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ (Muscle strength) ที่ปกติจะใช้การประเมินด้วยการทดสอบ 1RM ได้ด้วยรึเปล่า เนื่องจาก BIA เนี่ยมันใช้งานง่ายสะดวกและปลอดภัย โดยเฉพาะถ้าใช้กับผู้สูงอายุได้ มันก็ไม่ต้องให้เขาไปยกน้ำหนักเพื่อประเมินความแข็งแรง ในบางคนมันอาจจะไม่ปลอดภัยนัก

Sue และคณะ (2022)

ศึกษาในคนกลุ่มไหน ? และศึกษายังไง ?

งานนี้ของ Sue และคณะ (2022) [1] เขาก็เลยศึกษาความสัมพันธ์ของค่า มวลกล้ามเนื้อ (Skeletal muscle mass, SMM) ที่ได้จากเครื่อง BIA ว่ามันสัมพันธ์ยังไงกับความแข็งแรงบ้าง ซึ่ง BIA ที่เขาใช้ก็เป็นเครื่อง Inbody 430 ที่มีการศึกษาก่อนหน้านี้แล้วพบว่ามีความแม่นยำที่น่าเชื่อถือได้ เขาก็ได้กลุ่มตัวอย่างมา 35 คน ชาย 18 หญิง 17 อายุเฉลี่ย 28 ปี สูงเฉลี่ย 163 ซม. หนักเฉลี่ย 55 กิโลกรัมมาทำการศึกษา การประเมินความแข็งแรงเขาใช้ 1RM ของท่า Leg press เป็นตัวประเมิน

ผลที่ได้คือ ?

ผลที่พบก็คือมันมีความสัมพันธ์ของค่าสัมประสิทธิ์ระหว่าง 1RM ของท่า Leg press และตัว SMM ของกล้ามเนื้อขาและค่า Skeletal Muscle Index (SMI) ที่ได้จากเครื่อง BIA เป็นค่า 0.845 และ 0.910 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ถ้าแยกกลุ่มชายหญิง ผู้ชายจะมีค่าสัมประสิทธิ์ที่ว่า 0.527 และ 0.752 ส่วนผู้หญิง 0.310 และ 0.613

ความสัมพันธ์ของค่าสัมประสิทธิ์

จากค่าสัมประสิทธิ์ที่ได้ เขาก็นำไปสร้างเป็น Model เพื่อคาดคะเนค่า 1RM ด้วยการคำนวณจาก SSM และ SMI ก็ได้สมการออกมาดังตารางนี้นะครับ

โมเดลเพื่อหาค่า Predicted 1RM

เมื่อนำไปพลอตเป็นกราฟก็ออกมาเพื่อดูค่า 1RM ที่คำนวณได้ ก็หน้าตากราฟออกมาเป็นแบบนี้นะครับ อาจจะดูโอเคเพราะข้อมูลที่นำมาใช้ศึกษา เหมือนจะเป็นข้อมูลชุดเดิมด้วยนะครับ

เมื่อลองนำโมเดลมาพลอต

ซึ่งจากข้อมูลตรงนี้ อาจจะช่วยให้สามารถนำข้อมูล SSM ของกล้ามเนื้อขา และ SMI ไปประเมิน 1RM เพื่อประโยชน์ในด้านการประหยัดเวลา และความปลอดภัยในการประเมินที่มากกว่าเมื่อเทียบกับการทำ 1RM Test หรืออาจจะใช้สำหรับงาน Rehab ลักษณะใดลักษณะหนึ่ง

อย่างไรก็ตามข้อจำกัดในงานนี้ก็คือกลุ่มตัวอย่างยังน้อยอยู่ ก็อาจจะยังไม่เพียงพอที่จะได้ข้อสรุปที่ชัดเจน แล้วก็กลุ่มตัวอย่างเป็นคนที่สุขภาพดี เป็นกลุ่มคนหนุ่มสาว ถ้ากับคนกลุ่มอื่นๆ หรือกลุ่มที่มีสภาวะสุขภาพแตกต่างออกไป ก็อาจจะให้ผลที่ต่างกันออกไปได้ด้วยเช่นกัน แต่ก็น่าสนใจดีถ้ามีการศึกษากันเพิ่มเติมเข้าไปอีกนะครับ

สรุป

ก็สรุปได้ว่า 1RM สำหรับท่า Leg press และการประเมินค่า SMM , SMI ด้วยเครื่อง BIA มีความสัมพันธ์กันค่อนข้างมาก อาจจะใช้ค่า SMM และ SMI ในการคำนวณประเมินดู 1RM ได้ด้วยเช่นกัน ในอนาคตถ้ามีการศึกษาเพิ่มเติม ก็คงได้ภาพที่ชัดเจนมากขึ้น

อ้างอิง

  1. Sue, K., Kobayashi, Y., Ito, M., Midorikawa-Kijima, M., Karasawa, S., Katai, S., & Momose, K. (2022). Bioelectrical impedance analysis to estimate one-repetition maximum measurement of muscle strength for leg press in healthy young adults. Scientific reports, 12(1), 17142. https://doi.org/10.1038/s41598-022-20526-8

GO TOP

🎉 You've successfully subscribed to Fat Fighting!
OK