หลังออกกำลังกาย Aerobic กับ Anaerobic สิ่งที่เกิดขึ้นในร่างกายเรา เหมือนหรือแตกต่างกันยังไง

การออกกำลังกายแบบ Aerobic และ Anaerobic ส่งผลยังไงต่อการ Metabolite สารต่างๆในร่างกายหลังจากออกกำลังกาย แบบไหนเผาไขมันได้ดีกว่ากัน


หลังออกกำลังกาย Aerobic กับ Anaerobic สิ่งที่เกิดขึ้นในร่างกายเรา เหมือนหรือแตกต่างกันยังไง

จริงๆความแตกต่างของการออกกำลังกายทั้งสองแบบนั้น ก็มีการศึกษากันมาเยอะมากแล้วนะครับ ในช่วงที่ผ่านมา เช่น ผลต่อการลดไขมัน ผลต่อการพัฒนากล้ามเนื้อ แต่ครั้งนี้เป็นการศึกษาของ Pellegrino และคณะ (2022) [1] เขาศึกษาผลในระดับ Metabolite ด้วยวิธีการศึกษาแบบ Metabolomics

Aerobic และ Anaerobic คืออะไร

คร่าวๆ สำหรับท่านที่ไม่คุ้นนะครับ Aerobic คือกิจกรรมที่อาศัยระบบพลังงานที่ใช้ออกซิเจนในการสร้างพลังงาน เช่นพวกกิจกรรมเต้นแอโรบิค วิ่ง ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ Anaerobic คือกิจกรรมที่อาศัยระบบพลังงานที่ไม่ใช้ออกซิเจนในการสร้างพลังงาน

แล้ว Metabolomics คืออะไร ?

ส่วน Metabolomics เป็นการศึกษาเรื่องที่เกี่ยวกับ Metabolites ของสารชีวเคมีในร่างกาย ว่าจากอันนี้เปลี่ยนเป็นอันนั้น แล้วเปลี่ยนต่อไปเป็นอันนู๊นยังไง ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ค่อนข้างใหม่อยู่เหมือนกันนะครับ เมื่อเทียบกับประวัติศาสตร์การศึกษาทางวิทยาศาสตร์อันยาวนาน (ว่าไปนั่น ๕๕)

เปรียบเทียบการศึกษาในระดับต่างๆ

บอกก่อนอีกอย่างว่ารายละเอียดการศึกษาแบบ Metabolomics เนี่ย มันเยอะและยาวมาก รายละเอียดว่าเขาพบอะไรบ้างยังไงเนี่ย อ่านกันในงานเลยนะครับ ผมจะนำเสนอคร่าวๆ ในจุดที่เห็นว่ามีประเด็นที่น่าสนใจก่อนนะครับ

ศึกษาในคนกลุ่มไหน ?

งานนี้เขาศึกษาในคน สุขภาพดีนะครับ 40 คน โดยให้มาปั่นจักรยานเพื่อศึกษากิจกรรม Aerobic (AC) หนึ่งวัน และอีกวันนึงก็ให้มาทำ Resistance exercise (RE) เพื่อศึกษากิจกรรม Anaerobic โดยทั้งสองวันก่อนเริ่มทำกิจกรรม เขาก็เก็บตัวอย่างเลือดไว้ก่อนขณะพัก (Rest) เพื่อดูเป็น baseline ไว้วิเคราะห์ว่าหลังจากออกกำลังกายแบบต่างๆ แล้วมีความเปลี่ยนแปลงยังไงบ้าง

ผลที่ได้คือ ?

ผลที่พบเนี่ยกิจกรรมทั้งสองอย่าง ให้ผลที่ค่อนข้างค่อนข้างจะเหมือนกันมากนะครับ สิ่งที่แตกต่างกันมีน้อยกว่าเยอะเลย ที่แตกต่างกันมักจะเป็นผลในแง่ของขนาดหรือปริมาณ (magnitude) ของ Metabolite แต่ละอย่าง แล้วก็หลังออกกำลังกายทันที แต่ละกิจกรรมจะมีความต่างกันมากหน่อย แต่ว่าภายในเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ทุกอย่างจะกลับมาเหมือนเดิม

ซึ่งตรงนี้อาจจะต่างจากงานอื่นๆอยู่บ้าง แต่ส่วนนึงอาจจะเป็นเพราะกลุ่มตัวอย่างของงานอื่น ศึกษาในพวกคนที่สุขภาพไม่แข็งแรง หรือมีพฤติกรรมเนือยนิ่ง มีภาวะโรคต่างๆ แต่ในงานนี้เขาศึกษาในคนที่สุขภาพดีปกติ ซึ่งก็ไม่แปลกถ้าออกกำลังกายเสร็จแล้วจะฟื้นตัวกลับมาเหมือนช่วงก่อนออกกำลังกายได้ดี

กิจกรรม RE ที่มี Intensity สูง มีความจำเป็นที่จะต้องใช้คาร์โบไฮเดรตค่อนข้างมาก เพื่อใช้ในกระบวนการ Glycolysis สร้างพลังงาน ATP ใช้ ระหว่างกิจกรรม Lactate สูงขึ้นพร้อมกับที่ Fat Oxidation เกิดขึ้นอย่างจำกัด และเมื่อจบกิจกรรม RE ก็สอดคล้องกับที่เราทราบๆกันว่า RE ใช้พลังงานจาก Fatty Acid (FA) น้อย หลังจากจบกิจกรรม ทั้ง AC และ RE การใช้พลังงานจาก FA ก็กลับมาเป็นปกติอีกครั้ง

แบบนี้ Aerobic ก็ลดไขมันได้ดีกว่าสิ

มาถึงตรงนี้ มันจะมีความเชื่อเรื่อง Fat burn zone ในการออกกำลังกายอยู่ ในงานนี้เขาพบว่ามันก็จริงนะครับ ที่ Aerobic ใช้ FA ระหว่างทำกิจกรรมเยอะกว่า แต่ก็เหมือนกับว่าในช่วงหลังจากนั้น Anaerobic ที่แม้จะใช้น้อย แต่พอตอนที่ Recovery และในช่วงระหว่างวัน ก็จะใช้ FA มากกว่าอยู่ดี

ว่าง่ายๆคือ ไม่ว่าจะทำกิจกรรมอะไรก็ตาม จะมี Fat Burn zone หรือไม่ เมื่อเกิดพลังงานติดลบ (Energy deficit) แล้วต้องมีการฟื้นตัวขึ้นมา ตรงนั้นก็เกิดการ Oxidation เจ้า FA ออกมาเป็นพลังงานอยู่ดี ไม่ว่าจะทำกิจกรรมอะไร หรือในระหว่างทำกิจกรรมจะใช้พลังงานจากแหล่งไหนเป็นแหล่งหลัก

ระหว่างการทำกิจกรรมทั้งสองอย่าง เมตาบอลิซึมของ Carbohydrate และ Amino Acid เพิ่มสูงขึ้น ตรงนี้ก็เขามองว่าสนับสนุนความสำคัญของการทาน Post-workout เพื่อทำการ Recovery ด้วย ส่วนพวกกิจกรรม Endurance ก็น่าจะได้ประโยชน์ในการทานโปรตีนระหว่างช่วงที่ทำกิจกรรมนานๆ

Metabolism ของคาร์บโบไฮเดรต
Metabolism ของ Purine salvage

ข้อจำกัดของการตีความก็คือที่บอกไปว่ากลุ่มตัวอย่างในงานนี้เป็นคนสุขภาพดีนะครับ สำหรับคนภาวะอื่นๆ ก็อาจจะแตกต่างกันได้ แล้วก็จำนวนคนก็ 40 คน มันก็ยังไม่เยอะ ส่วน Metabolites ที่เขาดูก็มีแค่ 754 อย่างเท่านั้น ยังไม่ได้ครบทุกสิ่งอย่างที่เกิดขึ้นในร่างกายเราเท่าที่วิทยาการมันมี ณ ตอนนี้

โดยภาพรวมแล้วการออกกำลังกายร่างกายต้องใช้พลังงาน กิจกรรมที่แตกต่างกัน ใช้พลังงานแตกต่างกัน AC ทำให้เกิดการสลายสารตั้งต้นหลายชนิด มีความยืดหยุ่นในการใช้พลังงานมากกว่า ในช่วงที่กิจกรรมเริ่มคงที่ FA จะมีบทบาทมาก เกิด anti-oxidation , pro/anti-inflammatory มากกว่า ทำให้เกิดการ Recovery ได้ไวกว่า

การตอบสนองต่อการอักเสบ

RE ให้ผลตรงกันข้าม เกิดการเพิ่มขึ้นของ Glycolysis และ Purine Salvage มากกว่า เพื่อให้สอดคล้องกับการใช้ ATP สำหรับกิจกรรม High Intensity หลังจบกิจกรรมแล้วเมตาบอลิซึมของ FA จะมีบทบาทในการให้พลังงานร่างกาย การเกิดพลังงานติดลบในช่วงฝึก RE ส่งผลให้การ Recovery ทำได้ช้าล่าช้ากว่า

ภาพรวม Pathway ต่างๆที่พบในงานนี้

และถึงแม้ในรายละเอียดการทำกิจกรรมทั้งสองอย่างจะมีความแตกต่างกัน แต่ถ้าตัดเรื่องของขนาดหรือปริมาณ และระยะเวลาออกไปแล้ว มันก็มีความคล้ายคลึงกันมากกว่าส่วนที่แตกต่างกัน

อย่างที่บอกว่ามีรายละเอียดน่าสนใจเยอะอยู่นะครับ การศึกษาแบบนี้ ในงานเขาก็กล่าวถึงไว้มากใครสนใจลองไปอ่านดู จริงๆหลายส่วนคือเรารู้อยู่แล้วแหละจากการศึกษาด้วยวิธีอื่นๆ เพียงแต่ว่าการศึกษาจาก Metabolite มันทำให้เห็นความชัดเจนเข้าไปอีกด้านนึง

สรุป

สรุป กิจกรรม Aerobic และ Anaerobic มีความแตกต่างกันในรายละเอียด แต่ภาพรวมแล้วก็ไม่ได้แตกต่างกันมาก อยากเผาผลาญไขมัน ทำให้เกิดพลังงานติดลบ (Energy deficit) ให้ได้ ยังไงก็ตามตรงที่ deficit นั้นมันเกิดการเผาผลาญไขมันมาอยู่แล้ว ถ้าติดลบได้เพียงพอ มันก็ดึงไขมันสะสมออกมาใช้นั่นแหละ

อ้างอิง

  1. Joseph K. Pellegrino, Tracy G Anthony, Peter Gillies & Shawn M. Arent(2022)The exercise metabolome: acute aerobic and anaerobic signatures,Journal of the International Society of Sports Nutrition,19:1,603-622,DOI: 10.1080/15502783.2022.2115858

GO TOP

🎉 You've successfully subscribed to Fat Fighting!
OK