เด็กๆ ต้องกินเยอะๆ ให้อ้วนๆ ตัวโตๆ จะได้สูงๆ จริงรึเปล่า ?

อยากให้ลูกสูงๆ จำเป็นต้องอัดให้กินอ้วนๆ จะได้ตัวโตๆ ตัวสูงๆมั้ย


เด็กๆ ต้องกินเยอะๆ ให้อ้วนๆ ตัวโตๆ จะได้สูงๆ จริงรึเปล่า ?

อันนี้ผมเคยเจอนะ ไม่รู้คนอื่นเคยเจอมั้ย คือจะมีผู้ใหญ่บางคนที่เขามีความคิดว่า ต่อให้เด็กกินจนอ้วน ให้กินไปก่อน ไม่เป็นไรเพราะว่าถ้ากินไม่เยอะกลัวเด็กจะไม่สูง ให้สูงก่อน เดี๋ยวค่อยไปลดอีกที จริงๆแล้วมันเป็นแบบนั้นรึเปล่า ?

งานนี้เป็นการศึกษาของ Wu และคณะ (2022) [1] เพื่อดูความความแตกต่างของกล้ามเนื้อโครงร่าง (Skeletal Muscle ,SMM) กับมวลไขมัน (Body Fat Mass ,BFM) ต่อความสูงที่เพิ่มขึ้น (Height Increment) ในกลุ่มเด็กอายุ 6-11 ปีนะครับ เป็น Cohort study ที่ทำการศึกษาจากข้อมูลของเด็ก 584 คนในจีน

ก็มีการดูข้อมูลสุขภาพต่างๆนะครับ ความสูง น้ำหนัก วัดรูปร่าง แล้วก็วัด Body composition ด้วยเครื่อง InBody 770 แล้วก็คำนวณ BMI จากนั้นก็นำข้อมูลทั้งหมด มาวิเคราะห์ทางสถิติ

ผลที่ได้คือ ?

สิ่งที่เขาพบในเด็กกลุ่มนี้ ก็คือมวลกล้ามเนื้อ (SMM) ที่เพิ่มขึ้นเนี่ย สัมพันธ์กับความสูงที่เพิ่มขึ้นในเด็กอายุระหว่าง 6-11 ปี มากกว่า มวลไขมัน (BFM) ทั้งเด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิง แทบทุกกลุ่มเมื่อเทียบกันระหว่างคนที่น้ำหนักเป็น SSM เพิ่ม จะมีความสูงเพิ่มมากกว่าคนที่  BFM เพิ่ม ยกเว้นกลุ่มเด็กชายที่อ้วน (Obesity) ตาม BMI กลุ่มนี้ส่วนสูงเพิ่มได้ใกล้เคียงกัน

สรุป

ข้อมูลตรงนี้ก็น่าจะเป็นประโยชน์ ให้เราหันกลับมาสนใจ ในการวางแผนโภชนาการและการออกกำลังกายให้กับเด็ก ให้มีการเติบโต พัฒนาร่างกายที่เหมาะสม ไม่ใช่โตแบบอ้วน น้ำหนักเพิ่มด้วยไขมันเพียงอย่างเดียว

อย่างในการศึกษาของ He และ Kerlberg (2001) [2] ได้ให้ข้อสรุปไว้ว่า ถ้าอยากให้เด็กสูงก็ไม่จำเป็นต้องให้กินจน Overnutrition เพราะว่าจากที่เขาศึกษาพบว่าเด็กที่อ้วนเนี่ย จะเติบโตไวในช่วงแรก แต่พอเวลาผ่านไปจนถึงช่วงวัยรุ่น อัตราการเติบโตของความสูงก็จะลดลง ในขณะที่กลุ่มที่ BMI ต่ำกว่านั้นในช่วงแรกเติบโตน้อยกว่า แต่พอผ่านอายุ 5 ขวบไปความสูงเพิ่มขึ้นเยอะกว่า

อ้างอิง

  1. Wu D, Shi L, Xu Q, Zeng Y, Lin X, Li X, Zhao H, Zhu Z, Fu Y, Li H and Dong X (2022) The Different Effects of Skeletal Muscle and Fat Mass on Height Increment in Children and Adolescents Aged 6–11 Years: A Cohort Study From China. Front. Endocrinol. 13:915490. doi: https://doi.org/10.3389/fendo.2022.915490
  2. He, Q., Karlberg, J. BMI in Childhood and Its Association with Height Gain, Timing of Puberty, and Final Height. Pediatr Res 49, 244–251 (2001). https://doi.org/10.1203/00006450-200102000-00019

GO TOP

🎉 You've successfully subscribed to Fat Fighting!
OK