ก่อนจะไปที่งานในวันนี้บอกก่อนว่าในปัจจุบัน ยาลดน้ำหนักที่ถูกนำมาใช้ทางการแพทย์มันมีแล้วนะครับ แล้วก็แตกต่างจากพวกยาลดน้ำหนักเถื่อนๆ สมัยก่อนเอาเรื่องอยู่ ทั้งในแง่การทำงาน ผลที่ได้ ผลข้างเคียง แต่วันนี้จะไม่ได้พูดถึงประเด็นนี้นะครับ
งานนี้เป็นการศึกษาของ Chin และคณะ (2022) [1] เพื่อดูผลของการได้รับยาหลอก (Placebo) และการเกิดผลข้างเคียงจากการได้รับยาหลอก (Nocebo) ในการศึกษาการใช้ยาลดน้ำหนัก เป็นการศึกษาแบบ Systematic review และ Meta-analysis ที่ศึกษาข้อมูลจากงาน RCTs นะครับ

ศึกษาในคนกลุ่มไหน ?
ซึ่งเขาก็ค้นฐานข้อมูลงานวิจัย ทั้ง Medline, Embase และ Cochrane ดูงานที่เกี่ยวกับการลดน้ำหนัก ลดความอ้วน ที่มีกลุ่มควบคุมการใช้ยาหลอกด้วย ตั้งแต่ที่ผ่านมาจนถึง มิย 2022 เกณฑ์ในการเลือกงานมาศึกษา ก็เป็น Clinical trials ที่เป็น Randomized, double-blinded, parallel study ศึกษาในผู้ใหญ่อายุ 18 ปีขึ้นไป ที่มีภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วน
ก็มีงานที่เข้าเกณฑ์ 63 งาน รวมข้อมูลกลุ่มตัวอย่าง 20,454 คน จากนั้นเขาก็นำข้อมูลมาวิเคราะห์ เป็นคนที่ลดน้ำหนักได้ 5% 10% และ 15% ขึ้นไป แล้วก็ดูพวกผลข้างเคียงที่มีรายงานออกมา ผลหลักที่ดูคือน้ำหนัก , ระดับไขมันในเลือด , ระดับน้ำตาล และความดัน
ผลที่ได้คือ ?
ซึ่งผลที่พบเนี่ย ที่ลดน้ำหนักได้ 5% แต่น้อยกว่า 10% คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20.4 กลุ่มที่ลดได้ 10% แต่น้อยกว่า 15% คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 8.3 และกลุ่มที่ลดได้ 15% ขึ้นไปคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 6.2 อันนี้คือคิดสัดส่วนจากผู้ที่ได้รับยาหลอกทั้งหมดนะครับ แปลว่าในงานต่างๆรวมกัน มีคนที่ได้รับยาหลอก แต่ลดน้ำหนักได้ 5% ขึ้นไปรวมทั้งสิ้น 34.9% เลย

ส่วนผลด้านอื่นๆ ก็ดีขึ้นพอสมควร แต่ไม่ได้เป็นประเด็นเท่าไหร่ ในส่วนของผลข้างเคียงมีรายงานผลข้างเคียงต่างๆในกลุ่มนี้ 73.7% เป็นผลที่เกี่ยวกับอาการทางจิตเวช พวกความวิตกกังวลง (anxiety) 2.7% ซึมเศร้า (depression) 2.5% ก็แปลว่าผลเหล่านี้เกิดขึ้นแม้ไม่ได้รับยา ในสัดส่วนดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ถามว่าผลต่างๆมาจากสาเหตุอะไร ทำไมถึงลดน้ำหนักกันได้ทั้งๆที่ได้ไม่ได้รับตัวยาจริงๆ บอกได้ยากครับ เพราะว่าไม่ได้มีการรายงานพวกอาหารการกิน และกิจกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน การออกกำลังกายไว้ แต่เอาตามเราเข้าใจ มันก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงในสิ่งเหล่านั้นแหละ ผลมันถึงออกมาว่าลดน้ำหนักได้
ประโยชน์จากข้อมูล ในส่วนของตัวงานเขากล่าวถึงแง่ของการรักษา ที่จะศึกษากันต่อไปหลังจากนี้ ในส่วนของเราๆ จากข้อมูลนี้ อันดับแรกก็เห็นได้ว่า ต่อให้ไม่ได้รับยา แต่เจ้าตัวเข้าใจว่าได้รับยา แล้วอาจจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอื่นๆ ก็ส่งผลให้ลดน้ำหนักได้ไม่ใช่น้อย
เรื่องของยาหลอกนี่ ไม่เฉพาะเรื่องการลดน้ำหนักนะครับ อย่างมีการศึกษาในด้านการออกกำลังกาย ยาหลอกนี่ก็ส่งผลเอาเรื่องอยู่เหมือนกัน เรื่องนี้เคยนำเสนอในบทความเรื่องพลังแห่งศรัทธาไปแล้ว เป็นการศึกษาในกลุ่มนักวิ่ง [2] สนใจลองไปอ่านต่อกันได้ครับ
สรุป
แน่นอนว่าในชีวิตจริงของเรา ถ้าจะใช้ยาหรือไม่ใช้ยาอันนั้นเรารู้แน่ๆ และคงไม่เป็นประเด็น แต่บางครั้งเรากระทำอะไรอย่างหนึ่ง เช่นจำกัดเวลาทานนะ เปลี่ยนรูปแบบการทานนะ แล้วมันได้ผลหรือไม่ได้ขึ้นมา หลายครั้งเราก็ไม่ทราบหรอกครับ ว่ามันได้ผลเพราะอะไร หรือไม่ได้ผลเพราะอะไร
บางครั้งเราทำในสิ่งที่มันก็ไม่ใช่ได้ผลอะไรหรอก อ่ะยกตัวอย่างเช่น ดื่มกาแฟมะนาวทุกเช้างี้ ผลต่อการเผาผลาญจากการศึกษามันพบว่าการเผาผลาญเพิ่มจริงแต่น้อยมากกกก แต่ว่าเรากินแล้วลดน้ำหนักได้ในช่วงนั้นเยอะ โอ้โห ทีนี้ความศรัทธามาเต็มสูบ นี่คือสูตรลดน้ำหนัก ความลับแห่งจักรวาล
จริงๆ ย้อนกลับไปหลายคนอาจจะดื่มกาแฟมะนาวทุกเช้า แต่ในมื้ออาหารลดหวาน มัน เค็ม และจากไม่เคยออกกำลังกายก็หันมาออกกำลังกายเป็นประจำ แต่พอใครถามว่าลดมาได้ยังไงหลายกิโล .. ยืดอก ผายมือ กาแฟมะนาวทุกเช้า จ้าาาาาา โลกเรามันก็เป็นแบบนี้แหละครับท่านผู้ชม
อ้างอิง
- Chin, Y. H., Ng, C. H., Chew, N. W., Kong, G., Lim, W. H., Tan, D., Chan, K. E., Tang, A., Huang, D. Q., Chan, M. Y., Figtree, G., Wang, J. W., Shabbir, A., Khoo, C. M., Wong, V. W., Young, D. Y., Siddiqui, M. S., Noureddin, M., Sanyal, A., Cummings, D. E., … Muthiah, M. D. (2022). The placebo response rate and nocebo events in obesity pharmacological trials. A systematic review and meta-analysis. EClinicalMedicine, 54, 101685. https://doi.org/10.1016/j.eclinm.2022.101685
- บัวเพ็ชร พงศ์พันธ์. (2022, July 8). พลังแหล่งศรัทธา !! placebo effect. Fat Fighting. Retrieved October 13, 2022, from https://www.fatfighting.net/article-2022-07-08-effects-of-an-injected-placebo-on-endurance-running-performance/