การเผาผลาญของแต่ละคนแตกต่างกัน จะดีขนาดไหน ถ้าในอนาคตบ้านหรืออาคารสำนักงาน ช่วยให้เราเผาผลาญได้มากขึ้น

การเผาผลาญของเราแต่ละคนนั้นมีความแตกต่างกันมากนะครับ ต่างปัจจัยก็ต่างผลลัพธ์ แล้วปัจจัยนี่ก็เยอะเหลือเกิน งานวิจัยชิ้นนี้ ทำให้เห็นว่าสภาพแวดล้อมในชีวิตประจำวันมีผลยังไงบ้าง


การเผาผลาญของแต่ละคนแตกต่างกัน จะดีขนาดไหน ถ้าในอนาคตบ้านหรืออาคารสำนักงาน ช่วยให้เราเผาผลาญได้มากขึ้น

งานนี้เป็นการศึกษาดูระดับการใช้พลังงาน (Energy Expenditure, EE) ในแต่ละคน ในสภาพแวดล้อมชีวิตประจำวันปกติที่แตกต่างกันออกไป

การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาเพื่อทดลอง Protocol ต่างๆนำไปใช้หาแนวทางศึกษาต่อไปในอนาคตอีกทีนะครับ ดังนั้นพวกกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในงานนี้ก็จะไม่ได้มากหรือเป็นประเด็นสำคัญเท่าไหร่ (ทดลองกับคน 6 คนเท่านั้น ผู้ชาย 3 คน ผู้หญิง 1 คน ผู้หญิงทดลองช่วงก่อนไข่ตก)

Khovalyg และ Ravussin (2022)

ทดลองยังไง ?

เขาสร้างห้องทดลองควบคุมภูมิอากาศขนาด 25 ตารางเมตรขึ้นมา แล้วก็กำหนด Protocol สำหรับทดลองมา 3 แบบ

  • แบบที่ 1 ดูพลังงานที่ใช้ไปกับการอยู่ในท่าทางที่แตกต่างกัน ระหว่างการยืน กับการนั่ง อย่างละ 10 นาที ดูเทียบกับอุณหภูมิช่วงสมดุลย์ปกติๆ
  • แบบที่ 2 ดูพลังงานความร้อนที่สร้างขึ้นหลังจากทานอาหาร ก็เป็นอาหารทั่วๆไปครับ 528kcal โปรตีน 17% คาร์บ 47% และไขมัน 36% ดูว่าหลังจากทานไป 135 นาที ระหว่างอยู่ในอุณหภูมิปกติ กับที่ความเย็น 16 องศา มีความต่างกันยังไงบ้าง ในการทดลองไม่ได้มีการปรับปริมาณอาหารให้ตามน้ำหนักตัวนะครับ ทั้งนี้เพื่อดูผลเหมือนกับเวลาเราไปซื้อกินปกติเลย (เขาคงไม่รู้จักวัฒนธรรมคุณป้าข้าวแกงบ้านเรา ๕๕)
  • แบบที่ 3 ดูอัตราการเผาผลาญพลังงาน ระหว่างการปั่นจักรยานวัดงาน 10W และ 40W อย่างละ 5 นาที

วัดผลยังไงบ้าง ?

การวัดการใช้พลังงาน (EE) นั้นใช้ Indirect calorimeter เป็นยางซิลิโคนสวมหน้า แล้วก็วัด O2 และ CO2 เพื่อมาคำนวณการใช้พลังงาน ส่วนสัดส่วนมวลกายใช้ BIA รุ่น Inbody 720 มีการคำนวณพื้นที่ผิวกายโดยใช้สูตรของ DuBois แล้วก็มีการวัดอุณหภูมิ ด้วยเซ็นเซอร์ iButton แปะตามร่างกาย 24 จุด

เมื่อมีการวัดอุณหภูมิภายนอกแล้วก็มีวัดภายในด้วย Core temperature เขาใช้ e-Celsis Performance Pill ให้กลืนลงไป แล้วคอยเก็บข้อมูลอุณหภูมิภายในร่างกาย

e-Celsis Performance Pill สำหรับวัดอุณหภูมิ Core temperature

นอกจากนั้นก็มีการสำรวจความรู้สึก ความสะดวกสบายตัว ในแต่ละกิจกรรมของการทดลองแบบที่ 1 ส่วนการทดลองแบบที่สอง ก็มีการประเมินความคิดสติปัญญา (Cognitive) ความจำระยะสั้น ความตื่นตัว ความสนใจ การให้เหตุผล (แปลกดีที่ประเมินเรื่องพวกนี้เพราะการทดลองแบบที่ 2 นั้นเป็นการทดลองทานอาหาร

ทีนี้มาดูผลที่ได้นะครับ

การทดลองแบบที่ 1

พลังงานเทียบระหว่างการยืนกับการนั่ง ในผู้ชายการยืนใช้พลังงานมากกว่าผู้หญิงแฮะ ในผู้หญิงบางคนการใช้พลังงานตอนยืนแทบไม่ต่างกับตอนนั่งเลย ซึ่งก็สอนคล้องกับงานอื่นที่มีการศึกษามา ว่ามีบางคนที่การใช้พลังงานตอนยืนกับตอนนั่งต่างกันน้อย และบางคนต่างกันเยอะ [2]

พลังงานที่เพิ่มขึ้นของแต่ละคน เมื่อเทียบการนั่งและการยืน

การทดลองแบบที่ 2

หลังจากทานข้าวไปแล้ว 135 นาที มีการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้นหลังทานข้าว ซึ่งก็เพิ่มทุกคนแหละตามเรื่อง Thermic Effect of Food (TEF) ที่เคยเรียนกันมา แต่เมื่อเทียบระหว่างกินอุณหภูมิห้องปกติ กับกินในห้องที่เย็น 16 องศา TEF ที่เกิดขึ้นในแต่ละคนกลับไม่เท่ากัน

TEF ของแต่ละคน หลังทานข้าว เมื่อเทียบในห้องอุณหภูมิ 24 องศาและ 16 องศา

ถ้าดูเทียบกับข้อมูบการทดลองที่ 1 ในผู้หญิง คนที่ยืนแล้วใช้พลังงานแทบไม่ต่างกับนั่ง ปรากฎว่ากินในห้องเย็นๆ TEF เพิ่มขึ้นเยอะกว่ามาก ส่วนคนที่ใช้พลังงานตอนยืนมากกว่า  ตอนกินข้าวอุณหภูมิปกติ TEF เพิ่มขึ้นเยอะกว่ามากสลับกันแฮะ

การทดลองแบบที่ 3

ดูผลของการทำงานของร่างกายในระดับกิจกรรมเบาๆ ถ้าดูในแต่ละคนเนี่ยเวลาเพิ่มระดับกิจกรรมมันก็เพิ่มเป็นเส้นตรง (linear) อยู่นะครับ แต่ถ้าดูแยกแต่ละคน ใน W3 คนเดิมกับที่ยืนหรือนั่งใช้พลังงานแทบไม่ต่างกันนั้น การเผาผลาญน้อยสุดแฮะ ในทุกๆปริมาณงานที่ทำเท่าๆกันเลย

จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นว่าการทดลองนี้เขาทำในคนที่แบบไม่ได้ควบคุมอะไรมาก ไม่ได้ให้รูปร่าง น้ำหนัก มวลกาย ภาวะสุขภาพ อะไรใกล้เคียงกันอะไรเลย เนื่องจากเขาอยากศึกษาให้ใกล้เคียงกับรูปแบบการใช้ชีวิตจริงๆ ที่มีความแตกต่างของคนค่อนข้างมาก ซึ่งผลที่ได้ก็ทำให้เราเห็นอัตราการเผาผลาญ ของแต่ละคนที่มีความแตกต่างกันค่อนข้างกว้าง ในกิจกรรมต่างๆ

เขาได้อะไรจากสิ่งนี้ เขาไม่ได้ไปหาหรืออภิปรายนะครับ ว่าทำไมคนนั้นเผาผลาญมากกว่า คนนี้เผาผลาญน้อยกว่า เพราะนั่นเพราะนี่ แต่ศึกษาเพื่อให้เห็นว่ามันมีความแตกต่างกว้างมากจริงๆ

ในงานนี้ผู้วิจัยเขากล่าวถึงความเป็นไปได้ ที่จะพัฒนาบ้าน สำนักงาน หรืออาคารต่างๆ ให้มีความ... ผมใช้คำว่าอัจฉริยะมันจะเชยไปมั้ย 55 คือให้มันมีความ Personalize กับแต่ละคนมากขึ้น ยกตัวอย่างนะ จากข้อมูลในงานนี้ คนที่ทานอาหารแล้ว TEF เพิ่มมากขึ้นในห้องที่เย็น 16 องศา ก็อาจจะมีการปรับอุณหภูมิพื้นที่ที่เขานั่งกินข้าว ให้เย็นขึ้นตอนกินข้าว เพื่อเพิ่มการเผาผลาญก็ได้

โดยใช้พวกเซ็นเซอร์จาก Smartwatch หรือพวก wareable รูปแบบอื่นๆ ทำงานร่วมกับอุปกรณ์ในตัวอาคาร อ่ะ อาจจะดูเวอร์ๆ แต่อนาคตก็อาจจะเป็นไปได้ (หรือไม่แน่ทุกวันนี้ก็อาจจะมีคนทำอยู่แล้วก็ได้ ๕๕) ซึ่งเขานำเสนอตัวอย่างแนวคิดไว้ในงานตามรูปนะครับ

แนวคิดที่อาจจะเป็นไปได้ในการพัฒนาต่อไปในอนาคต

Take Home

เอ๊ะ แล้วอ่านมาถึงตรงนี้งานนี้เราเอาอะไรไปใช้ประโยชน์ได้เลยบ้างเนี่ย เอาจริงๆนะจากข้อมูลในงานนี้ ก็พอนำไปอะไรได้อยู่บ้างนะ อย่างที่เห็นชัดๆ ก็มีบางคนแล้ว ที่ถ้าทำกิจกรรมเบาๆ การเผาผลาญมันเพิ่มขึ้นน้อย ยืนหรือนั่งใช้พลังงานแทบไม่ต่างกัน

ถ้าผมเป็นคนที่ยืนแล้วเผาผลาญแทบไม่ต่างกับนั่ง ผมก็คงจะนั่งดีกว่า แล้วคนแบบนี้ต่อให้ active more ในลักษณะ  very low intensity ยืนแกว่งแขนแกว่งหำวันละ 2 ชั่วโมง 3 ชั่วโมง ก็อาจจะไม่ช่วยอะไร ถ้าจะทำอะไรให้พอจะหวังผลได้ ก็ต้องไปใส่กับกิจกรรมที่มัน medium to high intensity โน่น เพราะกิจกรรมที่แตกต่างกันก็ให้การเผาผลาญที่ไม่เท่ากัน ส่งผลต่อการลดไขมันได้แตกต่างกันอีกด้วย [3]

พวกนี้แม้ว่าเราไม่มีอุปกรณ์อะไรเหมือนในงานวิจัย แต่มันก็ไม่ยากที่จะลองสังเกตจากฟีดแบคของเราเองในชีวิตประจำวัน ในกิจกรรมออกกำลังกายของเรา แล้วนำไปปรับดูนะครับ เห็นข้อมูลจากงานนี้ ก็คิดเอาไว้เลย ว่าแต่ละคนมีความแตกต่างกัน ตอบสนองต่อกิจกรรมต่างๆ ไม่เหมือนกัน เลิกไปเที่ยวถามวิธีคนนั้นคนนี้ แล้วหวังว่าเราทำแบบเดียวกันแล้วจะได้ผลแบบเดียวกัน

มาสนใจกับการประเมิน การบันทึก การดูฟีดแบค การวางแผนของตัวเราเอง เป็นแบบ Personalize ดีกว่า

อ้างอิง

  1. Khovalyg, D., & Ravussin, Y. (2022). Interindividual variability of human thermoregulation: Toward personalized ergonomics of the indoor thermal environment. Obesity. https://doi.org/10.1002/oby.23454
  2. Miles-Chan, J. L., Sarafian, D., Montani, J.-P., Schutz, Y., & Dulloo, A. (2013). Heterogeneity in the Energy Cost of Posture Maintenance during Standing Relative to Sitting: Phenotyping According to Magnitude and Time-Course. PLoS ONE, 8(5), e65827. https://doi.org/10.1371/journal.pone.0065827
  3. บัวเพ็ชร, พงศ์พันธ์. (2022c, June 19). ออกกำลังกายหนักๆ หรือออกกำลังกายเบากว่า ลดไขมันได้ดีกว่ากัน ? Fat Fighting. Retrieved June 30, 2022, from https://www.fatfighting.net/article-2022-06-19-exercise-training-induced-visceral-fat-loss-in-obese-women-the-role-of-training-intensity-and-modality/

GO TOP

🎉 You've successfully subscribed to Fat Fighting!
OK