ดื่มกาแฟประจำ อาจลดความเสี่ยงไตวายเฉียบพลันได้

การดื่มกาแฟเป็นประจำ อาจจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคไตวายเฉียบพลันได้นะครับ ดูไม่น่าจะเกี่ยวกัน แต่เอ๊ะมันเกี่ยวกันได้ยังไง ?


ดื่มกาแฟประจำ อาจลดความเสี่ยงไตวายเฉียบพลันได้

หัวข้องานนี้ก็แปลกดีเขาศึกษาความสัมพันธ์ของการดื่มกาแฟกับความเสี่ยงของการเป็นไตวายเฉียบพลัน [1] ดูมันไม่ค่อยน่าจะเชื่อมโยงกันเท่าไหร่ แต่ก็น่าสนใจดี เพราะกาแฟดูจะเป็นอาหารประจำชาติเราในปัจจุบันไปเรียบร้อยแล้ว ร้านเยอะมากกก

เกริ่นก่อนว่าก่อนหน้านี้เขามีการศึกษาดูความสัมพันธ์ของการดื่มกาแฟ และโรคไตเรื้อรังไปแล้ว ซึ่งก็พบว่าการดื่มกาแฟเป็นประจำมีความสัมพันธ์กับการลดความเสี่ยงได้ [2] เขาเลยศึกษาต่อ ว่าถ้าเป็นไตวายเฉียบพลันล่ะ ความสัมพันธ์จะเป็นยังไง

Tommerdahl และคณะ (2022)

งานนี้เป็นงานของ Tommerdahl และคณะ (2022) เป็นการศึกษาแบบ Prospective cohort study จากข้อมูลของกลุ่มตัวอย่าง 14,207 คนอายุระหว่าง 45-64 ปี ก็มีทั้งชายหญิงอ่ะนะครับเยอะขนาดนี้ ก่อนจะไปที่วิธีการของงานวิจัย ซึ่งไม่ได้ซับซ้อนอะไรมาก เรามาดูก่อนว่าทำไมเขาถึงคิดว่าการดื่มกาแฟ ถึงจะช่วยลดความเสี่ยงไตวายเฉียบพลันได้

ทำไมเขาถึงคิดว่ามันน่าจะมีผลดีต่อไตวายเฉียบพลัน ?

สารประกอบสำคัญในกาแฟก็คือคาเฟอีน (Caffeine) นั้น  มีผลต่อระบบ RAAS (renin-angiotensin-aldosterone system) ซึ่งมีบทบาทในการควบคุมการไหลเวียนพลาสมาที่ผ่านไต การไหลเวียนโลหิต (Hemodynamics) และ กระบวนการขับโซเดียมออกทางไต (Natriuresis) [3]  และเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ มีผลลดการอักเสบได้ [4]

จากสิ่งต่างๆที่เขาศึกษามานั้น เขาก็เลยตั้งสมมุติฐานไว้ว่า สิ่งต่างๆเหล่านั้น (จริงๆในงานบอกไว้หลายอย่าง ลองไปอ่านดูนะครับ) จะมีผลช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดไตวายเฉียบพลันได้

เก็บข้อมูลยังไง ?

ทีนี้การเก็บข้อมูลมาประเมิน ปริมาณการดื่มกาแฟนั้น เขาก็ให้ตอบแบบสอบถามนะครับ เก็บข้อมูลครั้งแรกตั้งแต่ปี 1987-1989 คำถามก็คือความถี่ในการดื่มกาแฟแก้วปกติ (8oz) เป็นยังไงบ้าง ตัวเลือกก็มี แทบไม่ดื่มเลย, 1-3 แก้ว/เดือน, 1 แก้ว/สัปดาห์, 2-4 แก้ว/สัปดาห์, 5-6 แก้ว/สัปดาห์, 1 แก้ว/วัน, 2-3 แก้ว/วัน, 4-6 แก้ว/วัน และมากกว่า 6 แก้ว/วัน

From hearth to hearth
Photo by Fahmi Fakhrudin / Unsplash

ทีนี้ตัวเลือกมันก็เยอะมากเขาเลยมัดรวมให้ง่ายขึ้น เป็น แทบไม่ดื่มเลย, ดื่มน้อยกว่าวันละ 1 แก้ว ดื่มวันละ 1 แก้ว , วันละ 2-3 แก้ว และ มากกว่า 3 แก้วต่อวัน เพื่อให้มันดูง่ายขึ้น (รึเปล่า ?) แล้วก็มีการเก็บข้อมูลสุขภาพอื่นๆทั่วไปอีกนะครับ ทั้งจากแบบสอบถาม ความดัน และผลเลือดต่างๆ

ผลที่ได้คือ ?

ผลที่พบก็คือในประชากรกลุ่มนี้ ก็คือวิ่งการดื่มกาแฟในปริมาณที่สูงกว่าจะมีความเสี่ยงต่อไตวายเฉียบพลันที่ต่ำกว่า และต่ำที่สุดคือกลุ่มที่ดื่มกาแฟต่อวันเยอะที่สุด ส่วนว่าทำไมกาแฟถึงดูจะมีผลดีต่อไตวายเฉียบพลัน ก็อย่างที่กล่าวตอนต้นว่าน่าจะเป็นเรื่องประโยชน์ที่ได้จากคาเฟอีน

ผลที่พบเมื่อวิเคราะห์ความเสี่ยง โดยกลุ่มที่ไม่ได้ทานกาแฟเลยเป็นค่าอ้างอิง ความเสี่ยงเท่ากับ 1

จุดแข็งของงานนี้หลักเลยคือจำนวนประชากรที่เยอะ ส่วนข้อจำกัดของงานนี้หลักๆ ก็คือข้อมูลการดื่มกาแฟมาจากการทำแบบสอบถาม ก็อาจจะมีความคลาดเคลื่อนได้ รวมถึงว่าไม่ได้มีจำแนกชนิดของกาแฟที่ดื่ม เพราะว่ากระบวนการผลิตเมล็ดกาแฟ ก็มีผลต่อสารประกอบในกาแฟที่แตกต่างกันออกไป ชนิดกาแฟที่เสิร์ฟ ใส่น้ำตาล ใส่นม กาแฟป๋อง อะไรพวกนี้ก็อาจจะเป็นปัจจัยที่ต้องไปศึกษาอีก

ภาพรวมของข้อมูลที่พบเมื่อวิเคราะห์ต่อเนื่องไปหลายปี ดูยากหน่อยนะครับ 55

สรุป

ก็อาจจะเป็นอีกหนึ่งประโยชน์ที่เราอาจจะได้รับจากการดื่มกาแฟก็ได้นะครับ จริงๆเอามาเล่านี่ก็ไม่ได้จะเชียร์ให้หันมาดื่มกาแฟกันนะ แต่ถ้าใครดื่มอยู่แล้วก็อาจจะได้รู้สึกชื่นมื่นยามดื่มยามดม เครื่องดื่มขมๆนี่เพิ่มอีกนิดนึง (ถ้าดื่มแบบหวานๆ วันละหลายแก้ว แล้วได้รับน้ำตาลเยอะเกินก็ระวังเอาเองแล้วกันเด้ออออ)

อ้อ ใครที่สนใจจะทานกาแฟดำผสมน้ำมะนาว เพื่อเร่งการเผาผลาญไขมัน ก็อยากให้ลองอ่านบทความนี้นะครับ ว่าได้ผลดีประการใด "กาแฟดำผสมน้ำมะนาว สูตรลดน้ำหนัก เผาผลาญไขมัน" เอาจริงๆมันแทบจะไม่ได้ผลอะไรหรอกครับ แต่ข้อดีของการทานทั้งกาแฟ หรือน้ำมะนาวมันก็มี ถ้าไม่ชอบกินผสมกันจะกินแยกก็ได้ หรือถ้าไม่ชอบเลยจะไม่กินมันก็ไม่เสียหายอะไร [5]

อ้างอิง

  1. Tommerdahl, K. L., Hu, E. A., Selvin, E., Steffen, L. M., Coresh, J., Grams, M. E., Bjornstad, P., Rebholz, C. M., & Parikh, C. R. (2022). Coffee Consumption May Mitigate the Risk for Acute Kidney Injury: Results From the Atherosclerosis Risk in Communities Study. Kidney International Reports. https://doi.org/10.1016/j.ekir.2022.04.091
  2. Hu, E. A., Selvin, E., Grams, M. E., Steffen, L. M., Coresh, J., & Rebholz, C. M. (2018). Coffee Consumption and Incident Kidney Disease: Results From the Atherosclerosis Risk in Communities (ARIC) Study. American Journal of Kidney Diseases, 72(2), 214–222. https://doi.org/10.1053/j.ajkd.2018.01.030
  3. Brown NJ, Ryder D, Nadeau J. Caffeine attenuates the renal vascular response to angiotensin II infusion. Hypertension. 1993;22:847–852. https://doi.org/10.1161/01.hyp.22.6.847
  4. Iglesias-Aguirre, C. E., Cortés-Martín, A., Ávila-Gálvez, M., Giménez-Bastida, J. A., Selma, M. V., González-Sarrías, A., & Espín, J. C. (2021). Main drivers of (poly)phenol effects on human health: metabolite production and/or gut microbiota-associated metabotypes? Food & Function, 12(21), 10324–10355. https://doi.org/10.1039/D1FO02033A
  5. บัวเพ็ชร, พงศ์พันธ์. (2021, November 8). กาแฟดำผสมน้ำมะนาว สูตรลดน้ำหนัก เผาผลาญไขมัน. Fat Fighting. Retrieved June 29, 2022, from https://www.fatfighting.net/articles-2021-11-07-black-coffee-and-lemon-lime-burn-your-fat-way/

GO TOP

🎉 You've successfully subscribed to Fat Fighting!
OK