ในช่วงปีสองปีนี่พวกกาแฟที่มาเป็นแคปซูล ก็ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น (เพิ่มขึ้นไม่ได้หมายถึงว่ามากนะ ๕๕) ทีนี้มันก็เกิดคำถามขึ้นมาว่า เอ๊ะ แล้วมันปลอดภัยรึเปล่า เพราะแพคเกจของมันเนี่ย ก็เท่าที่เห็นๆกันคือทำมาจากพลาสติกสักแบบนึงนั่นแหละ
ซึ่งก่อนหน้านี้มันก็มีงานที่เขาศึกษาบรรจุภัณฑ์ทำนองนี้ ว่ามันมีพวกสารเคมีต่างๆ ปนเปื้อนในวัตถุอาหารที่บรรจุอยู่ งานแรกที่เอามาแชร์ในวันนี้เป็นงานของ Sakaki และคณะ (2021) [1] เขาศึกษา ฤทธิ์ของเอสโตรเจน (estrogenic activity) ใน กาแฟแคปซูล ดูจากข้อมูลแล้วงานนี้น่าจะทำในสหรัฐ

เค้าก็สั่งกาแฟแคปซูลมา 6 ยี่ห้อ ไอ้ 6 ยี่ห้อเนี่ยมันใช้เครื่องไม่เหมือนกัน มีใช้ร่วมกันได้ 4 กับ 2 เท่ากับจะมีเครื่องที่ทำการชงทั้ง 6 ยี่ห้อนี่อยู่ 2 เครื่อง แล้วเขาก็ทดลองเปรียบเทียบกับการอัดน้ำเปล่าๆ ผ่านทั้งสองเครื่อง

ผลก็พบว่าทั้ง 6 ยี่ห้อเนี่ย มันมี Estrogenic activity (ใช้วิธี VM7Luc4E2 ในการทดสอบ) ส่วนน้ำเปล่าเนี่ยไม่มี ก็แปลว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากเครื่อง แต่น่าจะมาจากส่วนใดส่วนนึงแหละของกาแฟที่บรรจุในแคปซูล จากบรรจุภัณฑ์รึเปล่าอันนี้ไม่รู้

แต่ว่าปริมาณของสารที่ว่าเนี่ย มันจะมากหรือน้อย จะมีผลอะไรในร่างกายคนมั้ยเนี่ยเขาไม่ได้ทดสอบ เฉพาะในงานนี้เขาก็ศึกษาไว้แค่ตรงนี้นะ ว่าเอ้อ เอามาลองดูแล้วเนี่ย มันมี Estrogenic activity เกิดขึ้น
พอหลังจากนั้นนักวิจัยคนเดิม เขาก็ไปศึกษาว่าไอ้กาแฟแคลปซูลที่ชงมาแล้วเนี่ย มี Estrogenic activity มันมีผลยังไงในร่างกายมนุษย์บ้าง เพราะตอนแรกแค่เอากาแฟที่ชงแล้วมาดูค่าในหลอดทดลอง (in vitro) เขาก็เลยทำการศึกษาในคนบ้าง งานนี้ก็เป็นงานของ Sakaki และคณะ (2022) [2]

ก็เอาคนสุขภาพดีนี่แหละมา 30 คน (รายละเอียดดูในงานกันเลยนาครับ) แบ่งกลุ่มแล้วก็ให้มากินกาแฟแคปซูล แล้วก็กาแฟที่ชงจากเครื่องแบบ French press ที่วัสดุมันสเตนเลส แล้วก็ตรวจ Estrogenic chemical ในฉี่ พัก 6 วัน แล้วมาสลับกันทานแล้วก็เก็บตัวอย่างฉี่อีก

ผลคือ Estrogenic chemical มันก็น้อยมากจากกาแฟทั้งสองแบบเลย จากงานนี้เขาก็สรุปได้ว่า ถึงมันจะเจอ Estrogenic ในกาแฟแคปซูลหลังจากชงมาเนี่ย แต่พอกินเข้าไปแล้วมันก็ไม่ได้ทำให้มี Estrogenic chemical เพิ่มขึ้น แต่ก็อย่าลืมนะคับ ว่าในการทดลองเนี่ย กินแค่ระยะสั้นๆ แล้วตรวจผลเท่านั้น ถ้ากินยาวๆ จะมีผลสะสมรึเปล่า อันนี้ไม่รู้ ยังมีข้อจำกัดของการวิจัยอีกหลายสิ่ง

และที่เล่ามาทั้งหมดคือเขาศึกษาเฉพาะ Estrogenic chemical เท่านั้น .. ทีนี้เวลาผ่านไปไวเหมือนโกหก เขาก็ศึกษาเพิ่มแล้วก็มีงานออกมาศึกษาว่าไอ้การชงกาแฟด้วยวิธีต่างๆ มีผลยังไงกับ สารประกอบฟีนอลิก (Phenolic) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระบ้าง งานนี้ยังไม่ได้อ่านตัวเต็ม แต่ใน abstract ระบุไว้ว่าการดื่มกาแฟแคปซูล ได้รับสารต้านอนุมูลอิสระ มากกว่าแบบ French press จากการตรวจสารต้านอนุมูลอิสระจากฉี่

ก็ยังไม่รู้นะครับว่าสรุปแล้วกาแฟแคปซูลมันปลอดภัยหรือดีต่อสุขภาพมั้ย 55 แต่เท่าที่ติดตามมา 3 งานเหมือนว่าท้ายสุดถ้าดูที่ความเป็นสารต้านอนุมูลอิสระจะได้ผลที่ดี (แต่เรื่อง Estrogenic เขาก็มีกล่าวไว้ตั้งแต่ตอนทบทวนวรรกรรมในงานแรกอ่ะนะ ว่าตัวกาแฟเองมันมีคาเฟอีน ที่เป็น anti-estrogenic อยู่)
สรุป
ทั้งนี้ที่หยิบมาก็ให้เห็นว่าการศึกษาเรื่องๆนึง มันไม่ได้จบในงานเดียว งานนี้เจอผลงี้ ในหลอดทดลอง แต่มันเป็นแบบนั้นรึเปล่าตอนกินเข้าไปจริงๆ ก็ต้องดูไปเรื่อยๆ ดูว่าเขาทำกับอะไร เขาทำยังไง ผลมันออกมาว่าไง ตีความว่าไงได้บ้าง แล้ววันนี้ได้ผลแบบนี้ ก็ไม่แน่ว่าวันข้างหน้าอาจจะมีวิธีอะไรมาศึกษาแล้วพบอะไรที่ให้ผลต่างกันออกไปได้อีก
อ้างอิง
- Sakaki, J. R., Melough, M. M., Yang, C. Z., Provatas, A. A., Perkins, C., & Chun, O. K. (2021). Estrogenic activity of capsule coffee using the VM7Luc4E2 assay. Current research in toxicology, 2, 210–216. https://doi.org/10.1016/j.crtox.2021.05.003
- Sakaki, J. R., Provatas, A. A., Perkins, C., & Chun, O. K. (2022). Urinary excretion of estrogenic chemicals following consumption of capsule coffee and French press coffee: A crossover study. Toxicology Reports, 9, 728–734. https://doi.org/10.1016/j.toxrep.2022.03.024
- Nosal, B.M., Sakaki, J.R., Kim, DO. et al. Impact of coffee preparation on total phenolic content in brewed coffee extracts and their contribution to the body’s antioxidant status. Food Sci Biotechnol 31, 1081–1088 (2022). https://doi.org/10.1007/s10068-022-01100-4