ใส่เสื้อถ่วงน้ำหนักลดความอ้วนได้มั้ย ?

การใส่เสื้อถ่วงน้ำหนักไว้ช่วยลดความอ้วนได้มั้ย ? งานวิจัยนี้ทำให้เห็นคำตอบได้อย่างชัดเจนครับ


ใส่เสื้อถ่วงน้ำหนักลดความอ้วนได้มั้ย ?

เคยเห็นเสื้อถ่วงน้ำหนัก (Weight vest) ที่ขายกันตาม shopee lazada แล้วเกิดความสงสัยไหมครับ ว่าใส่แล้วมันช่วยลดน้ำหนักได้รึเปล่า งานนี้เขาก็เกิดความสงสัยแบบเดียวกัน เลยมาลองทำการทดลองดูว่ามันมีผลมั้ย

Athletic handsome, mature male wearing a 25lbs Intenza Weight Vest whilst exercising outdoors.
Photo by Intenza Fitness / Unsplash

เผื่อใครนึกภาพไม่ออก ถ้าใครรุ่นๆเดียวกันกับผม แล้วนึกถึงไอ้ชุดนี้ไม่ออกถ้าบังเอิญเป็นแฟนการ์ตูน Dragon ball สมัยก่อนก็อาจจะนึกถึงชุดถ่วงน้ำหนักของโงกุน (Goku) ในภาคแรกๆ แบบนั้นแหละครับ ๕๕

งานนี้เป็นการศึกษาของ Ohlsson และคณะ (2022) [1] วิจัยแบบ randomize controlled trial ทำในกลุ่มคนสุขภาพดี ทั้งชายและหญิงนะครับ เป็นคนที่มีภาวะอ้วนระดับ 1 (BMI ระหว่าง 30-35) อายุระหว่าง 18-70 ปี ทั้งหมด 72 คน ก็ถือว่าเป็นกลุ่มที่กว้างทั่วไปครอบคลุมคนอ้วนได้จำนวนเยอะอยู่นะครับ เผื่อว่าเราจะนำผลการทดลองนี้ไปแปลผลใช้กับตัวเองหรือคนรู้จักบ้าง ๕๕

ทดลองยังไง ?

วิธีการทดลองเขาก็แบ่งคนเป็นสองกลุ่มแบบสุ่มครับ โดยเป็นกลุ่มแบกน้ำหนักเบา (Low Load) และกลุ่มแบกน้ำหนักหนัก (High Load) ความแตกตางระหว่างสองกลุ่มนี้ ก็คือกลุ่ม Low load จะให้ใส่ชุดแบบเดียวกันแต่ใส่น้ำหนักแค่ 1% ของน้ำหนักตัว ส่วนกลุ่ม High load จะใช้น้ำหนัก 11% ของน้ำหนักตัว ที่ทำแบบนี้เพื่อให้เห็นความต่างของการแบกน้ำหนักต่างกัน 10%

รูปแบบการทดลอง

ทำไมถึงไม่ให้เป็นไม่ใส่เสื้อถ่วงน้ำหนัก กับใส่เสื้อถ่วงน้ำหนัก 10% ล่ะ ? ผมคิดว่าน่าจะเป็นการควบคุมตัวแปรอย่างนึงนะครับ เพราะถ้ากลุ่มเปรียบเทียบ ทำโดยไม่ใส่เสื้อถ่วงน้ำหนัก ถ้าเกิดใส่แล้วลดได้มากกว่า ก็อาจจะมีข้อสงสัยอีกว่า น้ำหนักที่ลดแม่งเป็นเหงื่อป่าววะ ก็เลยให้ใส่เสื้อแบบเดียวกันทั้งสองกลุ่มไปเลย ต่างกันที่โหลด

เขากำหนดให้ใส่เสื้อที่ว่านี้ไว้วันละ 8 ชั่วโมง เป็นระยะเวลา 3 สัปดาห์ แต่ว่าใส่จริงๆกี่ชั่วโมงก็ให้บันทึกมาบอกเขาอีกทีนะครับ แล้วก็ให้ใช้ชีวิตประจำวันตามปกติไป แล้วก็กำหนดอีกว่าห้ามให้ใส่เกินเวลาที่กำหนดเกิน 20% (1.6 ชม.)

วัดผลยังไงบ้าง ?

ก่อนเริ่มก็มีการวัดผลโดยให้ชั่งน้ำหนัก แล้วก็ดูพวกสัดส่วนมวลกาย (Body Composition) ด้วย BIA ทั้งน้ำหนักและมวลกายทำโดยเครื่อง Tanita MC-180MA) ทำไมถึงไม่ใช้ DXA เขาอ้างอิงงานวิจัยที่ศึกษาความคลาดเคลื่อนของ BIA กับ DXA ที่เป็น gold standard ไว้ว่ามีความน่าเชื่อถือที่ใช้ได้ในกลุ่มตัวอย่าง

แล้วก็มีการเก็บตัวอย่างเลือดเพื่อนำไปดูค่าน้ำตาล ค่า lipid profile ต่างๆ ส่วนค่าพลังงานอาหารที่รับประทาน ใช้แบบสอบถามที่เรียกว่า Short Dietary Questionanaire ใส่กรอกทุกสัปดาห์ ระหว่างทำการวิจัยห้ามดื่มแอลกอฮอล์เยอะ (ดื่มได้แต่อย่าเยอะ) ที่เล่าทั้งหมดนี้ เพื่อบอกว่าเขาก็ควบคุมปัจจัยต่างๆดีอยู่นะครับ

ผลที่ได้คือ ?

ผลที่พบก็คือ.. ในช่วง 3 สัปดาห์ น้ำหนักตัวในกลุ่ม High load นั้นลดได้มากกว่าเฉลี่ย 1.31kg  ทั้งผู้ชายผู้หญิงนะครับ ส่วนการลดไขมันกลุ่ม High load ก็ลดไขมันได้มากกว่าเฉลี่ย 1.73kg ตรงนี้บางคนอาจจะสงสัยทำไมลดไขมันได้ 1.7 แต่ลดน้ำหนักได้แค่ 1.3 ก็เพราะว่ากลุ่ม High load นั้นมวลกายไม่รวมไขมันเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

น้ำหนักในกลุ่ม High load ลดมากกว่ากลุ่ม Low load อย่างมีนัยสำคัญทางสถิตินะครับ

พวกผลเลือด การทานอาหารต่างๆ มีความเปลี่ยนแปลงบ้าง แต่ไม่ได้มีนัยสำคัญทางสถิตินะครับ ที่น่าสนใจคือในเรื่องผลข้างเคียงต่างๆ ในระยะเวลาสั้นๆนี้ ก็ไม่มีรายงานอะไร หรือบางอย่างถ้ามีก็ดันมีในกลุ่มที่ไม่ได้โหลดหนักด้วย แปลว่าไม่เกี่ยวกับโหลดแล้ว 55

สรุป

ก็น่าสนใจอยู่สำหรับใครที่เล็งๆไอ้ชุดถ่วงน้ำหนักแบบนี้ อยากจะซื้อมาใส่เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงแบบชาวไซย่า ถ้าใส่น้ำหนักเพิ่ม 10% ของน้ำหนักตัวเป็นระยะเวลา 3 สัปดาห์วันละ 8 ชั่วโมง อาจจะส่งผลให้ลดน้ำหนักได้ ทั้งๆที่ไม่ได้คุมอาหารอะไรเลยด้วย

อย่างไรก็ตามในระยะยาว คงต้องดูผลเรื่องการ adaptation ต่างๆ มาคิดอีกทีนะครับ ว่ายังคงลดได้อยู่มั้ย ร่างกายแข็งแรงขึ้นจนมันไม่ส่งผลต่อการลดน้ำหนักแล้วรึเปล่า จะนำกลยุทธ์อะไรมาใช้หลังจากนั้น อันนี้ก็ค่อยว่ากันอีกที รวมถึงผลกระทบอื่นๆอีกทีนะครับ

อ้างอิง

  1. Ohlsson, C., Gidestrand, E., Bellman, J., Larsson, C., Palsdottir, V., Hägg, D., Jansson, P. A., & Jansson, J. O. (2020). Increased weight loading reduces body weight and body fat in obese subjects – A proof of concept randomized clinical trial. EClinicalMedicine, 22, 100338. https://doi.org/10.1016/j.eclinm.2020.100338

GO TOP

🎉 You've successfully subscribed to Fat Fighting!
OK