ระวัง .. ผู้หญิงอ้วนอาจจะอ้วนขึ้นในช่วงรอบเดือน ได้ง่าย

ในช่วงประจำเดือน หลายคนมีความอยากกินนั่นนี่โน่นที่เพิ่มขึ้น ส่วนนึงเป็นผลจากฮอร์โมนที่ทำให้เราอยากมากขึ้น แต่การกินเยอะขึ้นในช่วงนี้ สำหรับคนอ้วน อาจจะต้องระวังนะครับ


ระวัง .. ผู้หญิงอ้วนอาจจะอ้วนขึ้นในช่วงรอบเดือน ได้ง่าย

งานนี้เป็นการศึกษาของ Maury-Sintjago และคณะ (2022) [1] เป็นการศึกษาแบบ Cross-sectional เพื่อดูผลของสิ่งต่างๆ ที่เป็นเรื่องพฤติกรรมการกิน (Eating behavior) และการอัตราการเผาผลาญพลังงานขณะพัก (Resting Metabolic Rate)ในช่วงรอบเดือน (Menstrual cycle phases) ของผู้หญิงนะครับ

Maury-Sintjago และคณะ (2022)

ในช่วงรอบเดือนนั้น ก็จะแบ่งเป็นช่วงก่อนการตกไข่ (Follicular phase) และ ช่วงหลังไข่ตก (Luteal phase) เขาก็จะดูว่าการกิน การเผาผลาญในช่วงต่างๆ ของผู้หญิงแต่ละกลุ่มนั้นเป็นยังไงบ้าง โดยแยกเป็นกลุ่มที่ไม่มีภาวะอ้วน (Lean) และกลุ่มที่มีภาวะอ้วน (Obese) นะครับ

ระดับฮอรโมนต่างๆ ในช่วงรอบเดือน

ทำการศึกษาในคนกลุ่มไหน ?

กลุ่มตัวอย่างที่เขาศึกษามีจำนวน 30 คน Lean 15 คน และกลุ่ม Obesity 15 คน อายุก็ระหว่าง 18-25 ปี ทุกคนมีรอบเดือนของตัวเองเป็นปกตินะครับ  ไม่ได้มีการใช้ยาควบคุมฮอร์โมน ยาลดน้ำหนัก ตั้งท้องหรือให้นมบุตร หรือมีน้ำหนักขึ้นลงผิดปกติในช่วง 3 เดือนล่าสุด

Photo by Szabolcs Toth / Unsplash

เก็บข้อมูลต่างๆยังไง ?

โดยเขาก็เก็บผลน้ำหนักตัวในช่วงเช้าหลังปัสสาวะเรียบร้อยแล้ว ในช่วงก่อนตกไข่ ระหว่างวันที่ 6 และ 13 ส่วนช่วงหลังไข่ตก ก็ระหว่างวันที่ 15 และ 18 การชั่งน้ำหนักมีการควบคุมต่างๆเป็นอย่างดีนะครับ ส่วนสัดส่วนมวลกาย (Body composition) นั้นใช้เครื่อง BIA รุ่น Bodystat Quadscan ใครที่ body fat ไม่เกิน 30 ก็คือไม่อ้วน

แล้วก็มีการเก็บข้อมูลการรับประทานอาหาร โดยใช้สอบถามย้อนหลัง 24 ชั่วโมง วันธรรมดา 2 วันวันหยุด 1 วัน ส่วนการเผาผลาญใช้ Indirect calorimetry วัด CO2 เพื่อมาคำนวณการเผาผลาญขณะพัก (RMR) นะครับ ก็โอเคแหละ ได้มาตรฐานอยู่ หลังจากเก็บค่าต่างๆ ก็นำมาวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติ

ข้อมูลที่พบในกลุ่มตัวอย่าง

ผลก็คือ ?

ซึ่งเขาก็พบว่าความเปลี่ยนแปลงน้ำหนักตัว ในคนสองกลุ่ม ในช่วงก่อนและหลังตกไข่เนี่ย ไม่ค่อยต่างกันเท่าไหร่นะครับก็คล้ายๆกัน กลุ่ม Lean จะมีอุณหภูมิร่างกายในช่วงหลังตกไข่สูงกว่าช่วงก่อน แล้วก็จะกินพลังงานเยอะกว่าโดยที่เยอะเนี่ยจะเป็นอาหารกลุ่มไขมัน ในชณะที่กลุ่ม Obesity ที่มีภาวะอ้วนนั้น จะทานพลังงานสูงขึ้นโดยสูงขึ้นจากอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรต

ประเด็นที่น่าสนใจอยู่ตรงที่ค่าการเผาผลาญพลังงาน RMR ในช่วงที่ทานเยอะขึ้นเนี่ยดันสูงขึ้นเฉพาะในกลุ่ม Lean อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเสียด้วย กลุ่ม Obesity ค่า RMR ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากเท่ากับกลุ่ม Lean

เมื่อเปรียบเทียบความเปลี่ยนแปลงในช่วงรอบเดือน

ตรงนี้อาจจะเป็นจุดนึงที่อธิบายได้ว่าทำไมการควบคุมน้ำหนักของผู้หญิงในช่วงรอบเดือน โดยเฉพาะคนที่มีภาวะอ้วนเนี่ยทำได้ยาก เพราะว่ามันมีผลในเรื่องของระดับการเผาผลาญ รวมถึงฮอร์โมนที่ควบคุมเรื่องความอยากอาหาร เข้ามาเกี่ยวข้อง [2]

ค่า RMR ที่เพิ่มขึ้นในในช่วงตกไข่มีการศึกษาพบว่ามีความสัมพันธ์กับระดับ Estrogen ที่สูงขึ้น แต่ปัญหาก็คือมีการศึกษาพบว่าในกลุ่มคนที่อ้วนนั้นระดับ Progesterone และ Estrogen ดันต่ำ [3] แล้ว Estrogen นี่ก็มีส่วนในการควบคุมการทาน แล้วก็มีผลต่อการแสดงออกของโปรตีน UCP-1 ซึ่งมีบทบาทเพิ่มการเผาผลาญ [4]

การเผาผลาญช่วงหลังไข่ตกสูงขึ้นน้อยในกลุ่มคนอ้วน

จากข้อมูลในการศึกษานี้ก็พบว่ากลุ่ม Lean มีอุณหภูมิร่างกายในช่วงหลังไข่ตกสูงขึ้น ตรงนี้ก็สอดคล้องกับอัตราการเผาผลาญที่เพิ่มขึ้นด้วย อย่างไรก็ตามกลุ่ม Obesity ในงานนี้ น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นในช่วงหลังไข่ตก ส่วนนึงมาจากปริมาณน้ำภายนอกเซลล์ในร่างกาย หรืออาการบวมน้ำนั่นเอง อ่ะก็สบายใจได้นิดว่าน้ำหนักที่อาจจะเพิ่มขึ้นทั้งหมดอาจจะไม่ใช่ไขมัน

แต่มันก็มีโอกาสที่จะทำให้เกิดความอ้วนขึ้นได้ในทุกๆ รอบเดือนอยู่นะครับ เพราะว่ามันเกิดการกินเพิ่ม ซึ่งพบทั้งสองกลุ่มแต่กลุ่มที่อ้วนเนี่ย RMR ดันไม่ได้สูงขึ้นตามมาด้วย เหมือนกลุ่มที่เขา Lean

ซึ่งพอถึงจุดนึง มันอาจจะเป็นงูกินหางได้นะครับ อ้วนขึ้น Estrogen ลดลงการเผาผลาญไม่เพิ่ม กินเพิ่ม อ้วนเพิ่ม ฮอร์โมนเปลี่ยน การเผาผลาญลด กินเพิ่ม อ้วนเพิ่ม อาจจะไม่ได้เพิ่มพรวดพราดหรอก แต่ถ้าเราไม่ได้สังเกตอะไรเลย ผ่านไปหลายๆเดือน ชั่งน้ำหนักดูสุขภาพประจำปี อุ่ย มาจากไหนเยอะแยะ

White plus size woman reading on couch with dog
Photo by AllGo - An App For Plus Size People / Unsplash

สรุป

จากข้อมูลตรงนี้ มันก็นำไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนการโภชนาการ การออกกำลังกายได้นะครับ จะไปคิดว่าไม่เป็นไรหรอก ฮอร์โมนมันเปลี่ยน มันอยากกินอ่ะ กินๆ เดี๋ยวพ้นช่วงนี้ไป ก็ปกติ บางทีผ่านไปหลายๆรอบ มันอาจจะไม่เป็นอย่างที่คิด

เพราะว่ามันมีโอกาสมากที่ตอนทานเยอะขึ้น เพราะคิดว่าฮอร์โมนเปลี่ยนไม่เป็นไรหรอก มันจะเยอะมากเกินไปจนทำให้เกิดไขมันสะสมส่วนเกินได้ในที่สุด แล้วไอ้ไขมันส่วนเกินนี้ ก็จะส่งผลอะไรต่อมิอะไรไปได้อีกหลายอย่างหลังจากนั้น อย่างเช่นการควบคุมการกินไม่ได้ [5] ซึ่งตรงนี้ไม่ได้เกี่ยวกับช่วงรอบเดือนแล้ว แต่มันจะเป็นในช่วงเวลาอื่นๆด้วย พอถึงเวลาที่มันไปเยอะแล้ว มันก็จัดการยากขึ้น

อ้างอิง

  1. Maury-Sintjago, E., Rodríguez-Fernández, A., Parra-Flores, J., & Ruíz-De la Fuente, M. (2022). Obese Women Have a High Carbohydrate Intake without Changes in the Resting Metabolic Rate in the Luteal Phase. Nutrients, 14(10), 1997. https://doi.org/10.3390/nu14101997
  2. Van Pelt, R.E.; Gavin, K.M.; Kohrt, W.M. Regulation of Body Composition and Bioenergetics by Estrogens. Endocrinol. Metab. Clin. N. Am. 2015, 44, 663–676. https://doi.org/10.1016/j.ecl.2015.05.011
  3. Freeman, E.W.; Sammel, M.D.; Lin, H.; Gracia, C.R. Obesity and reproductive hormone levels in the transition to menopause. Menopause 2010, 17, 718–726. https://doi.org/10.1097/gme.0b013e3181cec85d
  4. Eckel, L.A. The ovarian hormone estradiol plays a crucial role in the control of food intake in females. Physiol. Behav. 2011, 104, 517–524. https://doi.org/10.1016/j.physbeh.2011.04.014
  5. Laura A Berner, Danielle Arigo, Laurel ES Mayer, David B Sarwer, Michael R Lowe, Examination of central body fat deposition as a risk factor for loss-of-control eating, The American Journal of Clinical Nutrition, Volume 102, Issue 4, October 2015, Pages 736–744, https://doi.org/10.3945/ajcn.115.107128

GO TOP

🎉 You've successfully subscribed to Fat Fighting!
OK