ไม่เท่านั้นนะครับ ข้อบ่งชี้ทางชีวภาพ (Biomarkers) ของไมโตคอนเดรีย ก็ดีขึ้นด้วย ซึ่งแหล่งอาหารที่พบเจ้า Urolithin A (UA) นี่มากๆ ก็อย่างเช่น ลูกทับทิม เอ๊ะ แล้วแบบนี้ดื่มน้ำทับทิมทุกวันเลยดีมั้ยเนี่ย ??
งานวิจัยพบอะไรบ้าง ?
งานนี้เป็นการศึกษาของ Singh และคณะ (2022) [1] ทดลองในกลุ่มคนสุขภาพดีวัยกลางคนนะครับ จำนวน 88 คน เป็นการศึกษาแบบ Randomized , double-blind , placebo-controlled แยกคนออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มที่ให้ทานตัวหลอก (Placebo) และให้ทาน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร Urolithin A 500mg (UA500) ต่อวันกลุ่มนึง อีกกลุ่มทาน 1000mg ต่อวัน (UA1000)

ทดลองและวัดผลยังไง ?
ทำการทดลองระยะเวลาทั้งสิ้น 120 วันหรือประมาณ 4 เดือน แล้วก็ดูเรื่องผลข้างเคียงต่างๆ ว่ามีรายงานมั้ย พวกข้อบ่งขี้ทางชีวภาพนี่ดูเยอะมากนะครับ การ ส่วนพวกประสิทธิภาพในการออกกำลังกาย ความแข็งแรง นี่ก็มีการทดสอบค่อนข้างละเอียด มีทั้งใช้จักรยานวัดงาน วัดความแข็งแรงของการกำมือ วัดค่า Vo2Max ดู 6-min walk test

การตรวจสอบทางร่างกาย สัดส่วนมวลกาย (Body composition)ก็ใช้ DXA เก็บผลเลือดเพื่อดูค่าทางต่างๆ ดูค่าการอักเสบ CRP และ Cytokine รวมถึงดูด้วยว่า UA ที่ร่างกายได้รับนั้นมีปริมาณเท่าไหร่ ดูค่าที่เป็นเรื่องของ Metabolomics ไม่เท่านั้นยังใช้ Biospy ดูเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อ ดู mRNA เพื่อนำไปดูถึง Gene expression
จากเนื้อเยื่อก็นำมาศึกษา Proteomics วิเคราะห์ Western blot เพื่อดูโปรตีนที่เขาสนใจ วิเคราะห์ mtDNA/nuDNA เรียกว่าทดลองแล้วก็เก็บค่าต่างๆซะเต็มสูบเลย ละเอียดมากๆ
ผลที่ได้คือ ?
ผลที่ได้ออกมานี่เยอะมากนะครับ ใครสนใจรายละเอียดลองไปดูในงานต้นฉบับเอาเลย นอกจากจะได้เรื่อง Urolithin A แล้วยังจะได้อ่านรายละเอียดการศึกษาของเขาด้วย
ทีนี้มาดูตรงผลที่น่าสนใจสำหรับเรากันดีกว่า หลักๆเขาก็พบว่าการทาน Urolithin A ในรูปอาหารเสริมเนี่ย ช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อได้ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม UA500 หรือ UA1000 โดยพบในความแข็งแรงของกล้ามเนื้อขา ซึ่งทดสอบด้วย Biodex Dynamometer

ส่วนความแข็งแรงของการกำมือ ซึ่งวัดผลด้วย Jamar dynamometer รวมถึงความเปลี่ยนแปลงสัดส่วนมวลกาย ไม่พบความแตกต่างอะไรนะครับ ผลข้างเคียงอื่นๆ ก็ไม่มีรายงานอะไร
ทีนี้มาดูในเรื่องของ ประสิทธิภาพการออกกำลังกาย Aerobic Endurance มีผลดีขึ้นให้เห็นอยู่บ้างแต่ยังไม่ชัดเจนนัก รวมถึงยังไม่ค่อยมีนัยสำคัญทางสถิติโผล่มาให้เห็นได้ด้วยเช่นกัน มีแค่กลุ่ม UA1000 ที่มีผลของการเดิน 6 นาที และ VO2Peak ที่เพิ่มขึ้นมาชัดเจนหน่อย

ก็อาจจะตีความได้ว่าในระยะเวลาที่ทาน 4 เดือน ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้นเห็นชัด แต่เมื่อดูภาพใหญ่กว่าที่ประสิทธิภาพในการทำงานของร่างกายต่อกิจกรรมจริงๆ มันจะเริ่มเห็นผลเมื่อรับในโดสที่สูงขึ้นและนานขึ้น กลุ่ม 500UA จึงไม่ค่อยเห็นผลในด้านประสิทธิภาพการออกกำลังกายให้เห็นชัดเจน
พวกค่าเลือด รวมถึงข้อบ่งชี้ทางชีวภาพอื่นๆ การอักเสบ ค่าที่ดูเรื่องของสุขภาพของกล้ามเนื้อโครงร่าง พบว่ามีผลบวกอยู่บ้าง โดยเป็นการเข้าไปปรับปรุงการทำงานของ Mitochondrial และลดการอักเสบนั่นเอง

ก็น่าสนใจอยู่นะครับ ถ้ามองในแง่ว่าอาจจะนำมาใช้เป็น Ergogenic aids เพื่อเพิ่มสมรรถภาพทางการกีฬาสำหรับนักกีฬา หรือคนที่ชื่นชอบในการออกกำลังกาย
แล้วแบบนี้ทานน้ำทับทิมทุกวันดีมั้ย ?
ทีนี้มีอีกจุดนึงที่ผมตั้งคำถามไว้ข้างต้น ว่าเอ๊ะ มันก็มีการศึกษาพบว่า Urolithin A นี่มีในทับทิม แบบนี้ถ้าเราทานน้ำทับทิมทุกวันก็มีผลดีได้สินะเนี่ย ? ต้องบอกก่อนว่าในทับทิม (หรือแม้แต่เบอรี่อื่นๆเนี่ย) ตัว UA มันไม่ได้มีอยู่โทงๆ แต่มันอยู่ในรูปของ Ellagitannins ซึ่งเมื่อเรารับประทานเข้าไปร่างกายจะเปลี่ยน ให้อยู่ในรูปของ Ellagic acid
จากนั้นพวกแบคทีเรียในร่างกาย จะเปลี่ยน Ellagic acid ให้เป็น Urolithin A อีกที [2] แปลว่าต้องไปลุ้นกันอีกนะครับ ว่าในร่างกายแต่ละคนมีปริมาณแบคทีเรียที่ทำหน้าที่ดังกล่าวปริมาณกี่มากน้อย
จากการศึกษาของ Singh และคณะ (2021) [3] คนเดียวกันกับงานข้างบนนี้แหละ พบว่าจากน้ำทับทิม เราจะได้รับ UA ราว 40% เท่านั้นเองนะครับ (บางคนอาจจะรู้สึกเฮ้ย โอเคนะ ได้ตั้ง 40% ไม่แย่ อันนี้ก็แล้วแต่มุมมองนะครับ :-)
และนอกจากนั้นก็คงต้องดูด้วยว่าจากน้ำทับทิมที่ทานมันมีการใส่อย่างอื่นเพิ่มเติมอีกเท่าไหร่รึเปล่า ถ้าสดเลยก็โอเค ถ้ามีการเติมน้ำหวานอะไรเข้าไป ก็ต้องนำมาคิดอีกขั้นด้วย มันก็มองได้หลายทาง จริงๆการทานน้ำทับทิม หรือผลเบอรี่ต่างๆ นอกจาก UA แล้วเราก็ยังได้สารโพลีฟีนอล ซึ่งเป็นประโยชน์กับร่างกายในด้านอื่นๆ อีกด้วย
ในคนทั่วๆไป คิดว่าทานจากผลไม้ ผลเบอรี่ก็น่าจะมีประโยชน์โอเคอยู่ (แต่น่าจะเปลืองเงินเอาเรื่อง๕๕) ส่วนถ้าหวังผลทางด้านประสิทธิภาพทางกาย ทางการกีฬา ทานเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารน่าจะตอบโจทย์ตรงเป้ากว่า
อ้างอิง
- Singh, A., D’Amico, D., Andreux, P. A., Fouassier, A. M., Blanco-Bose, W., Evans, M., Aebischer, P., Auwerx, J., & Rinsch, C. (2022). Urolithin A improves muscle strength, exercise performance, and biomarkers of mitochondrial health in a randomized trial in middle-aged adults. Cell Reports Medicine, 3(5), 100633. https://doi.org/10.1016/j.xcrm.2022.100633
- วัลวิภา เสืออุดม และ ระพีพันธุ์ ศิริเดช์. (2016). ทับทิมผลไม้เพื่อสุขภาพ. วารสารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ, 2(2). http://scijournal.hcu.ac.th/ojs/index.php/scijournal/article/view/65
- Singh, A., D’Amico, D., Andreux, P. A., Dunngalvin, G., Kern, T., Blanco-Bose, W., Auwerx, J., Aebischer, P., & Rinsch, C. (2021). Direct supplementation with Urolithin A overcomes limitations of dietary exposure and gut microbiome variability in healthy adults to achieve consistent levels across the population. European Journal of Clinical Nutrition, 76(2), 297–308. https://doi.org/10.1038/s41430-021-00950-1