ความเหนื่อยล้าทางจิตใจส่งผลต่อประสิทธิภาพในการออกกำลังกายหรือไม่ ?

เมื่อเรารู้สึกเหนื่อยล้าทางด้านความคิด ทางจิตใจจะส่งผลกับการออกกำลังกายรึเปล่า ?


ความเหนื่อยล้าทางจิตใจส่งผลต่อประสิทธิภาพในการออกกำลังกายหรือไม่ ?

งานวิจัยชิ้นนี้ที่จะนำมาแชร์กัน เป็นการศึกษาของ DARÍAS และคณะ (2023) เพื่อดูผลของความล้าทางจิตใจของแต่ละบุคคล (Individualized Mental Fatigue) ต่อการทำงานของกล้ามเนื้อร่วมประสาท (Neuromuscular Function) และประสิทธิภาพในการออกกำลังกาย (Exercise Performance) [1]

HOLGADO และคณะ (2023)

ก่อนอื่นที่มาที่ไปของการศึกษาในครั้งนี้เขาบอกไว้ว่ามันมีงานวิจัยจำนวนมากนะ ในหลายสิบปีที่ผ่านมา ที่บอกว่างานใดๆก็ตามที่ทำให้เกิดการใช้ความคิด ใช้สมอง จนทำให้เกิดเป็นความล้าทางจิตใจ (Mental Fatigue) นั้นส่งผลต่อประสิทธิภาพทางกาย (Performance) ในด้านต้างๆ ส่งผลในระดับระบบประสาทส่วนกลาง (Central nervous system) รวมถึงจุดเชื่อมต่อประสาทสั่งการกล้ามเนื้อ (Neuromuscular junction)

เอ้า ในเมื่อมีการศึกษามาก็เยอะ ทำไมเขาถึงมาศึกษาอีก ประเด็นก็คือเขาบอกว่าในงานหลังๆเนี่ย มันมีข้อถกเถียง และการศึกษาแบบ Meta-Analysis ชี้ว่ามันอาจจะมีอคติในการศึกษาต่างๆได้ (ด้วยอะไรก็ขอข้ามไปก่อนนะ) กระนั้นการไม่มีหลักฐาน ก็ไม่ใช่ว่ามันไม่เกิดสิ่งนั้น ดังนั้นเขาจึงลองศึกษาดู ว่ามันยังไงซิ จริงหรือไม่จริง หรือว่าแต่ละคนตอบสนองไม่เหมือนกัน

ทีนี้เขาก็บอกว่าเวลาเราทดสอบประสิทธิภาพทางกายเนี่ย โหลดมันขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล ... ลองนึกถึง 1RM นะครับ แต่ละคนก็ไม่เท่ากันถูกไหม เวลาที่เราบอกว่ายกหนักๆ หนักของคนหนุ่ม 1RM คือ 80kg แต่หนักของคนสูงอายุ 1RM อยู่ที่ 20kg ดังนั้นความหนักในทางกาย มันแตกต่างกันไป แต่ในการศึกษาเรื่อง Mental fatigue มันไม่เป็นเช่นนั้น [2] ดังนั้นเขาจึงบอกว่ามันต้องกระทำการศึกษาแบบรายคน Tailor made เป็นชุดสั่งตัดเฟร้ย ไม่ใช่เสื้อเหมาโหล

ศึกษายังไง ?

เขาก็ศึกษาได้ข้อมูลจากตัวอย่าง 22 คน เป็นชาย 18 หญิง 4 อายุเฉลี่ย 26.4 ปี ก็เป็นคนสุขภาพดีนี่แหละ เป็นคนที่แอคทีฟ มีกิจกรรมทางกาย ออกกำลังกายสม่ำเสมอ แล้วก็นำมาทดสอบเป็นการศึกษาในคนๆเดียวกัน แต่ให้ทำการทดสอบทั้งสองสภาวะนะครับ ภาวะควบคุมคือไม่มีการทำให้เกิด Mental Fatigue และอีกภาวะคือทำให้เกิดความล้า โดยให้ทำการทดสอบ Time Load Dual-back task ซึ่งเป็นวิธีการนึงที่ใช้ในการศึกษาด้านความสามารถทางปัญญา ด้านจิตวิทยาและประสาทวิทยา แล้วก็ดูประสิทธิภาพทางกายในการออกกำลังกาย

รูปแบบการศึกษา

ทีนี้เพื่อให้มันมีอะไรรองรับว่า การผ่าน Time Load Dual-back task จะก่อให้เกิด Mental Fatigue จริงๆ เขาก็ใช้ Transcranial magnetic stimulation (TMS) ซึ่งเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ากระตุ้นเปลือกสมองเพื่อวัดความตื่นตัวของ เส้นทางคอร์ติโคสไปนัล (Corticospinal tract) ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อทั่วร่างกาย สรุปก็คือใช้ตัวนี้แหละประเมินว่าเกิด Mental Fatigue หรือไม่ (และอื่นๆด้วย)

ก็พบว่าเกิด Mental Fatigue ขึ้นจริงๆ

ผลที่ได้คือ ?

ทีนี้พอมาดูผลทางด้าน Physical Performance โดยการให้ปั่นจักรยานวัดงานที่ 80% ของ Peak Power แล้วดูว่าจะหมดแรงตอนไหน รวมทั้งสอบถามความเหนื่อยด้วย Borg scale 1-10 ว่ารู้สึกยังไงบ้าง พบว่าใน 22 คนเนี่ย 12 คนดันทำได้ดีในภาวะ Mental Fatigue อีก 9 คนทำได้ดีตอนไม่มีภาวะ Mental Fatigue และ 1 คนที่ทำตอนไหนก็ไม่ต่างกัน

ถ้าดูจากแรง (Force) ซึ่งประเมินด้วยการทำ Knee extensor แล้ววัดแรง (ก็คือท่า Leg extension นั่นแหละครับ) ผลออกมาก็ใกล้เคียงกันทั้งสองภาวะ ซึ่งผลที่ได้จากงานนี้ ก็เป็นข้อมูลที่แย้งกับแนวคิดที่ว่า Mental Fatigue ส่งผลลบต่อประสิทธิภาพในการออกกำลังกาย ในคนกลุ่มนี้และการทดสอบแบบนี้นะครับ

แต่ผลในด้าน Exercise Performance ไม่ค่อยต่างกันเท่าไหร่

แสดงว่าความรู้สึก อะไรต่างๆ ไม่ส่งผลต่อการซ้อม การแข่ง ?

เอาละทีนี้พอข้อมูลมาแบบนี้ แปลว่าถ้าเรารู้สึกเหนื่อยล้า ท้อแท้ เครียด เศร้า ซึม บลาบลาบลา มันจะไม่ส่งผลต่อการออกกำลังกาย การฝึกซ้อม การแข่งการเล่นกีฬาของเรารึเปล่า ? ไม่ใช่ขนาดนั้นนะครับ ต้องไม่ลืมเลยว่าการศึกษาเรื่อง Mental Fatigue ทั้งงานนี้ และงานอื่นๆ มักจะเป็น "การจำลอง" ความล้าให้เกิดขึ้น เป็น Mental Fatigue ตามนิยามทางวิชาการ

แต่เรื่องของ Stress , Mood , Emotion หรือ Mental Fatigue ที่เราเผชิญในชีวิตจริง นี่มันเป็นอีกเรื่อง มันประกอบด้วยกลไกหลายอย่าง อาจจะทั้งทางกายภาพ ทางจิตวิทยา อาจจะมาพร้อมกับความวิตกกังวล ความเศร้า และอื่นๆ ที่การประเมิน Mental Fatigue จำลองแบบนี้ไม่อาจทำได้

ทั้งนี้แนวคิดเรื่อง Individualized นี่ก็น่าสนใจเพราะว่าบางครั้ง เราอาจจะเคยพบว่าบางคนอาจจะทำผลงานได้ดีภายใต้ Mental Fatigue ระดับหนึ่ง (แต่ระดับสองสามสี่ขึ้นไปอาจจะให้ผลตรงข้าม) ในความเป็นจริง ในทางปฎิบัติ เราไม่ได้ควบคุมตัวแปรต้น ตัวแปรตาม แบบในงานวิจัย การสังเกต บันทึก ติดตาม ประเมิน นักกีฬาหรือผู้ที่เราฝึกสอนให้ มาประกอบจากข้อมูล หลักฐานจากในงานต่างๆ นำมาประยุกต์ใช้ จึงเป็นสิ่งที่ควรทำนะครับ

ในแง่ของแรงก็ไม่ค่อยแตกต่างกันเท่าไหร่

อ้างอิง

  1. HOLGADO, DARÍAS1,2,3; JOLIDON, LÉO3; BORRAGÁN, GUILLERMO4; SANABRIA, DANIEL1,2; PLACE, NICOLAS3. Individualized Mental Fatigue Does Not Impact Neuromuscular Function and Exercise Performance. Medicine & Science in Sports & Exercise 55(10):p 1823-1834, October 2023. | DOI: https://doi.org/10.1249/MSS.0000000000003221
  2. 2.O’Keeffe K, Hodder S, Lloyd A. A comparison of methods used for inducing mental fatigue in performance research: individualised, dual-task and short duration cognitive tests are most effective. Ergonomics. 2020;63(1):1–12. https://doi.org/10.1080/00140139.2019.1687940

GO TOP

🎉 You've successfully subscribed to Fat Fighting!
OK