ค่า VO2 ในนาฬิกา Smart Watch เชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน ?

ค่า VO2 ที่ได้จากนาฬิกาออกกำลังกาย เชื่อถือได้แค่ไหน ? ใช้ได้จริง หรือแค่ใส่มาหลอกขายเพิ่มราคากันแน่ ? มาดูงานวิจัยให้เห็นกันไปเลยชัดๆ


ค่า VO2 ในนาฬิกา Smart Watch เชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน ?

ปัจจุบันนาฬิกาออกกำลังกาย Smart Watch , Sport Watch แทบทั้งหลาย ก็มักจะมีฟังก์ชั่นการคำนวณ VO2 มาให้กันแล้วแทบทั้งนั้นนะครับ ทีนี้คำถามก็คือว่า แล้วไอ้ค่านี้ของนาฬิกาพวกนี้ มันเชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน

เพราะบางคนก็เกือบจะฝากชีวิต ความหวัง ความตั้งใจ และทุกๆอย่างไว้กับเจ้านาฬิกาคู่ใจนี้กันเลยทีเดียว

งานชิ้นนี้ของ Düking และคณะ (2022) เขาเอาอุปกรณ์ที่เป็นรุ่นที่เป็น end consumer grade มาทดสอบ ซึ่งเขาเลือก Garmin 245 ซึ่งก็เป็นรุ่นยอดนิยมรุ่นนึงสำหรับนักวิ่งหลายๆท่าน

ทดลองในคนกลุ่มไหน ?

โดยมีนักวิ่งที่มาร่วมทดลอง 23 คน ชาย 11 หญิง 12 อายุเฉลี่ย 23 ปี สุขภาพดีปกติ ไม่ได้ระบุไว้ว่าเป็นกลุ่ม athlete นะครับ

Düking และคณะ (2022)

ทดลองยังไง ?

การทดลองเขาจัดให้มีการทดสอบ lab test ด้วยอุปกรณ์ในห้องทดลองเพื่อดู Oxygen consumption, HR, Respiratory exchange ration, lactate ของผู้ร่วมทดลองแต่ละท่านด้วยอุปกรณ์ในแลบอย่างละเอียด อุปกรณ์ที่ใช้ก็เป็นระดับ gold standard นั่นแหละครับ

จากนั้นก็จะมีวันอื่นอีก 3 วันที่ให้ใส่ Garmin 245 ไปวิ่งในสนาม โดยให้มีอย่างน้อย 10 นาทีในช่วงที่วิ่งนั้น HR อยู่เกิน 70% ของค่า Max Heart Rate ซึ่งก็ให้ทำแบบนี้ 3 วันนะครับ เพราะข้อมูลจากผู้ผลิตบอกว่า ในการวิ่งแต่ละครั้งที่ผ่านไปค่านี้อาจจะดีขึ้นเล็กน้อยได้ เขาก็เลยเก็บข้อมูลดู 3 ครั้งเลย

แล้วก็ค่อยกลับมาทดลองในห้องทดลองอีกทีนึงด้วยขั้นตอนเดียวกับที่ทำวันแรกเพื่อเอาข้อมูลไว้เปรียบเทียบ จริงๆก่อนหน้านี้ก็มีหลายงานที่ทดสอบคล้ายๆกันนะครับ แต่ก็อาจจะมีแตกต่างกันออกไปบ้าง บางงานทดสอบในแลบไปพร้อมกันเลยทั้งอุปกรณ์ Gold standard พร้อมทั้งใส่นาฬิกาพวกนี้ไปด้วย

รูปแบบของการทดลองในงานนี้นะครับ มีการเข้า Lab 2 ครั้ง และ Outdoor 2 ครั้ง

งานนี้มีความต่าง(ตามที่เขาบอก)ตรงที่เป็นการให้ออกไปวิ่งข้างนอก เอาผลที่ได้จากการใช้งานใกล้เคียงความจริงมาเทียบกันไปเลย  หลังจากนั้นก็เท่ากับว่าเขาจะได้ข้อมูลจาก lab test 2 ครั้ง และ การใช้งานจริง 3 ครั้ง มาเปรียบเทียบข้อมูลกัน

ผลที่ได้คือ ?

ผลที่ได้ก็คือ.... ในค่าความคลาดเคลื่อนของ Garmin 245 เมื่อเทียบกับค่าอ้างอิงที่ทดสอบในแลบ อยู่ที่ 4.1% ขอบเขตของช่วงที่ให้ความคลาดเคลื่อนดังกล่าวอยู่ในช่วง VO2peak 45-55ml/min/kg ซึ่งเขาก็บอกไว้ว่า ถ้าเป็นค่า VO2peak ที่สูงหรือต่ำกว่าขอบบนขอบล่างดังกล่าว เราก็อาจจะต้องไปดูกันอีกที เพราะมันอาจจะให้ค่าความคลาดเคลื่อนที่แตกต่างจากนี้ได้

VO2peak มีความคลาดเคลื่อนราว 4.1% ในช่วง 45-55ml/min/kg เมื่อเทียบกับ Gold standard

สำหรับเราๆ ข้อมูลตรงนี้ ก็อาจจะเพิ่มความมั่นใจให้กับบางคนได้ว่า เฮ้ย มันคลาดเคลื่อนบ้าง แต่ก็ไม่ได้เยอะมาก (น้อยกว่า 5%) บางคนอาจจะตีความไปอย่างอื่น อันนี้ก็แล้วแต่มุมมองกันนะครับ

สรุป

ที่อยากบอกทิ้งท้ายไว้ก็คือ ในบางครั้ง เราอาจจะไม่ต้องเพ่งเอาค่าตัวเลข (Value) มันเป็นจริงเป็นจังก็ได้ สิ่งที่น่าจะใช้ประโยชน์จากอะไรพวกนี้ หรือแม้แต่อุปกรณ์อื่นๆ ที่ทำการวัดผลค่าต่างๆก็คือ เราพัฒนาแค่ไหน มีความคืบหน้า (Progress) หรือเปล่า

ค่ามันจะออกมาตรงไม่ตรง เมื่อเทียบกับอุปกรณ์​ Gold standard แต่ถ้ามันมีวิธีการวัดของมันวิธีนึง และเป็นวิธีที่ที่พอใช้ได้แหละ ครั้งนี้เราทำได้ 3 ฝึกไป 4 เดือน ค่าที่ว่าได้ออกมาเป็น 5 อ่ะ มันก็ดูมีพัฒนาการ แต่ถ้าครั้งแรกได้ 3 ฝึกไป 4 เดือน ผลออกมาเหลือ 1 ทำไมมันกลับมาคลองตัน เราก็ย้อนกลับไปดูการฝึก การกิน การพัก ระหว่างทางที่ผ่านมาว่าต้องปรับปรุงอะไร

อ้างอิง

  1. Düking, P., van Hooren, B., & Sperlich, B. (2022). Assessment of Peak Oxygen Uptake with a Smartwatch and its Usefulness for Training of Runners. International Journal of Sports Medicine, 43(07), 642–647. https://doi.org/10.1055/a-1686-9068

GO TOP

🎉 You've successfully subscribed to Fat Fighting!
OK