เจ้าอุปกรณ์ไฮเทค Activity Tracker ทั้งหลายแหล่ใช้แล้วมันดีต่อสุขภาพจริงมั้ย ?

พวกสายรัดสุขภาพ นาฬิกาไฮเทค จับชีพจร นับก้าว ฯลฯ พวกนี้ดีต่อสุขภาพเราได้จริงรึเปล่า หรือว่าแค่ลูกเล่นหลอกขาย ใช้จริงอะไรไม่ได้ ?


เจ้าอุปกรณ์ไฮเทค Activity Tracker ทั้งหลายแหล่ใช้แล้วมันดีต่อสุขภาพจริงมั้ย ?

เดี๋ยวนี้เจ้าพวกอุปกรณ์จิ๋วๆ นับก้าวเดิน วัดโน่นวัดนี่ระหว่างวันนี่ราคาก็ไม่ค่อยแพง มีคนซื้อหากันมาใช้เพิ่มมากขึ้น แต่ว่าจริงๆแล้ว ใช้แล้วมันได้ผลดีจริงรึเปล่า ก็มีคนสงสัย แล้วเขาก็รวบรวมงานวิจัยต่างๆ มาศึกษาดูครับ

งานนี้เป็นการศึกษาของ Ferguson และคณะ (2022) [1] Systematic Review ที่ศึกษาจาก Systematic Review และ Meta-analyses ซ้อนไปอีกทีเป็น Umbrella review ก็แปลว่าเขาจะดูในหลายๆหัวข้อด้วย เขาก็ดูประสิทธิภาพของเจ้าพวกอุปกรณ์เหล่านี้ ว่าช่วยเพิ่ม กิจกรรมทางกาย (Physical Activity, PA) ได้รึเปล่า แล้วพวก Physiological และ Psychosocial ต่างๆ เป็นยังไงบ้าง

Ferguson และคณะ (2022)

เขาก็ไปศึกษามาจากงานจำนวน 39 งาน ถ้ารวมกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดก็ได้ข้อมูลมาจาก 163,992 คน กระจายไปทุกเพศ ทุกวัย ทุกสภาวะสุขภาพนะครับ ก็เรียกว่าเยอะเลยทีเดียว

ผลที่พบคือ ?

ผลที่พบเนี่ย ถ้ามองในแง่ของ PA อุปกรณ์พวกนี้ก็ช่วยเพิ่ม PA ให้ผู้ใช้ได้ มีผลดีต่อสัดส่วนมวลกาย (Body composition) และก็ดีต่อความฟิต (Fitness) ประมาณว่าเพิ่มก้าวเดินในแต่ละวันได้ 1800 ก้าว หรือทำให้เดินเพิ่มได้วันละราว 40 นาที แล้วก็ระหว่างที่ใช้ก็ลดน้ำหนักได้เฉลี่ยราว 1kg

ส่วนผลในด้านอื่นๆ พวกความดันโลหิต ไขมัน น้ำตาล ผลเลือด คุณภาพชีวิต อาการเจ็บปวดต่างๆ พวกนี้ได้ผลน้อย และไม่ค่อยมีนัยสำคัญทางสถิติ ประมาณว่าได้ผลบ้างไม่ได้ผลบ้าง ไม่มีความชัดเจนนะครับ ดูสรุปได้ตามตารางด้านล่างนี้เลยครับ ในกลุ่มสีเขียวเข้ม คือพบว่าได้ผลดีมาก หลักฐานหนาแน่นหนึบ สีเขียวอ่อนได้ผลดี แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนนัก ส่วนที่เป็นลายเขียวพาดพื้นเหลืองคืออาจจะดี พื้นเหลืองคือไม่พบว่ามีนัยสำคัญทางสถิติ อาจจะได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้างอย่างที่ว่า

ภาพรวมโดยสรุปของสิ่งที่พบจากงานต่างๆที่เขานำมาศึกษา

ซึ่งการมีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้น ก็ส่งผลดีต่อสุขภาพในหลายๆด้านละครับ [2] ก่อนหน้านี้ผมเคยนำเสนองานที่เขาดูผลต่อทางด้านความแข็งแรงสุขภาพของหัวใจไปแล้ว ในบทความชื่อ ขยับให้มากขึ้น ออกกำลังกายบ้าง ส่งผลดีต่อระบบหัวใจ ใครที่สนใจก็คลิกเข้าไปอ่านกันได้นะครับ แล้วก็ในกลุ่มเด็กสาววัยรุ่น ก็พบว่าถ้ามีการแอคทีฟที่มากกว่าเนี่ย พอโตเป็นวัยผู้ใหญ่ ก็จะอ้วนยากกว่า คนที่ไม่ค่อยแอคทีฟด้วยนะครับ [3] อันนี้อยู่ในบทความชื่อ โตไปไม่ค่อยอ้วน ออกกำลังกายเป็นประจำตอนวัยรุ่น ส่งผลดีตอนเป็นผู้ใหญ่ ส่วนพวกค่าเผาผลาญจากอุปกรณ์นับก้าวเนี่ย ความน่าเชื่อถือค่อนข้างคลาดเคลื่อนเยอะนะครับ [4] ถ้าจะนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ก็ดูเป็นลักษณะของดัชนีจะดีกว่าครับ วันนี้มันบอกว่าเผาได้ 500 อีกวันมันบอกว่าเผาได้ 300 แปลว่าวันที่เผา 300 เผาผลาญได้น้อยกว่า แต่อย่าไปเอาจริงเอาจังกับเลข 500 หรือ 300 ครับ แค่ดูไว้เปรียบเทียบกันเฉยๆพอ อันนี้ก็เคยนำเสนอไปในงานวิจัย

สรุป

โดยภาพรวมเนี่ย ก็มองว่าอุปกรณ์พวกนี้ มันก็ช่วยเพิ่มแรงจูงใจ (Motivation) ให้กับผู้ใช้ได้ พอมีอะไรให้มันเห็นเป็นรูปธรรม วัดผลได้มากขึ้น มันก็ทำให้เขาสนุกกับการทำสิ่งต่างๆเพิ่มขึ้นตามเป้าของแอปของอุปกรณ์ที่ใช้ บางคนนำไปใช้ทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนด้วยก็ยิ่งเพิ่มความสนุกได้มากขึ้น

แต่สุดท้ายแม้งานวิจัยบอกว่าได้ประโยชน์ แต่สำหรับเราจะได้ประโยชน์หรือไม่อยู่ที่ตัวเราแหละครับ ถ้าซื้อมาแล้วใส่นั่งๆนอนๆ เหมือนเดิม ไม่ได้ปรับไม่ได้เปลี่ยน ไม่ได้มีกิจกรรมอะไรเพิ่ม ไม่พยายามที่จะเปลี่ยนแปลงอะไร ต่อให้ฟังก์ชันการทำงานสุดวิเศษพันหมื่นอย่าง ก็ไม่ส่งผลอะไรขึ้นมาได้อยู่ดี

อ้างอิง

  1. Ferguson, T., Olds, T., Curtis, R., Blake, H., Crozier, A. J., Dankiw, K., Dumuid, D., Kasai, D., O'Connor, E., Virgara, R., & Maher, C. (2022). Effectiveness of wearable activity trackers to increase physical activity and improve health: a systematic review of systematic reviews and meta-analyses. The Lancet. Digital health, 4(8), e615–e626. https://doi.org/10.1016/S2589-7500(22)00111-X
  2. บัวเพ็ชร, พงศ์พันธ์. (2021d, December 24). ขยับให้มากขึ้น ออกกำลังกายบ้าง ส่งผลดีต่อระบบหัวใจ. Fat Fighting. Retrieved August 5, 2022, from https://www.fatfighting.net/article-2021-12-24-physical-activity-and-fitness-for-heart-health/
  3. บัวเพ็ชร, พงศ์พันธ์. (2022b, July 30). โตไปไม่ค่อยอ้วน ออกกำลังกายเป็นประจำตอนวัยรุ่น ส่งผลดีตอนเป็นผู้ใหญ่. Fat Fighting. Retrieved August 5, 2022, from https://www.fatfighting.net/article-2022-07-30-ongitudinal-change-in-physical-activity-and-adiposity-in-the-transition-from-adolescence-to-early-adulthood/
  4. บัวเพ็ชร, พงศ์พันธ์. (2022b, July 11). ค่าการเผาผลาญ ที่ได้จากอุปกรณ์นับก้าว เชื่อถือได้แค่ไหนกัน ? Fat Fighting. Retrieved August 5, 2022, from https://www.fatfighting.net/article-2022-07-11-step-detection-accuracy-and-energy-expenditure-estimation-at-different-speeds-by-three-accelerometers-in-a-controlled-environment-in-overweight-obese-subjects/

GO TOP

🎉 You've successfully subscribed to Fat Fighting!
OK