อัดเวทหนักๆ ก่อนวิ่ง ช่วยให้ทำผลงานได้ดีขึ้นมั้ย ?

การอัดเวทหนักๆ ก่อนวิ่งช่วยกระตุ้นให้วิ่งได้ดีขึ้นจริงรึเปล่า ?


อัดเวทหนักๆ ก่อนวิ่ง ช่วยให้ทำผลงานได้ดีขึ้นมั้ย ?

การฝึก Strength ส่งผลดีต่อการฝึกซ้อมการวิ่ง ไม่ว่าจะเป็นเป้าหมายเพื่อการแข่งขัน หรือเพื่อการสันทนาการ เป็นกิจกรรมเพื่อสุขภาพนะครับ ทีนี้มันก็มีแนวคิดที่ว่า การฝึก Strength ก่อนไปแข่งวิ่ง (หรืออาจจะรวมถึง กีฬาลู่ลานชนิดอื่นด้วย) หรือทำกิจกรรม อาจจะช่วยส่งผลดีต่อการแข่งหรือทำกิจกรรม ซึ่งอาจจะมาจากการกระตุ้นร่างกายในด้านต่างๆ ส่งให้เกิดผลแบบฉับพลัน (Acute Effect) ประมาณว่ากระตุ้นร่างกายด้วยการออกแรงหนักๆ ก่อนออกไปแข่งจริง โดยหลักการอะไรก็ตามแต่

Photo by Victor Freitas / Unsplash

ซึ่งก็มีคำถามเกิดขึ้นว่า แนวคิดนั้นมันจริงแค่ไหน งานนี้เป็นการศึกษาของ Silva และคณะ (2022) [1] เขาก็เลยศึกษาแบบ Systematic Review และ Meta-Analysis เพื่อนำเอาข้อมูลจากงานต่างๆ ที่ทำกันมาในช่วงก่อนหน้านี้ มาศึกษาดูนะครับ ว่าความคิดที่ว่านั้นมันได้ผลออกมายังไงบ้าง มันจะปลุกพลังที่หลับไหลออกมาให้เราได้จริงมั้ย เขาก็ค้นมาได้ 19 งานสำหรับนำมาศึกษษ และมี 13 งานที่จะนำมาวิเคราะห์แบบ Meta-analysis อีกทีนึง

ศึกษายังไงกันบ้าง ?

เงื่อนไขของงานวิจัยที่นำมาศึกษา คร่าวๆก็เป็นการศึกษาที่ มีการฝึก Strength ในรยางค์ล่าง (lower limbs) แล้วก็ทำการทดลองในกิจกรรมวิ่ง ทั้งนักวิ่งที่ฝึกจริงจัง และนักวิ่งที่วิ่งเป็นกิจกรรมสันทนาการ ไม่มีการใช้ยาหรือสารกระตุ้นในการวิจัย ศึกษาครั้งเดียวจบ ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของการฝึกซ้อมที่วางไว้แล้ว

เงื่อนไขอื่นๆ ก็ต้องเป็นงานที่มีการเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมชัดเจน เลือกมาเฉพาะงานที่เป็นผู้ชาย การฝึก Resistance หรือ Strength จะเป็นแบบไหนก็ได้ (traditional, explosive, concurrent, multicomponent, plyometrics, calisthenics) ที่ทำอย่างน้อย 15 นาที ส่วนโหลดไม่ได้กำหนด ผลที่ได้ก็ดูจาก Performance ของการวิ่ง จะวิ่งลู่ หรือวิ่ง Treadmill หรือดูระยะเวลาจนกว่าจะหมดแรง หรือ Running Economy ได้หมด

ผลที่ได้คือ ?

หลังจากวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้มาจากหลายๆงานแล้ว สิ่งที่พบก็คือว่า มันไม่ได้มีผลทำให้ Performance ในการวิ่งดีขึ้นในระยะเวลาสั้นหลังจากฝึก Strength นะครับ แล้วก็ยังลด Peak torque, เพิ่มอาการ DOMS, Creatine kinase แล้วก็ถ้าดูในแง่ของการประเมินระดับความรู้สึกเหนื่อย มันก็เหนื่อยเพิ่มขึ้นด้วย (แหงสิ ๕๕) หรือถ้าจะมีผลดีด้านอื่นมันก็มีเล็กน้อย

ในแง่ของแรงบิดสูงสุด (Peak torque) กลุ่มควบคุมทำได้เยอะกว่า แปลว่าการฝึก Strength ก่อนแข่ง มีผลลบต่อแรงบิดสูงสุด
ส่วนด้านอื่นๆ ก็จะเห็นว่า ไม่ค่อยส่งผลดีกว่าเท่าไหร่

สรุป

การไปฝึก Strength เป็นระยะเวลาสั้นๆ ก่อนการแข่งขัน การฝึกซ้อมอะไรต่างๆ ดูไม่ค่อยจะส่งผลดีต่อประสิทธิภาพของการแข่งขันวิ่ง หรือการวิ่งหลังจากนั้นนะครับ บางด้านก็เกิดผลทางด้านลบด้วยซ้ำไป

ทั้งนี้ก็ไม่ได้บอกว่าการฝึก Strength ไม่ดีนะครับ เพราะการฝึก Strength ก็ช่วยพัฒนาประสิทธิภาพของร่างกาย พัฒนาระบบประสาท ต่างๆได้  แต่ว่ามันควรจัดวางให้เป็นส่วนนึงของการฝึก เพื่อให้เกิดการพัฒนาระยะยาว (Chronic effect) ไม่ว่าจะเป็นฝึกคนละ session คนละวัน หรือยังไงก็ตามแต่

อ้างอิง

  1. de Carvalho e Silva, G.I., Brandão, L.H.A., dos Santos Silva, D. et al. Acute Neuromuscular, Physiological and Performance Responses After Strength Training in Runners: A Systematic Review and Meta-Analysis. Sports Med - Open 8, 105 (2022). https://doi.org/10.1186/s40798-022-00497-w

GO TOP

🎉 You've successfully subscribed to Fat Fighting!
OK