ชั่งน้ำหนักตอนไหนดี ? ชั่งบ่อยไม่ดีจริงรึเปล่า ?

ชั่งน้ำหนักตอนไหนดี ? เช้า เที่ยง เย็น หรือว่าก่อนนอน แล้วเขาว่าอย่าชั่งน้ำหนักบ่อย มันจริงรึเปล่า ?


ชั่งน้ำหนักตอนไหนดี ? ชั่งบ่อยไม่ดีจริงรึเปล่า ?

เมื่อเราจะ "ลดความอ้วน" แม้ว่าผมจะไม่ได้ศรัทธาในการ "ลดน้ำหนัก" แต่ยังไงเราก็ต้องชั่งน้ำหนักไว้หน่อยจริงไหมครับ อย่างน้อยเราก็จะได้รู้ว่ามันมี "ดัชนี" หรือตัวชี้วัดอะไรให้เราได้สังเกตความก้าวหน้า ว่ามันก้าวหน้ามั้ยหรือยิ่งแย่กว่าเดิม ๕๕

แต่ก่อนจะเข้าเนื้อหาเรื่องการชั่งน้ำหนัก อยากบอกก่อนชัดๆเลยนะครับ ว่าที่เราควรทำคือ การลดความอ้วน ซึ่งบางทีน้ำหนักตัวอาจจะลดไม่มาก แต่ถ้าสังเกตจากสิ่งอื่น ไม่ว่าจะเป็นรูปร่าง ไขมันส่วนเกินตามจุดต่างๆ มันลดลงอันนั้นถือว่าโอเค เพราะบางครั้งเราลดไขมันส่วนเกินไปได้พร้อมๆกับการเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อสวนขึ้นมา พอหักลบกลบกันไปแล้ว น้ำหนักตัว อาจจะลดไปไม่เท่าไหร่ แม้ว่าจะดูหุ่นดีขึ้นมากก็ตาม อันนั้นไม่ต้องกังวลนะครับ ถือว่ามาถูกทางแล้ว

เอาละทีนี้มาว่ากันด้วยเรื่องการชั่งน้ำหนักกันดีกว่า

น้ำหนักตัวถือว่าเป็นดัชนี หรือตัวชี้วัดตัวหนึ่งที่เป็นพื้นฐานมากๆ ในการลดความอ้วน เป็นตัวชี้วัดที่สะดวก เพราะเครื่องชั่งน้ำหนักนั้นหาได้ง่าย หน้า 7-11 ตามปั้มน้ำมันก็มีเครื่องหยอดเหรียญให้บริการ หรือถ้าจะซื้อไว้ติดบ้าน เดี๋ยวนี้เครื่องชั่งดิจิตอลก็ราคาไม่แพง ความแม่นยำก็ดีขึ้นมาก หลายเครื่องมีคุณสมบัติวัด Body fat percentage และหลายเครื่องยังสามารถเชื่อมต่อเข้ากับมือถือ เพื่อบันทึกข้อมูลได้อีกด้วย เดี๋ยวนี้ของแจ่มๆมันเยอะจริงๆ อย่างของผมเองตอนนี้ก็ใช้เจ้า Huawei Body fat scale อยู่ครับ น้องที่ทำงานขายต่อให้ 500 บาท คุ้มโคตรๆ

จัดมา 500 บาท คุ้มมากครับ นับว่าแจ่ม

นอกจากน้ำหนักตัวแล้ว เราก็ยังมีอีกหลายอย่างนะครับ ที่ใช้เป็นตัวชี้วัดได้ ไม่ว่าจะเป็น สัดส่วนรูปร่าง ขนาดส่วนต่างๆของร่างกาย , สัดส่วนไขมัน ฯลฯ จะวัดมันหมดทุกค่าที่วัดได้ ก็ไม่มีปัญหาผิดกฎหมายแต่อย่างใด วัดแม่งไปเถอะครับ ๕๕

ชั่งน้ำหนักตอนไหนดี ? เช้า เที่ยง เย็น ก่อนนอน

จริงๆจะชั่งตอนไหนมันก็แล้วแต่เราสะดวกนะครับ แต่หลักๆเลยสำหรับการลดความอ้วน ลดน้ำหนักนั้น ในเมื่อเราจะชั่งน้ำหนัก เพื่อใช้เป็นดัชนี ใช้เป็นตัวเปรียบเทียบแล้วละก็ ควรชั่งในช่วงเวลาที่เหมือนๆกันในแต่ละครั้งที่ชั่ง จะชั่งตอนเช้าก็ชั่งตอนเช้าทุกครั้ง จะชั่งก่อนนอน ก็ชั่งก่อนนอนทุกครั้ง เพราะในระหว่างวันนั้นร่างกายเรามีน้ำหนักไม่คงที่หรอกครับ เราดื่มน้ำเข้าไปลิตรนึง ก็เพิ่มน้ำหนักแล้วเกือบกิโล เราฉี่ออกไปน้ำหนักก็ลดลงไปแล้วหลายขีด ดังนั้นเพื่อให้การเปรียบเทียบได้เห็นผลของความแตกต่างที่ถูกต้อง ก็ควรชั่งในช่วงเวลาที่เหมือนกันในแต่ละครั้งนะครับ จะได้เป็นการควบคุมปัจจัยอื่นๆที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องให้น้อยที่สุด

ของผมเองจะชั่งตอนเช้า หลังจากทำธุระปะปัง ถ่ายหนักถ่ายเบาออกเรียบร้อยแล้ว ก็จะเป็นช่วงเวลาชั่งน้ำหนักประจำของผม จากนั้นก็ค่อยไปดื่มน้ำ ทานข้าว อะไรตามกิจวัตรประจำวันโดยปกติต่อไป

เราจะสู้ไปด้วยกันนนน..

ชั่งน้ำหนักบ่อยๆ ดีมั้ย

สมัยก่อนผมเองไม่ค่อยเห็นด้วยนักนะครับ กับการชั่งน้ำหนักบ่อย เพราะเคยเห็นเพื่อนร่วมอุดมการณ์หลายท่าน กังวลและเครียดกับไอ้น้ำหนักตัวมากเกินไป ถ้ามีอะไรที่จะเป็นเรื่องน่ากังวลก็ไอ้เรื่องนี้แหละครับ ระวังอย่าให้มันมาเป็นเรื่องเครียด และสร้างความกังวลให้กับเรามากจนเกินไป

ซึ่งถ้าคุณไม่มีปัญหาตรงนี้ ก้าวข้ามเรื่องของจิตใจอะไรตรงนั้นไปได้แล้ว จะชั่งทุกวันวันละครั้ง จะชั่งเช้าครั้งเย็นครั้ง เพราะเหตุผลอะไรของตัวเอง ก็ไม่มีปัญหาครับ ของผมเองพอใช้เครื่องชั่งดิจิตอลที่มันเชื่อมกับสมาร์ทโฟนได้ ก็สนุกกับการบันทึกน้ำหนักตัวมากขึ้น เพราะพอเราบันทึกแล้ว ข้อมูลล่าสุดมันถูกอัพเดตไปด้วยกับการใช้งานแอพต่างๆ ปรับเป้าหมายเราในแต่ละครั้งให้เปลี่ยนไป การคำนวณค่าพลังงานที่อัพเดตมากขึ้น มันทำให้สายอุปกรณ์อย่างผมรู้สึกสนุกกับการลดความอ้วนได้มากขึ้น เหมือนเรากำลังเล่นเกมส์อยู่เลย ;-)

ถ้าไม่ได้อยากชั่งบ่อยมาก จัดไปสักสัปดาห์ละครั้ง หรืออย่างน้อยเดือนละครั้งก็ได้ครับ เพื่อบันทึกไว้ให้เราเห็นแนวโน้ม ว่าที่เราจัดๆไปทั้งการคุมอาหาร การออกกำลังกาย มันส่งผลให้เรายังไงบ้าง

เครื่องชั่งเดี๋ยวนี้มันสะดวกขึ้นเยอะเลย

ดูน้ำหนักให้ดูเป็น Trend ไม่ใช่ดูแบบ Snapshot

อย่างที่เห็นจากกราฟข้างบนนะครับ เวลาเราชั่งน้ำหนักให้ดูเป็นแนวโน้มนะครับ ว่าดูแล้วมันเป็นแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น เท่าเดิม หรือว่าลดลง อย่าไปเพ่งเป็นจุดๆ เพราะน้ำหนักตัวคนเรานั้น มันเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยอยู่แทบจะตลอดในเวลาในแต่ละวัน หรือแม้แต่ในช่วงระหว่างสัปดาห์ของผมเองตามรูปข้างบน ถ้ามองดูมันก็ไม่ได้ลดลงทุกวันเป็นกราฟแบบ Linear นะครับ มีบางครั้งที่น้ำหนักมันขึ้นมาบ้าง แล้วผ่านไปสักพัก เมื่อผมยังดูแลเรื่องอาหารการกิน และการออกกำลังกายอยู่ ขึ้นบ้างเล็กน้อย ถึงจุดนึง เดี๋ยวมันก็ลงต่อ

การเพ่งเป็นจุดๆ เฮ้ยๆ น้ำหนักขึ้นเว้ย อดอาหารด่วนเลย ฮึ่ยๆน้ำหนักลง กินได้สบายใจ อะไรแบบนี้ไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก แล้วไอ้การเขวบ่อยๆเนี่ย จะทำให้การทำตามแผนในระยะยาวล้มเหลวได้ง่ายนะครับ

แต่งตัวยังไงตอนชั่งน้ำหนัก

เหมือนกับเรื่องเวลาที่ชั่งนั่นแหละครับ พยายามทำให้มันเป็นสภาพที่เหมือนกันในแต่ละครั้งที่ชั่ง ใส่กางเกงขาสั้นก็ใส่ขาสั้นเหมือนเดิมทุกครั้ง ตัวเดิมได้ด้วยยิ่งดีเลย ไม่ใช่ว่าวันนี้ใส่ขาสั้น อีกครั้งใส่ยีนส์ แค่น้ำหนักเสื้อผ้าก็ต่างกันหลายขีดแล้วนะครับ ถ้าใส่ขาสั้นเอามือถือใส่กระเป๋ากางเกงไว้แล้วชั่ง ก็ให้ทำแบบนี้ในครั้งอื่นๆด้วย โอเคละมันจะหนักขึ้นเพราะมีมือถืออยู่ในกระเป๋ากางเกงด้วย แต่ก็ไม่กระทบอะไรเพราะครั้งอื่นๆ ก็มีน้ำหนักของมือถือร่วมด้วยอยู่เหมือนกัน

เครื่องชั่งและตำแหน่งเครื่องชั่งก็สำคัญนะครับ

เรื่องเครื่องชั่งนี่ไม่ใช่จะบอกว่าเครื่องแบบนี้ดี เครื่องแบบนี้ไม่ดีนะครับ แต่ว่าก็เหมือนเรื่องเวลา และการแต่งกาย นั่นแหละครับ เครื่องชั่งเองก็เป็นปัจจัยที่เราควรควบคุมด้วย ใช้เครื่องไหนชั่ง ก็ใช้เครื่องนั้นชั่งในครั้งอื่นด้วย เพราะเครื่องชั่งแต่ละเครื่อง มีความแตกต่างกัน และถึงแม้จะเป็นเครื่องเดิม แต่ตำแหน่งการวางเครื่อง ถ้าเปลี่ยนไป บางครั้งก็มีผลกับค่าที่ให้ออกมานะครับ

ถ้าครั้งนี้เราวางเครื่องชั่งไว้ข้างประตูห้องน้ำ ครั้งหน้าก็ควรวางมันไว้ที่เดิมนะครับ บางทีการย้ายที่วางแล้วชั่งอาจให้ผลต่างกันเป็นกิโลเลยละครับ

Photo by alan KO / Unsplash

เอาละก็น่าจะหมดแล้วสำหรับเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับเรื่องการชั่งน้ำหนักนะครับ ยังไงอย่างที่บอกข้างต้นนะครับ น้ำหนักตัวไม่ใช่ทุกอย่าง ดัชนีอื่นที่เราควรให้ความสนใจในการลดความอ้วนยังมีอีกเยอะ บางคนลดน้ำหนักได้เยอะจริง ตัวเล็กลงจริง แต่ดัชนีบางด้านก็ไม่ได้โอเคตามไปด้วย ก็ไม่ใช่เรื่องดีเท่าไหร่ และที่สำคัญ อย่าไปกดดันตัวเองกับตัวเลขบนตาชั่งให้มากครับ ถ้าแนวทางเราถูกต้องแล้ว ยังไงผลที่ดีต่อสุขภาพและร่างกายต้องเกิดขึ้นได้แน่ๆ เป็นกำลังใจให้ทุกคนครับ สู้ๆ ;-)

GO TOP

🎉 You've successfully subscribed to Fat Fighting!
OK