แช่น้ำร้อนหลังฝึก ช่วยให้ทนความร้อนได้มากขึ้น ไม่เสี่ยง overreaching และฮอร์โมนไทรอยด์แปรปรวน

การแช่น้ำร้อนหลังฝึกซ้อม ช่วยให้ร่างกายปรับตัวต่ออุณหภูมิได้ดีขึ้น ทนกับความร้อนได้สูงขึ้น อาจจะเป็นอีกเทคนิคนึงที่นำไปใช้ได้ก่อนจะไปแข่ง ไปวิ่งในสภาพแวดล้อม ที่อากาศร้อนๆนะครับ


แช่น้ำร้อนหลังฝึก ช่วยให้ทนความร้อนได้มากขึ้น ไม่เสี่ยง overreaching และฮอร์โมนไทรอยด์แปรปรวน

อันนี้อาจจะไม่ได้มีประโยชน์อะไรกับคนทั่วไปนักนะครับ แต่ในแง่นักกีฬา หรือคนที่จะไปแข่งขันกีฬา (ปัจจุบันคนหันมาสนใจทำกิจกรรม ระดับนักกีฬาสมัครเล่นเพิ่มมากขึ้น) น่าจะมีประโยชน์อยู่

เวลาเราต้องไปแข่งในสภาพแวดล้อมที่มันอากาศร้อนกว่าเราอยู่ในชีวิตปกติๆ นักกีฬาจะต้องมีการฝึกเพื่อปรับตัว ปรับสภาพให้ทนกับสิ่งแวดล้อมใกล้เคียงสภาพดังกล่าวก่อน ต่อให้ไม่เหมือนเด๊ะ เหมือนไปตั้งแคมป์ฝึก มันก็ดีกว่าไม่ได้ทำอะไรเลย แพคกระเป๋าแล้วออกเดินทางไปแข่งทันที งานนี้เป็นการศึกษาของ McIntrye และคณะ (2022) [1] ศึกษาผลของการแช่น้ำร้อนหลังออกกำลังกาย เพื่อดูการปรับตัวของร่างกายต่ออากาศร้อน

McIntrye และคณะ (2022)

ศึกษาในคนกลุ่มไหน ?

งานนี้เขาก็มองว่าถ้าต้องไปแข่งในที่อากาศมันร้อนกว่าชีวิตปกติเราเนี่ย การซ้อมในอากาศร้อนๆ กับการซ้อมปกติแล้วแช่น้ำร้อนหลังฝึก แบบไหนส่งผลดีบ้าง เหมือนหรือต่างกันยังไง ก็เป็นการทำการศึกษาในกลุ่มนักกีฬา Endurance ชาย 21 คน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มออกกำลังกายอย่างเดียว (CON) กลุ่มออกกำลังกายในอากาศร้อน (EHA) และกลุ่มแช่น้ำร้อนหลังออกกำลังกาย (HWI) กลุ่มละ 7 คน

รูปแบบการศึกษาครั้งนี้

ทำการศึกษาเป็นระยะเวลา 12 วัน ก็ไม่นานมาก แต่ก็ไม่ได้แบบฝึกตะลุยต่อเนื่อง 12 วันนะครับ เขามีแบ่งเป็นช่วงสั้นๆ ช่วงละ 3 วัน ฝึก วัดผล พัก เก็บข้อมูลเป็นระยะๆด้วย แล้วก็ดูพวกผลของการปรับตัว , ข้อบ่งชี้ภาวะ overreaching (บางคนก็เรียกว่า overtraining คล้ายๆกัน) และฮอร์โมนไทรอยด์ การวัดผล การควบคุมอาหาร การพักผ่อน ออกกำลังกาย ดูแล้วทำได้ดีเลยนะครับ

ผลที่ได้คือ ?

ซึ่งผลที่เขาพบเนี่ย เขาพบว่าการแช่น้ำร้อนหลังการออกกำลังกาย (ออก 40 นาที) แล้วก็แช่น้ำร้อน 40 องศา ไม่เกิน 40 นาที ของกลุ่ม HWI ช่วยเรื่องการปรับตัวของร่างกาย ลดระดับอุณหภูมิแกนกลางลำตัวขณะพัก และอัตราการเสียเหงื่อลงได้ดีกว่าวิธีการออกกำลังกายในอากาศร้อน (อุณหภูมิปกติเขาคือ 19 องศา และวิธี EHA คือให้ออกกำลังกายที่อุณหภูมิ 33 องศา) โดยไม่มีผลกับพวก overreaching marker ต่างๆ (ตรงนี้ไม่มีผลทั้ง HWI และ EHA)

ก็เป็นวิธีที่น่าสนใจอยู่นะครับ ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่ากลุ่มตัวอย่างมีขนาดเล็ก แล้วก็มีแต่ผู้ชาย อายุ 21-22 ปี ในคนกลุ่มอื่น ภาวะร่างกาย ภาวะสุขภาพไม่เหมือนกัน อาจจะไม่ได้ผลแบบนี้ก็ได้ต้องศึกษาต่อไปอีก เรื่องการ

สรุป

สำหรับเราๆที่อยู่ในประเทศอากาศเหมือนเตาเผาตลอดเวลาอยู่แล้ว ดูเหมือนอาจจะไม่ได้ประโยชน์นัก แต่ก็ไม่ใช่ไม่มีประโยชน์เสียทีเดียวนะครับ สามารถนำไปประยุกต์ดูได้ ในปัจจุบันหลายคนหันมาออกกำลังกาย สนใจแต่ด้านการฝึกร่างกายใน specific skill อย่างเดียว อยากไปวิ่งรายการนั้นรายการนี้ สนุกสนานเข้าสังคมกับเพื่อนๆ เพื่อความปลอดภัยในการทำกิจกรรมต่างๆ  การฝึกร่างกายให้พร้อมกับสภาพแวดล้อม ที่จะต้องไปเจอในวันแข่ง เป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลย

อ้างอิง

  1. A comparison of medium-term heat acclimation by post-exercise hot water immersion or exercise in the heat: adaptations, overreaching, and thyroid hormones. Robert D. McIntyre, Michael J. Zurawlew, Jessica A. Mee, Neil P. Walsh, and Samuel J. Oliver. American Journal of Physiology-Regulatory, Integrative and Comparative Physiology 2022 323:5, R601-R615. https://doi.org/10.1152/ajpregu.00315.2021

GO TOP

🎉 You've successfully subscribed to Fat Fighting!
OK