ความฟิตของเราจะเปลี่ยนไปมั้ย เวลาที่เราข้ามเพศ ?

เวลาที่เรารับฮอร์โมน เปลี่ยนจากเพศชายไปเป็นเพศหญิง และเปลี่ยนจากเพศหญิงมาเป็นเพศชาย พวกความฟิต ความแข็งแรง มันจะเปลี่ยนไปยังไงบ้าง ใช้เวลานานเท่าไหร่ ?


ความฟิตของเราจะเปลี่ยนไปมั้ย เวลาที่เราข้ามเพศ ?

ก่อนอื่นต้องออกตัวแรงๆก่อนนะครับ ว่าเนื้อหาทั้งหมดนี้ จะกล่าวถึงในมุมมองทางการศึกษาเท่านั้น คำถามของงานวิจัยเขามองไปที่การศึกษาว่าหลังจากเข้ารับการใช้ฮอร์โมนบำบัดเพื่อการข้ามเพศ (Gender affirming hormone therapy, GAHT) แล้วความเปลี่ยนแปลงในแง่สมรรถภาพทางกาย (Physical Fitness) มันเป็นยังไงบ้าง

ศึกษาในคนกลุ่มไหน ?

เป็นการศึกษาของ Chiccarelli และคณะ (2022)ในกลุ่มกำลังพลของกองทัพอากาศสหรัฐ ซึ่งเป็นบุคคลข้ามเพศ เขาก็ติดตามผลการศึกษาหลังจากเข้ารับ GAHT เป็นระยะเวลา 4 ปี พวกการทดสอบสมรรถภาพทางกายนี่เป็นการทดสอบสมรรถภาพทางกาย ตามมาตรฐานของกองทัพอากาศ ก็จะดูว่าใน 1 นาที push up และ sit up ได้สูงสุดกี่ครั้ง และจับเวลาวิ่งระยะ 1.5 ไมล์ ว่าใช้เวลากี่นาที

ผลที่ได้คือ ?

กลุ่มชายข้ามเพศ

ในกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มเพศหญิงเดิม ซึ่งได้รับการ GAHT เพื่อเพิ่มฮอร์โมนเพศชาย สิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นก็คือร่างกายจะแข็งแรงขึ้น และมีการพัฒนาของกล้ามเนื้อมากขึ้นจนทัดเทียมกับผู้ชายโดยกำเนิด

ผลเนี่ยเขาพบว่า ในกลุ่มที่เป็นชายข้ามเพศ ที่มีเพศเดิมเป็นผู้หญิง หลังจากทำ GAHT แล้วผ่านไป 3 ปี ค่าเฉลี่ยของการ Push up จึงจะเพิ่มมากกว่ากลุ่มเพศชายตั้งแต่กำเนิด ส่วน Sit up นี่แค่ผ่านไปปีเดียวก็ได้แล้ว จริงๆก่อนทำ GAHT การ Sit up ตอนเป็นผู้หญิง ก็ไม่ได้แตกต่างกันเท่าไหร่กับผู้ชายอยู่แล้ว สำหรับการวิ่งก็ทำได้ทัดเทียมเพศชายโดยกำเนิด ในปีที่ 3 เช่นกัน

กลุ่มหญิงข้ามเพศ

ในกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มเพศชายเดิม ซึ่เมื่อได้รับ GAHT จะเป็นการทำเพื่อลดฮอร์โมนเพศชายลง สิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นก็คือ ความแข็งแรงของร่างกายลดลง การพัฒนาของกล้ามเนื้อไปอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับผู้หญิงโดยกำเนิด

ผลในส่วนกลุ่มหญิงข้ามเพศ ก่อนทำ GAHT นี่ผลต่างๆ ก็จะทำได้มากกว่ากลุ่มหญิงโดยกำเนิด พบว่าการ Push up นั้นผ่านไปแต่ละปีก็ทำได้ลดลง แต่ว่าในระยะเวลา 4 ปี ยังทำได้เฉลี่ยมากครั้งกว่าค่าเฉลี่ยของหญิงโดยกำเนิด การ Situp นั้นในปีที่ 4 เริ่มใกล้เคียงกันแล้วแต่ก็ยังเฉลี่ยได้ครั้งมากกว่าเล็กน้อย ส่วนการวิ่งก็เริ่มส่งผลให้เห็นได้ในปีที่ 4 เช่นกัน

ภาพรวมการเปลี่ยนแปลงในแต่ละปีของสมรรถภาพทางกายของกลุ่มข้ามเพศ

สรุป

โดยสรุปในบริบทงานกองทัพ เขาให้ข้อเสนอไว้ว่า สำหรับกลุ่มชายข้ามเพศนั้น การนำมาตรฐานสมรรถภาพทางกายเพศชาย มาใช้ควรจะมีระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 3 ปีหลัง GAHT ส่วนกลุ่มหญิงข้ามเพศนั้น ก็นำมาตรฐานของเพศหญิงโดยกำเนิดมาใช้ตั้งแต่ 2 ปีหลัง GAHT

เรื่องนี้ในทางการกีฬา ก็เป็นประเด็นที่ยังมีข้อถกเถียงกันอยู่ เพราะมันจะเรื่องของความเท่าเทียมกันในการแข่งขันเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ในช่วงหลังจากนี้ ข้อมูลต่างๆทางวิทยาศาสตร์ คงให้ความชัดเจนได้มากยิ่งขึ้น ในทางสังคมวิทยานั้น เรื่องของความแตกต่างทางเพศ ก็คล้ายกับอีกหลายๆเรื่อง ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ตามยุคสมัย และสังคมที่เปลี่ยนแปลง อยู่ตลอดเวลา

Pronouns matter. Pronouns are important. Everyone is valid. She/Her, He/Him, They/Them, Ze/Zim, and many more. Don't be afraid to ask which pronouns someone may prefer.
Photo by Alexander Grey / Unsplash

อ้างอิง

  1. Chiccarelli, E., Aden, J., Ahrendt, D., & Smalley, J. (2022). Fit Transitioning: When Can Transgender Airmen Fitness Test in Their Affirmed Gender?. Military medicine, usac320. Advance online publication. https://doi.org/10.1093/milmed/usac320

GO TOP

🎉 You've successfully subscribed to Fat Fighting!
OK