เราอาจจะอ้วนขึ้นเพราะตัวเราเอง แต่จะอ้วนออกพุง ออกก้น หรือออกทั่วตัว อันนั้นส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น

การที่เราอ้วนออกก้น ออกแขนออกขา หรืออ้วนที่พุงก่อน อาจจะเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดมาจากพันธุกรรมของเราก็ได้นะครับ


เราอาจจะอ้วนขึ้นเพราะตัวเราเอง แต่จะอ้วนออกพุง ออกก้น หรือออกทั่วตัว อันนั้นส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น

สมัยก่อนจะมีความเชื่อบางอย่างที่บอกว่า อย่านั่งนาน เดี๋ยวก้นใหญ่ ก็ไม่รู้ว่าสมมุติฐานนี้มาจากหลักการของอะไรนะครับ แต่ในงานนี้เป็นการศึกษาของ Agrawal และคณะ (2022) เขาศึกษาเพื่อหาความสัมพันธ์ของ รูปแบบการกระจายตัวของการสะสมไขมัน (Fat distribution) กับพันธุกรรม (Genetic) [1]

Agrawal และคณะ (2022)

ศึกษาในคนกลุ่มไหน ?

เขาใช้ข้อมูลจาก UK Biobank ที่มีภาพ MRI ไขมันช่องท้อง (Visceral adipose tissue ,VAT) ไขมันหน้าท้อง (Abdominal subcutaneous adipose tissue, ASAT) และไขมันบริเวณก้น (gluteofemoral adipose tissue, GFAT) แล้วก็ BMI แล้วก็ข้อมูลอื่นๆ มาวิเคราะห์

เพื่อดูว่ามันมี โครงสร้างพันธุกรรมอะไรที่มันเกี่ยวข้องบ้าง แล้วมีอะไรที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของเพศของแต่ละคนบ้าง แล้วก็สุดท้ายคือเขาจะดูว่ามันมีอะไรที่บอกความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน (type 2 diabetes) หรือ โรคหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ (Coronary artery disease)  บ้าง

ศึกษายังไง ?

เขาใช้เทคโนโลยี Deep learning มาศึกษาภาพ MRI จากข้อมูลคนสามหมื่นกว่าคน ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย อันดับแรกๆถ้าดูแค่เพศ เขาพบว่า ผู้ชายมีค่าเฉลี่ย VAT มากกว่าผู้หญิง ผู้หญิงจะมี ASAT และ GFAT มากกว่า ผู้ชาย อันนี้ก็ทั่วๆไปนะครับ ปกติเราก็รู้กันอยู่แล้ว

ทีนี้จากข้อมูลต่างๆ (บอกเลยว่าขั้นตอนการคิด วิเคราะห์ละเอียดมาก ใครสนใจดูในตัวงานได้เลยครับ) เขาก็เอาไปปรับดูว่ามียีนไหนที่น่าจะมีความเกี่ยวข้องบ้าง ในข้อมูลการกระจายตัวของไขมัน รูปร่างของแต่ละคน ที่มีไขมันแต่ละตำแหน่งที่แตกต่างกันออกไป

มียีนที่เกี่ยวข้องกับการกระจายตัวของไขมัน มากมายนะครับ

ผลที่ได้คือ ?

เขาก็พบสิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับกรรมพันธุ ว่า GFAT นี่ค่อนข้างจะสามารถสืบทอดทางกรรมพันธุได้ มากที่สุดต่างจาก VAT และ ASAT แล้วก็ทำให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นว่าพันธุกรรม นี่ก็มีความสัมพันธ์กับลักษณะว่าเราจะมีการเก็บไขมันตรงไหนมากตรงไหนน้อย

สรุป

สำหรับเราๆตรงนี้จะนำไปใช้ประโยชน์ยังไงบ้าง ในความคิดผม ถ้ามองว่ามันเป็นเรื่องที่สืบทอดมาจากพันธุกรรมแล้ว รู้แล้วก็สบายใจจะได้ไม่ต้องเสียเวลาไปคิดเยอะกับมัน (ตามกลุ่มต่างๆอ่ะเจอประจำ)

ที่ต้องคอยคิด คอยกังวล คอยถามคนนั้นคนนี้ ว่าทำไมเวลาเราอ้วน มักชอบออกตรงนี้ ไม่ออกตรงนั้นเหมือนคนอื่นเขา ไปคิดวางแพลน ว่าเราจะออกกำลังกาย จะกินยังไง ให้มันดีต่อร่างกายดีต่อเป้าหมายด้วยวิธีการที่มันเป็นเรื่องพื้นฐานอื่นๆ ของเราดีกว่า

ตรงนี้ก็ต้องย้อนอธิบายกลับไปที่เรื่องของยีน หรือ Genotype นิดนึงนะครับ Genotype เนี่ยคือยีนของแต่ละคน ซึ่งจะมีค่าคงที่ตลอดชีวิตของเรา ตัวนี้จะมีบทบาทกับ โปรตีน เซลล์ และเส้นทางในเรื่องชีวเคมีของร่างกายแต่ละคน แต่อีกคำนึงที่ต้องทราบคือ Phenotype ตัวนี้คือลักษณะที่มันแสดงออก อย่างที่บอกว่า Genotype มันคงที่ตลอดชีวิต แต่ Phenotype เนี่ย มันสามารถเปลี่ยนแปลงไปมาได้ ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อง และปัจจัยอื่นๆ [2]

ยีนหรือ Fat distribution มันกำหนดมายังไง ถ้าเราไม่ทำให้มันเกิดเป็นภาวะที่ไขมันมันจะเก็บสะสมเป็นส่วนเกินได้ มันก็ไม่มีผลอยู่แล้ว (เหมือนจะง่ายนะ แต่ไอ้ตรงนี้แหละยาก ๕๕)

อ้างอิง

  1. Agrawal, S., Wang, M., Klarqvist, M.D.R. et al. Inherited basis of visceral, abdominal subcutaneous and gluteofemoral fat depots. Nat Commun 13, 3771 (2022). https://doi.org/10.1038/s41467-022-30931-2
  2. Wojczynski, M. K., & Tiwari, H. K. (2008). Definition of phenotype. Advances in genetics, 60, 75–105. https://doi.org/10.1016/S0065-2660(07)00404-X

GO TOP

🎉 You've successfully subscribed to Fat Fighting!
OK