งานนี้เป็น Systematic review และ meta-analysis เพื่อดูผลของการทานถั่ว พิสตาชิโอ (Pistachios) ต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดนะครับ เมื่อเป็น SR และ MA แน่นอนครับ นั่นหมายถึงว่า เป็นการนำผลการวิจัยในงานต่างๆ มาศึกษาอย่างเป็นระบบนั่นเอง
เป็นการศึกษาของ Hadi และคณะ (2022) [1] ซึ่งเขาก็ค้นหาวิจัยจากแหล่งต่างๆ PubMed , Scopus, ISI และ Cochrane ได้งานที่เข้าเกณฑ์ที่เขาตั้งไว้แล้วคัดมาเลือก อย่างเช่นการศึกษาต้องทำนานอย่างต่ำ 4 สัปดาห์ เป็นงานที่ศึกษาในคน และมีอายุระหว่าง 18-60 ปี ดูผลของ Fasting blood sugar (FBS) , fasting insulin และ HOMA-IR ได้งานมาทั้งหมด 8 งานที่เข้าเกณฑ์

ทั้งนี้ในการศึกษาที่เลือกมา เป็นการทาน พิสตาชิโอ โดยเป็นการแทนที่อาหารชนิดอื่นด้วยพลังงานที่เท่ากันนะคับ ไม่ใช่กินขาหมูทุกมื้อแล้วก็ไปกินพิสตาชิโอเพิ่ม แล้วมาหวังผลว่ามีสารพิเศษอะไรช่วยลดระดับน้ำตาลแบบนั้น มันต้องแบบกินขาหมูทุกมื้อ เอาข้าวหรือหมู หรืออย่างละหน่อย ออกในปริมาณที่ให้พลังงานเท่ากับ พิสตาชิโอที่ให้ทาน แล้วดูผล
ศึกษายังไง ?
จากวิจัย 8 งานที่เขารวมข้อมูลมา ก็ได้ข้อมูลจากผู้ร่วมทดลอง 535 คน 282 คนให้ทานพิสตาชิโอ ส่วนอีก 253 เป็นกลุ่มควบคุมนะครับ ก็มีทั้งงานที่ศึกษาในสหรัฐ , จีน , อินเดีย , สเปน และอิหร่าน เป็นงานระหว่างปี 2009-1015 BMI ของคนที่มาทดลองก็ตั้งแต่ 26.1-32 (ก็เป็นกลุ่มน้ำหนักเกินและอ้วนนั่นแหละ) และคนที่มาทดลองนี่ต้องมีภาวะ ผิดปกติทาง Cardiometabolic อย่างใดอย่างนึงนะครับ
ระยะเวลาทดลองในงานต่างๆที่นำมากศึกษาก็ ระหว่าง 4-24 สัปดาห์ การทานพิสตาชิโอ ก็มีตั้งแต่ปริมาณ 25-70 กรัมต่อวัน หรือถ้าคิดเป็นพลังงาน ก็ให้ทานที่ 20-30% ของพลังงานทีทานต่อวัน
ผลที่ได้คือ ?
ในแง่ของการทานพิสตาชิโอ ต่อระดับน้ำตาล (FBS) ถ้าเป็นคนอ้วนเนี่ย ได้ผลดี อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่ในคนที่ไม่ได้อ้วน แค่น้ำหนักเกิน มันก็ช่วยลดได้นะบ้างครับ แต่ว่ายังไม่ถึงกับมีนัยสำคัญทางสถิติ เหมือนในคนอ้วน ผลต่อน้ำตาลในเลือดนี่ระยะเวลาการทานไม่ค่อยมีผลต่างเท่าไหร่

ส่วนถ้าเป็นเรื่องของอินซูลิน ได้ผลดีกับคนที่น้ำหนักเกิน แต่ไม่ได้ผลกับคนที่เป็นเบาหวาน (T2DM) และมีภาวะเมตาบอลิกบกพร่อง (Metabolic Syndrom) แล้วก็ได้ผลเมื่อทานในระยะเวลาไม่เกิน 12 สัปดาห์ ถ้านานกว่านั้น ผลที่ได้มันก็ลดลง


ทำไมพิสตาชิโอถึงมีผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด เขามองว่าเป็นเรื่องของ Glycemic index ของตัวถั่วพิสตาชิโอ ช่วยทำให้การดูดซึมคาร์โบไฮเดรต และเปลี่ยนเป็นน้ำตาลมันยืดระยะออกไป นอกจากนั้นยังช่วยให้การดูดซึมไขมันช้าลง และช่วยเพิ่มไฟเบอร์ด้วย นอกจากนั้นก็เป็นข้อดีในแง่ของการเป็นไขมันชนิด MUFA และ PUFA มีไขมันอิ่มตัวน้อย และแง่ของการต้านอนุมูลอิสระ
ว่าง่ายๆมันมีประโยชน์ แต่การหวังผลจากมันก็ค่อนข้างจะต้องอ่านและแปลผลอย่างระมัดระวังนะครับ เพราะมันมีความแตกต่างในผลของ subgroup และ condition ต่างๆ อยู่พอสมควร ได้ผลกับคนกลุ่มนั้น กลุ่มนี้ไม่ได้ผล ได้ผลเมื่อทานระยะเวลาเท่านั้น เท่านี้ไม่ได้ผลแล้วไรงี้
สรุป
ก็จัดว่ามีประโยชน์ที่จะทานนะครับ แต่อย่างที่บอกคือเขาทานโดยเปลี่ยนอาหารที่ทานอยู่แล้วออกส่วนนึง แล้วเปลี่ยนเป็นพิสตาชิโอ ไม่ได้อยู่ๆกินทุกอย่างเหมือนเดิม แล้วกินพิสตาชิโอเพิ่มนะเว้ย ๕๕๕ แล้วก็ในทางปฎิบัติ เท่าที่เห็นขายๆกันมันมักจะอบเกลือ ต้องระวังลดน้ำตาลแต่ไปบริโภคโซเดียมเพิ่มจนมากเกินไปด้วย
และสุดท้าย มันยังมีอะไรอีกหลายสิ่งที่ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ เช่น แอปเปิลที่เคยนำเสนอไปแล้ว [2] หรือการทานอาหารจำพวกโปรตีนก่อนมื้ออาหาร [3] ก็เคยนำเสนอไปแล้ว หรือแม้แต่ ACV [4] พวกนั้นก็ช่วยได้ ในกรณีที่เราแพ้ถั่ว หรือแพ้พิสตาชิโอ หรือไม่มีตังจะกินมันอ่ะ เพราะราคาก็ไม่ใช่ถูกๆ ก็ไม่จำเป็นว่าต้องทานเจ้านี่เพียงอย่างเดียว มีทางเลือกอีกเยอะสำหรับการควบคุมระดับน้ำตาลครับ แม้กระทั่งการทานยาก็ตาม ฮี่ๆ
โค้ชโปรตีนเชคเฮเลยงานนี้ กินเวย์ก่อนกินอาหารในแต่ละมื้อ ช่วยรักษาระดับน้ำตาลให้ดีขึ้นได้ด้วยแฮะ !!
— Fat Fighting (@FatFightingClub) May 31, 2022
งานนี้เป็นการศึกษาที่ทำในคนที่เป็นเบาหวานประเภทสองนะครับ เขาก็หาผู้ป่วยมาได้อายุระหว่าง 30-60 ปี เป็นเบาหวานมามากกว่า 1 ปี แล้วก็ได้รับการรักษาด้วยการให้ทานยามาไม่ต่ำกว่า 3 เดือน pic.twitter.com/7H2W6yqfAt
อ้างอิง
- Hadi, A., Asbaghi, O., Kazemi, M., Khadem, H., & Ghaedi, E. (2022). Effects of pistachios on glycemic control: A systematic review and meta-analysis of randomized controlled trials. British Journal of Nutrition, 1-26. https://doi.org/10.1017/S0007114522002100
- บัวเพ็ชร, พงศ์พันธ์. (2022b, June 20). กิน Apple สักนิดก่อนกินข้าว ช่วยคุมน้ำตาลในกระแสเลือดได้. Fat Fighting. Retrieved July 12, 2022, from https://www.fatfighting.net/article-2022-06-20-effect-of-apple-consumption-on-postprandial-blood-glucose-levels/
- Fat Fighting on. (2022, May 31). [Twitter]. Twitter. https://twitter.com/FatFightingClub/status/1531664288829476865
- Hadi, A., Pourmasoumi, M., Najafgholizadeh, A., Clark, C., & Esmaillzadeh, A. (2021). The effect of apple cider vinegar on lipid profiles and glycemic parameters: a systematic review and meta-analysis of randomized clinical trials. BMC complementary medicine and therapies, 21(1), 179. https://doi.org/10.1186/s12906-021-03351-w